เปิดยื่นซอง '5G' วันนี้ คาดเข้าชิงครบ 5 ราย
จับตายื่นซองประมูลคลื่น 5G วันนี้ คาดค่ายมือถือตบเท้ายื่นเอกสารเข้าประมูลครบทุกราย หลังได้ไฟเขียวจากบอร์ดบริหาร เชื่อคลื่น 2600 เนื้อหอมเอกชนแย่งเคาะแน่
โดยมีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวม 5 ราย ได้แก่ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น) ในเครือบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) , บริษัท ทรู มูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ในเครือบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น , บมจ.กสท โทรคมนาคม , บมจ.ทีโอที และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ในเครือบมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) เข้ารับเอกสารการประมูลคลื่นความถี่เพื่อรองรับ 5จี จากสำนักงาน กสทช. ในทุกย่านความถี่ที่เปิดประมูลไปแล้ว
กสทช.มั่นใจ5รายยื่น“ครบ”
นายฐากร กล่าวว่า เบื้องต้นได้รับประสานมาแล้วจะผู้ให้บริการทั้ง 5 ราย เดินทางมายื่นซองประมูล โดย บมจ.ทีโอที จะเข้ามายื่นซองประมูล 11.00 น. และ บมจ.กสท โทรคมนาคมจะเข้ามายื่น เวลา 11.30 น. ขณะที่เช้าวันนี้ (4 ก.พ.) ในฝั่งของโอเปอเรเตอร์ โดยเฉพาะเอไอเอส ดีแทคและทรูฯ จะประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) อีกครั้ง ซึ่งขั้นตอนต่อจากวันนี้ สำนักงานกสทช.จะตรวจสอบคุณสมบัติผู้ยื่นซองประมูล และจะประกาศผลสรุปในวันที่ 11 ก.พ.นี้ พร้อมกับแจกแจงให้ทราบว่ารายใดเข้าประมูลในย่านความถี่ไหนบ้าง
ทั้งนี้ ตามที่กสทช.คาดการณ์ว่าจากการประมูล จะมีรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่เข้ารัฐ จำนวน 54,654 ล้านบาท จากการประมูล 25 ใบอนุญาต เนื่องจากคาดการณ์ว่า คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ จะประมูลได้จำนวน 2 ชุด คิดเป็นเงิน 17,584 ล้านบาท ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ จะประมูลได้ทั้งหมด 19 ชุด คิดเป็นเงิน 35,378 ล้านบาท และคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ จะประมูลได้จำนวน 4 ชุด คิดเป็นเงิน 1,692 ล้านบาท ส่วนคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ น่าจะไม่เป็นที่น่าสนใจเท่าไรในครั้งนี้ จึงอาจจะไม่มีการประมูล
นอกจากนี้ การขับเคลื่อน 5จีจะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในปี 2563 มูลค่า 177,039 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.02% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ที่ 17,328,000 ล้านบาท จากมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในปี 2563 ที่ 1,983 ล้านบาท จากระบบเศรษฐกิจรายภาค เช่น ภาคอุตสาหกรรมการผลิต 31.5% มูลค่า 624.62 ล้านบาท, ภาคการค้าและการเงิน 16% มูลค่า 317.86 ล้านบาท และภาคโทรคมนาคม 11.6% มูลค่า 229.03% เป็นต้น ขณะที่ปี 2564 คาดว่า 5จี จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ 332,619 ล้านบาท และปี 2565 มูลค่า 476,062 ล้านบาท
คลื่น2600วันที่12ก.พ.ต้องจบ
นายฐากร กล่าวว่า สำหรับประเด็น คลื่น 2600 นั้น กสทช.ได้พิจารณาปรับปรุงรายงานผลการพิจารณาและเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำหนดวิธีการและเงื่อนไขเพื่อทดแทน ชดใช้และจ่ายค่าตอบแทนสำหรับผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2500-2690 เมกะเฮิรตซ์ของคณะอนุกรรมการพิจารณาการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนในการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2500-2690 โดยที่ประชุมกสทช. มีมติรับทราบการปรับปรุงรายงานผลพิจารณา และเสนอความคิดเห็นฯ ดังกล่าว พร้อมมีมติให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเสนอเงินเยียวยามาประมาณ 3,000 ล้านบาทไปศึกษาเพิ่มเติม
โดยเฉพาะประเด็นเรื่องค่าเสียโอกาสของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และให้นำผลศึกษามาเสนอสำนักงานกสทช.ไม่เกินวันที่ 12 ก.พ. เพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช.วาระพิเศษภายในวันที่ 13 หรือ 14 ก.พ.นี้ ขอให้เอกชนผู้เข้าร่วมประมูลคลื่น 5จีไม่ต้องกังวล เนื่องจากคลื่นไม่ได้ใช้งาน และข้อสรุปเงินเยียวยาจะได้ข้อสรุปก่อนการประมูลวันที่ 16 ก.พ. 2563 นี้ แน่นอน
จับตา“ซีอีโอดีแทค”คนใหม่ยื่นเอง
ขณะที่ แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม กล่าวว่า การยื่นซองการประมูล 5จี ใน 4 ย่านความถี่ครั้งดังกล่าว อาจเป็นครั้งแรกที่ นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีแทคคนใหม่เดินทางมายื่นซองด้วยตัวเอง ซึ่งนายชารัดเข้ามารับตำแหน่งต่อจาก นางอเล็กซานดรา ไรช์ ซึ่งตัดสินใจมองหาโอกาสที่ท้าทายใหม่ต่อไป ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ แม้นายฐากร เลขาธิการ กสทช.จะยืนยันว่าผู้ให้บริการทั้ง 5 รายจะเดินทางเข้ามายื่นซองครบถ้วน แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการประชุมบอร์ดของเอกชน ว่าจะลงมติให้ประมูลหรือไม่ โดยเฉพาะ ดีแทค เป็นไปได้ที่จะยื่นซองประมูลไปก่อน เพื่อไม่ทำให้ภาพลักษณ์ของบริษัทเสียหายในสายตาของลูกค้า และไม่ทำให้บริษัทได้รับผลกระทบในแง่ความเชื่อมั่นมากนัก แต่วันที่ 16 ก.พ.ซึ่งเป็นวันประมูลจริง ดีแทคอาจจะไม่สู้ราคาการประมูล เพราะคลื่น 4 ย่านในครั้งนี้ ไม่ตรงกับความต้องการ ที่อยากจะประมูลคลื่น 3500 เมกะเฮิรตซ์มากกว่า