‘รวมพลัง’ รัฐ-เอกชน ความสำเร็จชุดพีพีอี ‘เราสู้’
เวทีสัมมนาออนไลน์ “ไทยสู้ภัยโควิด” ฉายภาพเบื้องหลังความสำเร็จการผลิตชุดป้องกันส่วนบุคคล (พีพีอี) แบบเสื้อคลุมกันน้ำและสารคัดหลั่งรุ่น “เราสู้” ระดับ 2 หรือป้องกันความเสี่ยงน้อยถึงกลาง ผลิตจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล พร้อมชูก้าวต่อไปสู่มาตรฐานระดับ 4
ภาครัฐ-เอกชนผนึกกำลัง
กนิษฐ์ ตะปะสา ผู้อำนวยการกองวัสดุวิศวกรรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ ThaiFightCovid Technical Forum Episode #6 : PPE Development in Thailand for Self Sustainability จัดโดยกลุ่มวิศวกรร่วมใจต้านภัยโควิด (thaifightcovid.com) ว่า ความสำเร็จในการผลิตชุดพีพีอีครั้งนี้ ถือว่าเป็นการรวมพลของทุกภาคส่วนในการผลิตให้ได้ใช้ทันการณ์และเพียงพอกับสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ที่ร่วมกันพัฒนาข้อกำหนดอ้างอิงจากมาตรฐานสากล ด้านกรมวิทยาศาสตร์บริการมีหน้าที่ให้บริการรับรองในส่วนของห้องปฏิบัติการทดสอบเรื่องแรงดันน้ำความดันสูง ขณะที่การทดสอบเชื้อและวัสดุแบบครบวงจรจะมีทางมหาวิทยาลัยเข้ามาร่วมดำเนินการด้วย ส่วนภาคผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตชุดรุ่น “เราสู้” รวมถึงการวิจัยและพัฒนาด้วย
โดยภาพรวมแล้วในการพัฒนาครั้งนี้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ 2 กระทรวง 4 กรม 4 องค์กรเอกชน 2 มหาวิทยาลัย และ 1 รัฐวิสาหกิจ ชุดป้องกันรุ่น “เราสู้” นี้ใช้เวลา 45 วันในการผลิตและสามารถส่งให้กับองค์การเภสัชกรรมที่ทำหน้าที่กระจายต่อไปยังโรงพยาบาลต่างๆ จึงถือเป็นความสำเร็จที่ได้ร่วมมือกันและสามารถพัฒนาได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ตอบโจทย์การขาดแคลนโดยสามารถผลิตได้ 4.4 หมื่นชุด ทดแทนชุดพีพีอีชนิดที่ใช้ครั้งเดียวได้ถึง 880,000 ชุด ทั้งนี้ ชุดรุ่นเราสู้นี้สามารถนำมาซักใช้ใหม่ได้ 20 ครั้ง
“ซัพพลายเชนอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยมีความเข้มแข็งมาก จึงต้องส่งเสริมให้มีมาตรฐานการรับรองคุณภาพ อนาคตสิ่งที่จะต้องทำต่อจากนี้คือ ทำอย่างไรให้ห้องทดสอบเหล่านั้นได้รับการรับรอง เพื่อที่ขยายฐานการผลิตส่งออกสู่ต่างประเทศ”
กนิษฐ์ กล่าวอีกว่า หลังจากเสร็จสิ้นชุดพีพีอีรุ่นเราสู้ โปรเจค 2 คือการพัฒนาชุด coverall ระดับ 4 โดยสมาคมอุตสาหกรรมเส้นใยประดิษฐ์ไทยจะเป็นผู้เล่นหลักในเรื่องเส้นใยวัตถุดิบต่างๆ เพราะจะต้องทนแรงดันของเลือดได้สูง เนื่องจากใช้สวมปฏิบัติงานในสภาวะที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งนี้ มาตรฐานระดับ 1-3 เป็นเรื่องการทนทานของน้ำ ใช้ในระดับที่ไม่มีความเสี่ยงสูง ส่วนระดับ 4 คือการทดสอบการซึมผ่านของเลือด ซึ่งยังไม่มีแล็บทดสอบของไทย
โปรเจค 2 ทดสอบมาตรฐานระดับ 4
ในการทดสอบระดับ 4 ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เซ็ตอัพเครื่องมือตามมาตรฐาน และกรมวิทยาศาสตร์บริการก็ได้สร้างเครื่องมือเพื่อใช้ในการทดสอบเลือดและไวรัส อีกทั้งมีการร่วมมือกับหน่วยงานอื่นที่มีศักยภาพ อาทิ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ และคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล
“คณะเภสัชศาสตร์จะทำการทดสอบขั้นตอนต่อไปโดยการใช้เลือดเทียมผสมเชื้อไวรัสที่ไม่ก่อโรค (Bacteriophages) มีทรงกลมและมีไดมิเตอร์ที่เล็กกว่าเชื้อโควิดตามมาตรฐานไอเอสโอ 16604 โดยไวรัสต้องไม่สามารถผ่านชุด จึงจะไปกระบวนการต่อไปได้ ส่วนการตรวจสอบลักษณะทางกายภาพอื่นๆ ของชุด ได้แก่ การทนแรงดึง การทนต่อแรงฉีก การทนต่อการเจาะการทนการขีดข่วน นอกจากนี้ยังต้องตรวจสอบความแข็งแรงของตะเข็บในการตัดเย็บ และสมรรถนะของชุดอีกด้วย”
