เทรนด์ไมโคร เปิดแนวโน้มภัยคุกคามบนไซเบอร์ปี 2563 คาดยังป่วนหนัก มุ่งโจมตีระบบคลาวด์ ไอโอที หาช่องโหว่เจาะระบบหลังบ้านองค์กรธุรกิจ ชี้ทำงานแบบโมบายเปิดช่องเสี่ยง แนะผู้บริหารจริงจังวางยุทธ์ศาสตร์ ลงทุนระบบประสิทธิภาพสูงป้องกันก่อนเกิดความเสียหาย
นางสาวปิยธิดา ตันตระกูล ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เทรนด์ไมโคร (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปี 2563 นี้การโจมตีทางไซเบอร์ยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่นคลาวด์และอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์(ไอโอที) ที่เพิ่มมากขึ้นได้ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในการถูกโจมตี
นอกจากนี้ ที่น่าจับตามองอย่างมากยังมีการโจมตีไปที่ผู้ให้บริการด้านการบริหารจัดการระบบต่างๆ(Managed Service Provider) หรือ เอ็มพีเอส ที่จะตกเป็นเหยื่อมากขึ้น รวมถึงการเข้ามาของเทคโนโลยี 5จี ที่จะเป็นอีกความท้าทายสำคัญในการรักษาความปลอดภัย
“การนำเทคโนโลยีมาช่วยผลักดันนวัตกรรมทางดิจิทัลและสร้างการเติบโตทางธุรกิจที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนำมาซึ่งความเสี่ยงของการโจมตีซัพพลายเชนตั้งแต่ระบบคลาวด์ เรื่อยมาจนถึงเครือข่ายตามบ้าน ผู้บริหารด้านระบบไอทีจึงจำเป็นต้องประเมินความเสี่ยงด้านไซเบอร์และยุทธศาสตร์การป้องกันของตัวเองใหม่ในปี 2563 นี้”
เธอกล่าวว่า องค์กรต่างๆ ควรมีการยกระดับการตรวจสอบการรักษาความปลอดภัยของผู้ให้บริการคลาวด์และเอ็มพีเอส คอยประเมินความเสี่ยง และตรวจสอบช่องโหว่ขององค์กรภายนอกที่ทำงานร่วมกันเป็นประจำ
พร้อมๆ ไปกับลงทุนเครื่องมือด้านความปลอดภัยเพื่อสแกนหาช่องโหว่และมัลแวร์ในองค์ประกอบที่มาจากองค์กรภายนอก พิจารณาเลือกใช้และลงทุนเครื่องมือที่จะช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากการตั้งค่าผิดพลาด รวมถึงตรวจสอบนโยบายด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวกับการใช้งานจากบ้าน และพนักงานที่ทำงานจากระยะไกล
รายงานการคาดการณ์ประจำปี 2563 โดยเทรนด์ไมโครระบุว่า องค์กรต่างๆ จะเผชิญกับความเสี่ยงที่เติบโตมากขึ้นจากระบบคลาวด์และซัพพลายเชนซึ่งเริ่มนิยมนำมาใช้เพื่อเพิ่มความคล่องตัวทางธุรกิจ ขณะเดียวกันทำให้ช่องโหว่ขององค์กรตั้งแต่ภาคเอกชนไปจนถึงโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นและมีความอ่อนไหวต่อความเสี่ยงจากภายนอก
“ปีใหม่นี้คาดว่าจะได้เห็นความเสี่ยงของซัพพลายเชนรูปแบบใหม่ๆ เนื่องจากพนักงานที่ทำงานจากระยะไกลเปิดช่องให้อันตรายเข้ามายังเครือข่ายของบริษัทได้ผ่านเครือข่ายไวไฟที่มีความปลอดภัยต่ำ ทั้งยังมีช่องโหว่ที่มาจากอุปกรณ์ส่วนตัวซึ่งใช้เข้าถึงเครือข่ายภายในบริษัทด้วย”
อย่างไรก็ดี เมื่อประเมินจากสถานการณ์โดยรวมที่จะเกิดขึ้น นับเป็นการเปลี่ยนโฉมอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส่งผลทำให้องค์กรธุรกิจจำต้องใช้ระบบป้องกันที่ผสานเทคนิคการรักษาความปลอดภัยจากหลายยุคเพื่อความครอบคลุมในทุกลำดับชั้น ขณะเดียวกันมีการเชื่อมต่อผสานการทำงานระหว่างกันในกลไกการรักษาความปลอดภัย
ด้านโซลูชั่นที่แนะนำให้ใช้ เช่นโซลูชั่นในการป้องกันภัยที่มีความสามารถในการมองเห็นอย่างสมบูรณ์(Visibility), โซลูชั่นที่ช่วยในการป้องกันอันตรายและสามารถจำกัดวงความเสียหายอย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบตรวจสอบพฤติกรรมที่น่าสงสัยที่สามารถตอบสนองได้อย่างทันท่วงที สำคัญรักษาความปลอดภัยได้ระดับลึกถึงเครื่องเอนด์พอยท์