เบื้องลึกชิง 5G ไร้เกมปั่นราคา!

เบื้องลึกชิง 5G ไร้เกมปั่นราคา!

เปิดเบื้องหลังประมูล 5G ไร้เกมปั่นราคา 5 ค่ายเคาะตามงบฯ วัดใจคลื่น 700 ประมูลดุสุด “ซีอีโอ กสท” เผยหลังคว้าคลื่นเป็นไปตามแผน หวังต่อยอดคลื่น 850 แบบไม่ต้องลงทุนเพิ่ม

  • 'เอไอเอส' พร้อมทุกด้าน คว้าคลื่นมากสุด

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. กล่าวว่า จากการพูดคุยกับผู้บริหารเอดับบลิวเอ็น บริษัทลูก เอไอเอส ทราบว่า การยอมถอยในคลื่น 700 เหลือ 1 ชุด ก็ยังอยู่ในกลยุทธ์เพราะเอไอเอสมีคลื่น 700 อยู่แล้ว 10 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งประมูลไปเมื่อเดือน มิ.ย.ปี 2562 และเมื่อได้เพิ่มไปครั้งนี้จะทำให้เอไอเอสมีคลื่น 700 มากที่สุด คือ 15 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งประสิทธิภาพดีเยี่ยม มีความครอบคลุมสูงและให้บริการ 5Gได้อย่างดี

การเคาะราคาคลื่น 2600 รอบแรกมีผู้เสนอถึง 25 ชุด มากกว่าที่จัดสรรถึง 6 ชุดจากจำนวน 19 ชุดใบอนุญาต

การเคาะราคาคลื่น 2600 รอบแรกมีผู้เสนอถึง 25 ชุด มากกว่าที่จัดสรรถึง 6 ชุดจากจำนวน 19 ชุดใบอนุญาต เมื่อ กสทฯ มีเงินเพียงเท่านั้น จากที่เสนอในรอบแรก 6 ชุด ทียูซี 9 ชุดและ เอดับบลิวเอ็น 10 ชุด พอรอบสอง กสทฯ ก็หมอบทันที เพราะเงินไม่เหลือ รอบ 2 จึงลงตัวพอดีที่ 19 ชุด เอดับบลิวเอ็นคว้าไป 10 ชุดเต็มเพดานที่อนุญาต ทียูซี 9 ชุด

“เอไอเอสต้องการแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งด้านการเงิน จึงตัดสินใจประมูลแบบนี้ กสทช.มีหน้าที่เพียงทำหลักเกณฑ์ให้ดีให้เกิดการแข่งขัน ส่วนรัฐวิสาหกิจทั้งกสทฯและทีโอที ก็เป็นตามที่เขาเคยให้ข่าวว่า ต้องการคลื่นอะไรเท่าไร ไม่มีการปั่นราคาอย่างที่กังวล ขณะที่ กลุ่มทรูฯ มองว่าการไม่ได้คลื่น 700 นั้น เขาอาจไปเป็นพันธมิตรกับ กสทฯ ที่ได้คลื่นไปก็ได้ เพราะทรูเป็นพาร์ทเนอร์กับกสทฯในคลื่น 850 อยู่แล้ว ต่อมาคือดีแทคก็อย่างที่ทราบว่าเขาเคาะราคาไปตามมารยาท”

ทั้งนี้ เอไอเอส ถือว่าพร้อมหลายด้านโดยเฉพาะเงินทุน เทคโนโลยี การสู้ครั้งนี้ของเอไอเอสส่งผลให้ยังยืนหนึ่งทั้งเป็นผู้นำตลาด และครองคลื่นความถี่ที่มากที่สุดในตลาด  

เชื่อหลังประมูลอุตฯแข่งเดือด

นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยโทรคมนาคม สำนักวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิเคราะห์ว่า คงได้เห็นการแข่งขันชิงเป็นผู้นำ 5Gจากเอไอเอสและทรูฯ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากภาพรวมคลื่นความถี่ที่เอไอเอสมีเหนือกว่าผู้ให้บริการทุกรายที่ 1450 เมกะเฮิรตซ์ ขณะที่ทรูฯ มีคลื่น 1020 เมกะเฮิรตซ์ การมีคลื่นความถี่ในมือจำนวนมากทำให้เอไอเอสมีศักยภาพพัฒนาบริการใหม่ และสร้างรูปแบบการแข่งขันที่น่าสนใจขึ้น สิ่งสำคัญที่ทำได้แล้วเป็นอันดับแรกคือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับใช้ผู้บริการ

“ผู้ใช้ทั่วไปยังไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงในระยะแรกๆ ของ 5G ไม่ต้องเปลี่ยนรีบมือถือ อุปกรณ์มีน้อยเครื่องยังแพง บริการบางอย่างยังใช้ได้บน 4จี ถ้า 5จีที่จะได้ใช้กลุ่มแรก คืออุตสาหกรรมการผลิต ภาคขนส่ง การแพทย์ การเกษตร"

การพัฒนา 5G มีองค์ประกอบสำคัญ 2 ส่วน คือ โครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนาธุรกิจที่จะไปประยุกต์ใช้ โครงสร้างพื้นฐาน คือ เครือข่ายและคลื่นความถี่กำลังจะเกิดขึ้น คลื่นความถี่จัดสรรไปแล้ว เหลือแค่การลงทุนโครงข่าย ผู้ให้บริการทุกรายกันเงินส่วนที่จะลงทุนไว้รอแล้ว เหลือแต่การต่อยอดเอายูส เคสไปใช้จริง

สมคิดสั่งคลังดันเงิน5Gช่วยดิจิทัลชุมชม

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คาดจะมีการลงทุนเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวข้องของภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจที่ประมูล 5G ได้อีกไม่น้อยกว่า 5 หมื่นล้านบาทในปีนี้ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ และช่วยให้ประเทศไทยเดินหน้าเข้าสู่การพัฒนาที่ใช้ 5G เป็นพื้นฐานได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนเงินที่ประมูลได้ รัฐบาลอยู่ระหว่างพิจารณา นำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพการพัฒนาระบบโทรคมของประเทศ โดยเฉพาะพัฒนาดิจิทัล เพราะเงินได้มาจากเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น พัฒนาดิจิทัลชุมชน พัฒนาสตาร์ทอัพ ได้มอบหมายให้ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปดูข้อกฎหมายว่าจะดำเนินการอย่างไร

นายอุตตม กล่าวว่า เงินที่มีการประมูล 5G ได้กว่า 1 แสนล้านบาท รัฐควรนำไปใช้ประโยชน์ต่อในการพัฒนาดิจิทัล โดยเฉพาะพัฒนาดิจิทัลในชุมชนซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่อนาคตจะเกี่ยวข้องกับเรื่องดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะไปดูข้อกฎหมายเกี่ยวกับการใช้เงินที่ได้จากการประมูลคลื่น 5G ว่าจะนำเงินก้อนนี้กลับไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลได้อย่างไรบ้าง 

“วิธีที่จะทำได้มีหลายรูปแบบ เช่น อาจจะเก็บเงินไว้ที่ กสทช.เข้าไปไว้ใน กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ(กทปส.)ก็ได้แล้วจึงจัดสรรลงมาในโครงการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาดิจิทัลของประเทศโดยตรง” นานอุตตม กล่าว