‘รักษา’ แพทย์ออนไลน์ ปลดล็อกคนไข้ล้น รพ.
“ดอกเตอร์ รักษา” สตาร์ทอัพสายเฮลท์เทคให้บริการผ่านระบบเทเลเมดิซีน เดินหน้าผนึกพันธมิตรส่งแคมเปญตรวจคัดกรองโควิด-19 เบื้องต้นฟรี เผยวิกฤติโรคระบาดดันผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดกว่า 4 แสนคน ระบุ5 ปีข้างหน้าบริการการแพทย์ออนไลน์จะเป็นนิวนอร์มอล
ป่วยทัก “รักษา”
จาเรน ซีว ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดอกเตอร์ รักษา จำกัด (Doctor Raksa) ผู้ให้บริการเทเลเมดิซีน หรือบริการทางการแพทย์ทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ตรายแรกของไทย จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2559 กล่าวว่า เทเลเมดิซีนไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายประเทศเริ่มทำไปแล้ว โดยเฉพาะจีนซึ่งมีประชากรประมาณ 1 พันล้านคนจาก 4 พันล้านคนทั่วประเทศได้ใช้เทเลเมดิซีนแล้ว อเมริกามีการใช้งานสูงถึง 20% ของประชากรทั้งหมด ขณะที่ประเทศไทยมีศักยภาพสูงด้วยจำนวนประชากรกว่า 70 ล้านคน ซึ่ง 70% อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด และแพทย์เฉพาะทางกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ มากถึง 70%
ดอกเตอร์ รักษามีแพทย์เข้าร่วมเป็นสมาชิกกว่า 700 คนทั่วประเทศ ทั้งจากโรงพยาบาลรัฐบาล โรงพยาบาลเอกชน โรงเรียนแพทย์หรือแม้กระทั่งคลินิก โดย 90% เป็นแพทย์เฉพาะทาง ส่วนค่าบริการ (doctor fee) แพทย์แต่ละคนจะกำหนดค่าบริการต่างกัน มีตั้งแต่ให้บริการฟรีไปจนถึง 500 บาท แพทย์จะได้รับทั้งหมด 100% ทางแอพฯ ไม่ได้หักค่าใช้จ่ายใดๆ แต่ในอนาคตอาจจะจัดเก็บค่าคอมมิชชั่น 10-15% ผู้ร่วมก่อตั้งรักษา มองว่า รายได้หลักของธุรกิจสตาร์ทอัพคือ การพิชชิ่งระดมทุน โดยอ้างอิงกับจำนวนผู้เข้าใช้บริการแอพฯ ฉะนั้น จึงต้องทำการโปรโมทให้มียอดผู้เข้าใช้มากพอจนเป็นที่พอใจแก่นักลงทุน
“ปกติคนไข้ใช้เวลาแทบทั้งวันที่โรงพยาบาล แต่ได้พบและพูดคุยกับหมอจริงๆ แค่ 5 นาทีเท่านั้น แอพฯ จึงเข้ามาช่วยลดขั้นตอนการเดินทางและการรอคิวพบแพทย์ ปัจจุบันรักษาให้คำปรึกษาทางการแพทย์ไปแล้วถึง 1 แสนครั้ง และมีผู้ใช้อีกกว่า 4 แสนคนที่ลงทะเบียนเข้ามาใช้บริการ โดย 3 อันดับแรกของโรคที่เข้ารับการปรึกษาสูงสุดคือ 1.โรคผิวหนังและโรคทั่วไป 2.กุมารแพทย์ 3.จิตเวช ส่วนใหญ่จะใช้บริการในช่วงหลังเลิกงาน 20.00 น. เป็นกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานอายุ 25-45 ปี สัดส่วนประมาณ 50% ที่ไม่มีเวลาไปพบแพทย์ในโรงพยาบาล แต่เมื่อเกิดวิกฤติโควิด พบการเข้ารับบริการมีต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง สัดส่วนผู้สูงอายุอายุ 40-60 ปี เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 30%”
สิ่งที่ผู้ป่วยหลายคนมักพบเจอเวลาไปโรงพยาบาล คือ เสียเวลาไปกับการรอพบหมอ ฉะนั้น สิ่งที่แอพฯ รักษาเห็นความสำคัญมากที่สุดคือ การมอบประสบการณ์ที่ดีทั้งสะดวก ปลอดภัยและราคาถูกให้กับผู้ใช้งาน อีกเรื่องที่ต้องโฟกัสไม่แพ้กันเลยก็คือ การตลาดดิจิทัล โดยลงทุนโฆษณาผ่านทางเฟซบุ๊ค ซึ่งเป็นช่องทางการสื่อสารที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่สุด และการใช้บริการหาหมอผ่านแอพฯ จะกลายเป็นความปกติในรูปแบบใหม่ หรือนิว นอร์มอล ในอีก 5 ปีข้างหน้า
ดึง “คลาวด์” จัดการไฟล์
