“อุ่นใจ ไซเบอร์” หนุนเด็กไทย รู้ทันภัยออนไลน์-ฉลาดใช้ดิจิทัล
2 ใน 3 ของเด็กกำลังเผชิญอันตรายในโลกไซเบอร์
เด็กไทยเสี่ยงภัยออนไลน์มากขึ้น
รายงานของ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ระบุว่า ปี 2562 เด็กเจนเนอเรชั่น แซด ใช้งานอินเทอร์เน็ตในวันหยุดเฉลี่ยอยู่ที่ 12 ชั่วโมง 1 นาทีต่อวัน ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่เยาวชนที่ใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตเพิ่ม แต่สะท้อนถึงผลกระทบอีกด้านที่ตามมา คือ ภัยบนโลกไซเบอร์
ผลสำรวจดัชนีชี้วัดความปลอดภัยบนสื่อออนไลน์สำหรับเด็ก (COSI ; Child Online Safety Index) ซึ่งทำโดยสถาบัน DQ (DQ Institution) ที่เอไอเอสร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ นำชุดการเรียนรู้ทักษะความฉลาดทางดิจิทัล (DQ) มาให้คนไทยใช้งานฟรีเผยว่า จากการเก็บข้อมูลพฤติกรรมเด็กและเยาวชนตั้งแต่ปี 60-62 จำนวน 145,426 คน ใน 30 ประเทศสมาชิก พบว่า 2 ใน 3 ของเด็กกำลังเผชิญอันตรายในโลกไซเบอร์
ขณะที่ ผลสำรวจในไทย พบว่า เด็กไทยมีความเสี่ยงในโลกไซเบอร์ 3 เรื่อง คือ 1. การถูกรังแกบนออนไลน์ 2. การกระทำที่จะทำให้เสียชื่อเสียง 3.ความเสี่ยงในการติดต่อออนไลน์
ชี้ 4 ข้อเสริมทักษะเด็กไทยใช้ดิจิทัล
ด้วยเหตุนี้ เด็กไทยจึงควรได้รับการพัฒนาความสามารถใช้สื่อและอุปกรณ์ดิจิทัลใน 4 ประการ ได้แก่ 1. การสร้างอัตลักษณ์ออนไลน์ (Digital Citizen Identity) ใช้ตัวตนจริงบนโลกออนไลน์ไม่ปลอมแปลงโปรไฟล์ 2. รับมือเมื่อถูกรังแกออนไลน์ (Cyberbullying Management) สามารถจัดการกับการถูกรังแกบนโลกออนไลน์ได้
3. การคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) แยกแยะข้อมูลในโลกออนไลน์ได้ และ 4. จัดการกับข้อมูลส่วนตัว (Privacy Management) ตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของข้อมูลได้อย่างเหมาะสม
รายงานชุดนี้ ระบุด้วยว่า ไทยมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 2 เรื่อง คือ 1. การเข้าถึง (Access) ความสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ชี้ว่าไทยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล อินฟราสตรัคเจอร์ที่ดีและเสถียร 2. ไซเบอร์ ซิเคียวริตี้ อินฟราสตรัคเจอร์ นโยบายรัฐบาล รวมถึงจริยธรรมผู้ประกอบธุรกิจด้านโทรคม มีส่วนเสริมสร้างป้องกันเด็กจากภัยออนไลน์
"เราสามารถช่วยหยุดภัยในไซเบอร์ที่แฝงมาในรูปแบบต่างๆ และกำลังคุกคามชีวิตประจำวันเยาวชน โดยใช้วัคซีนที่ชื่อว่า “DQ” เสริมให้มีหลักสูตรช่วยพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้เด็กๆ ผู้ปกครองมีบทบาทลดอันตรายในโลกออนไลน์ ส่วนโรงเรียนมีหน้าที่สำคัญในการสอนเรื่องการเป็นพลเมืองดิจิทัล"
เร่งพัฒนาทักษะความฉลาดดิจิทัล
“โครงการอุ่นใจไซเบอร์” ยังมีเป้าหมายให้ทุกครอบครัวใช้เวลาร่วมกัน เพื่อชี้แนะ ส่งเสริมให้บุตรหลานตระหนักภัยไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้นกับตนเองเน้น 8 ด้านหลัก ได้แก่ 1.อัตลักษณ์ออนไลน์ (Digital Identity) ตัวตนในโลกออนไลน์ให้เหมือนตัวจริง คิด พูด ทำ อย่างถูกต้อง 2.ยับยั้งชั่งใจ (Digital Use) ควบคุมเวลาตัวเองในการใช้งานหน้าจอ 3.เมื่อถูกรังแกออนไลน์ (Digital Safety) รู้ตัวเมื่อถูกกลั่นแกล้งคุกคาม และสามารถรับมือได้
4.ท่องเน็ตอย่างปลอดภัย (Digital Security) ใช้รหัสผ่านที่แข็งแกร่ง แยกแยะโปรแกรมหลอกลวงได้ 5.ใจเขา-ใจเรา (Digital Emotional Intelligence) คิดถึงความรู้สึกของคนอื่น
6.รู้ถึงผลที่จะตามมา (Digital Communication) สิ่งที่เคยโพสต์ในออนไลน์ ลบแล้วจะยังคงอยู่เสมอ 7.คิดเป็น (Digital Literacy) แยกแยะข่าวสารจริงเท็จ 8.รู้สิทธิความเป็นส่วนตัว (Digital Right) รู้จักสิทธิมนุษยชนและปกป้องข้อมูลส่วนตัว
ชุดการเรียนรู้ DQ สำหรับเด็กทั่วโลกเปิดให้ทุกครอบครัว ทุกเครือข่าย (ไม่เฉพาะระบบเอไอเอส) เข้าไปเรียนรู้ทักษะความฉลาดทางดิจิทัล ที่จำเป็นทั้ง 8 ด้าน ในแบบอินเตอร์แอคทีฟมัลติมีเดีย และแอนิเมชัน ที่เว็บ www.ais.co.th/dq โดยไม่มีค่าใช้จ่าย