ขณะเดียวกัน คณะทำงานกำลังพัฒนาฐานข้อมูลห้องปฏิบัติการในประเทศไทย ที่จะรวบรวมข้อมูลห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรอง โดยจะทำเป็นข้อมูลที่จัดเก็บไว้เพียงแห่งเดียว(Single Database) ร่วมกัน เมื่อหลายภาคส่วนส่งข้อมูลเข้ามาก็จะมาอยู่ในฐานข้อมูลเดียวกัน และผู้ประกอบการสามารถติดต่อที่เดียวสามารถที่จะลิงค์ได้หมดว่า ใช้บริการทดสอบได้ที่ใดบ้าง
ขยะพลาสติกสู่ชุดกาวน์
ด้าน สมคิด รัตนประภาพร นายกสมาคมอุตสาหกรรมเส้นใยประดิษฐ์ไทย กล่าวว่า สมาคมฯ ก่อตั้งมานานกว่า 40 ปี มีสมาชิกจาก 14 บริษัททั้งในไทย อินเดีย ญี่ปุ่น ผลิตเส้นใยที่รีไซเคิลตั้งแต่ผ้าโพลิเอสเตอร์ อะคริลิค อะรามีด ไนลอนและเรยอน ซึ่งประเทศไทยสามารถผลิตเองได้เนื่องจากมีผู้ผลิตหลายราย เช่น บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส กลุ่มบริษัท เทยิน จำกัด บมจ.โทเรเท็กซ์ไทล์ (ประเทศไทย) จึงถือได้เป็นผู้นำในอาเซียนที่สามารถผลิตเส้นใยที่มีคุณภาพระดับโลกและมีความหลากหลาย โดยเกือบ 70% ส่งออกและ 30% ใช้ในประเทศ
เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้นำเส้นใยที่รีไซเคิลมาตัดเย็บเป็นชุดพีพีอีรุ่น “เราสู้” ด้วยผ้าโพลีเอสเตอร์ 100% เคลือบสารที่มีคุณสมบัติกันน้ำ สามารถใช้ซ้ำอย่างน้อย 20 ครั้ง ในขั้นตอนเตรียมการตัดเย็บนั้นมีบริษัทร่วมดำเนินการผลิต 13 ราย และได้ส่งตัวอย่างชุดให้สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ศูนย์วิเคราะห์ทดสอบ ทำการตรวจสอบคุณภาพก่อนทำการผลิตจริงเรียบร้อยแล้ว ซึ่งคุณภาพผ่านเป็นไปตามคุณสมบัติ
“เส้นใยที่ใช้ในครั้งนี้นำเข้าจากประเทศไต้หวัน แม้จะสามารถผลิตได้ในไทย เพียงแต่ติดปัญหาเดียวคือการแยกขยะและจัดเก็บให้มีคุณภาพ จึงทำให้ต้องนำเข้ารีไซเคิลชิพเส้นใยโพลิเอสเตอร์จากต่างประเทศ จึงเห็นว่าถ้าประเทศไทยมีการคัดแยกขวดน้ำ PET อย่างจริงจัง จะเป็นช่วยลดขยะ และสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง รวมทั้งการนำมาผลิตเป็นชุดPPE เพื่อบุคลากรทางการแพทย์ใส่ป้องเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี”
ส่วนการพัฒนาชุดป้องกันตนเองระดับ 4 ต้องใช้วัสดุผ้านอนวูเว่น หรือผ้าใยสังเคราะห์ที่ไม่ผ่านการถักทอ แต่เป็นกระบวนการฉีดเส้นใยต่อเนื่องที่กำลังร้อนสานไปมาบนสายพานและถูกลำเลียงมารวมกันแล้วพิมพ์นูนขึ้นรูป จนกระทั่งมีรูปแบบเหมือนผ้า มีความทนทานและเหนียวต่อแรงดึงและแรงฉีก โดยซัพพลายเชนในการผลิต อาทิ บมจ.ไออาร์พีซี บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ GC ส่วนเส้นใย Spundlace ในประเทศไทยยังไม่มีการผลิต
ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตเบอร์หนึ่งในอาเซียน สามารถผลิตได้มากกว่า 1.3 แสนตันต่อปี ซึ่งใน 1 กิโลกรัม สามารถทำชุดพีพีอี 3-4 ตัว แต่เนื่องจากไม่สามารถผ่านเรื่องของการซึมของน้ำหรือเลือดจึงต้องนำไปเคลือบกันน้ำ เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงจะสามารถต่อยอดสู่การผลิตชุดพีพีอีได้ในอนาคต และจะต้องผ่านการทดสอบความปลอดภัยเพิ่มอีก 2 เรื่อง คือ การผ่านของไวรัสและเลือด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาต่อยอดเพื่อให้ถึงระดับ 4 คาดว่าภายในเดือนมิ.ย.นี้จะได้ต้นแบบอย่างแน่นอน