ถอดปมลดค่าโทรฯ 'กสทช-เอกชน' ถกเครียด3วัน 'ไม่ลงตัว'
เรียกว่าเป็นที่จับตามองแบบไม่กระพริบตลอดช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา ในประเด็นที่ กสทช.ขอความร่วมมือโอเปอเรเตอร์ ให้ช่วยออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนช่วงวิกฤติโควิดด้วยการลดราคาค่าโทรฯมือถือทุกแพคเก็จลง 30% แต่เจรจากันมาแล้ว 3 ครั้ง กลับยัง 'ไม่ได้ข้อสรุป'
เล็งขอเลื่อนจ่ายหนี้ค่าไลเซ่นส์
แหล่งข่าว กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์วิกฤตินี้ อุตสาหกรรมโทรคมนาคม ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมด้านอื่นๆ เช่นกัน จึงได้มีการหารือร่วมกับสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (สทค.) ถึงแนวทางการช่วยเหลือว่าจะเป็นไปในทิศทางใดได้บ้าง โดยอาจทำหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. เพื่อเสนอขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้ เช่น ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต และลดอัตราการนำส่งเงินรายปีเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) ที่ต้องนำจ่ายช่วงกลางเดือนพ.ค.2563 ออกไป
ขณะที่ หากย้อนกลับไปดูความเห็นจากตัวแทนของโอเปอเรเตอร์ที่ร่วมหารือกับสำนักงานกสทช.ตั้งแต่ครั้งแรกๆ ก็ออกไปในทิศทางเดียวกันว่า ที่ผ่านมาเอกชน ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลและสำนักงานกสทช.มาตลอด ซึ่งวิกฤตินี้ ก็เข้าใจในภาระของประชาชน แต่เอกชนยกตัวอย่างว่า การแจกเน็ตฟรีให้ประชาชนจำนวน 10 GB ที่ให้กดรับสิทธิ์ได้ตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา ถึงวันนี้ครบ 1 สัปดาห์แล้วนั้น ก็เป็นการช่วยประชาชนในด้านหนึ่งแล้ว เพราะสำนักงาน กสทช.นำเงินจากกองทุน กทปส.มาชดเชยให้เอกชน 100 บาทต่อเลขหมาย แต่ตามจริงนั้นเอกชนแทบไม่ได้อะไรเลย และน่าจะขาดทุน เพราะการขายโปรโมชั่นอินเทอร์เน็ต 10 GB ระยะเวลา 30 วัน ราคาอยู่ที่ 299-399 บาท
จากการดูเสียงคัดค้านแบบอ้อมๆ ของเอกชน จึงพอคาดการณ์ได้ว่า เรื่องการลดราคาในทุกแพคเก็จ 'ไม่ใช่เรื่องง่าย' เพราะมีคอมเมนท์แบบ “ออฟ เรคคอร์ด” พูดตรงกันว่า โอเปอเรเตอร์มีภาระการจ่ายค่าใบอนุญาต 4จี และ5จี และการสั่งของมาขยายโครงข่ายแล้ว แต่ถึงตอนนี้ไม่สามารถทำอะไรได้ โดยเฉพาะการโปรโมทการเปิด 5จี ที่เคยวางเป้าว่า จะเป็นตัวหลักในการทำเงิน แต่พอมาเจอสถานการณ์แบบนี้ทุกอย่างก็ชะงัก แต่หนี้ที่ต้องจ่ายให้แบงก์ก็ไม่ได้รับการพักชำระแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี เอกชน ก็เข้าใจสถานะ “ตัวกลาง” ของสำนักงาน กสทช.ที่ต้องมีมาตรการดูแลประชาชนและรับใบสั่งมาจากรัฐบาล ที่ต้องการขอลดราคาค่าโทรฯ ในทุกแพคเก็จให้ประชาชน แต่ก็ใช่ว่าทุกใบสั่งเอกชนจะสามารถทำได้เสมอไป