ด้าน ปิยดา ดลเฉลิมพรรค ผู้ร่วมก่อตั้ง และผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ กล่าวว่า แพลตฟอร์มรักษามีบริการ 2 รูปแบบคือ 1.บริการให้คำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทาง ตลอด 24 ชั่วโมง โดยการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง สามารถเลือกวิธีคุยได้ทั้งแชทบอท วีดิโอคอล อัตราค่าบริการเฉลี่ย 200 บาทต่อ 15 นาที ระยะเวลาการรอหมอไม่เกิน 3 นาที อีกทั้งสามารถส่งภาพหลักฐานการรักษามาประกอบการปรึกษาด้วย เช่น รูปยาที่ใช้ ใบรับรองแพทย์ เมื่อทำการรักษาเสร็จ ทางแพทย์จะเขียนผลสรุปทิ้งท้ายให้คนไข้ พร้อมใบสั่งยาอย่างละเอียด
ส่วนอีกบริการหนึ่งคือ “สั่งยาออนไลน์” เมื่อปรึกษาหมอเรียบร้อยจะได้รับไฟล์ใบสั่งยาออนไลน์ ที่สามารถนำไปติดต่อซื้อยาที่ร้านขายยาทั่วไป หรือจะซื้อจากร้านยาในแอพฯ ก็ได้ ซึ่งมียาและเวชภัณฑ์กว่า 6,000 รายการ แล้วรอรับการจัดส่งผ่านทางธุรกิจเดลิเวอรี่ถึงมือผู้รับภายในเวลา 2 ชั่วโมง (ในพื้นที่กรุงเทพฯ)
โรงพยาบาลส่วนใหญ่ในประเทศไทยมีระบบไอทีที่ซับซ้อนและแตกต่างค่อนข้างมาก โดย 99% เป็นระบบปฏิบัติการเก็บข้อมูลแบบเดี่ยว (Stand Alone) ไม่ได้อยู่บนคลาวด์ ทำให้การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันจะมีอุปสรรค แต่ในระบบของดอกเตอร์รักษา ข้อมูลทุกอย่างจะอยู่บนระบบคลาวด์ของ AWS การจัดเก็บข้อมูลมีความปลอดภัย และที่สำคัญ ทำให้สามารถเชื่อมต่อกับเวชระเบียนได้ทั้งหมด ยกตัวอย่าง หากคนไข้ต้องเข้ารับการรักษาต่อที่โรงพยาบาล หลังจากปรึกษาแพทย์ออนไลน์แล้ว ก็สามารถดึงข้อมูลการปรึกษาที่อยู่บนแอพฯ ไปให้แพทย์ที่โรงพยาบาลดูได้ และเมื่อผ่านไปหลายปี ข้อมูลนั้นก็ยังจะคงอยู่ในระบบ
“การต่อยอดสู่ฟังก์ชั่นในโรงพยาบาลที่เรามีพร้อมคือ 1.ฟังก์ชั่นเทเลเมดิซีน โดยร่วมกับโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่สนับสนุนคนในพื้นที่ให้สามารถปรึกษาแพทย์ในโรงพยาบาลได้ อีกทั้งการจัดส่งยาก็เป็นออฟชั่นที่หลายโรงพยาบาลกำลังริเริ่ม เพื่อลดความแออัดและลดความถี่การมาโรงพยาบาลของคนไข้กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ส่วนฟังก์ชั่นอื่นๆ เช่น การทดสอบในห้องปฏิบัติการ หรือ การเอกซเรย์ เพื่อทำการตรวจและรับผลผ่านทางสมาร์ทโฟน เรากำลังมองหาพาร์ตเนอร์มาร่วมธุรกิจเพื่อให้บริการทุกอย่างอยู่บนเซอร์วิสเดียว คาดว่าต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง”
ผนึก “เป็ดไทย” สู้ภัยโควิด
นอกจากนี้ ดอกเตอร์รักษายังได้มีส่วนช่วยเหลือชาวไทย โดยร่วมมือกับ สมาคมไทยเทคสตาร์ตอัพ (TTSA) และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นำเสนอข่าวสารและคัดกรองต้านภัยโควิด-19 ผ่านทาง “เป็ดไทยสู้ภัย” เพจเฟซบุ๊คสายเทคสุขภาพ อีกทั้งมีทีมแพทย์ร่วมคัดกรองและให้คำปรึกษาเบื้องต้นแก่คนไข้ที่มีความเสี่ยงสูงผ่านเทเลเมดิซีนของแอพฯ ฟรี”
ปัจจุบันรักษามีสัดส่วนทางการตลาดกว่า 90% และคาดว่าในปีนี้จะมีผลประกอบการเติบโตกว่า 200% ด้วยผลตอบรับการใช้งานของรักษาโดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ระบาด โดย 95% ของผู้ใช้บริการจะเป็นคนไทยที่อยู่ในประเทศ ส่วนอีก 5% เป็นผู้ใช้บริการชาวไทยที่อยู่ต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐ สิงคโปร์และลาว
ทั้งนี้ ขั้นตอนปรึกษาแพทย์ผ่านแอพฯ รักษา 1.ค้นหาแพทย์ที่ต้องการรับคำปรึกษา หากแพทย์มีสถานะออนไลน์อยู่สามารถขอรับคำปรึกษาได้ทันที หรือกดกระดิ่งสำหรับแพทย์ที่ออฟไลน์ และแอพฯ จะเด้งเตือนเมื่อแพทย์ที่อยากพบกลับมาออนไลน์ 2.อธิบายอาการ รวมถึงระยะเวลาที่มีอาการดังกล่าว เพื่อให้แพทย์ได้อ่านประวัติ 3.รอตอบรับภายใน 3 นาทีหลังจากส่งอาการ แล้วเริ่มการสนทนาได้เลย
สำหรับช่วงวิกฤติโควิด-19 ทางแอพฯ รักษาจัดทำส่วนลดสำหรับผู้ใช้ที่ต้องการปรึกษาอาการว่าเข้าข่ายหรือไม่ โดยใช้โค้ด COVID19 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ doctorraksa.com และเฟซบุ๊ค raksaapp