‘1 ตำบล1 มหาวิทยาลัย’ อว.ชงโปรเจคร่วมขอ 'งบฟื้นฟูโควิด'
"สมคิด" ตรวจงานพร้อมมอบนโยบาย "อว." จี้หาทางเพิ่มจ้างงาน สร้างรายได้กระจายสู่ชนบท ทั้งเร่งมหาวิทยาลัยปรับบทบาทพัฒนาทักษะพร้อมรับอนาคต ด้าน "สุวิทย์" เตรียมโครงการ "1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย" เสนอขอใช้งบฟื้นฟูเศรษฐกิจจาก พรก.กู้เงิน 4 แสนล้าน
"งานที่ได้มอบหมายให้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้มีความคืบหน้าไปมาก แต่ส่วนสำคัญที่สุดคือการเตรียมพร้อมในโครงการที่จะเสนอมาตรการดูแลและเยียวยาโควิด-19 ทั้งในเรื่องของการจ้างงาน การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เข้มแข็ง โดยผ่านความร่วมมือระหว่างกระทรวง อว. กับมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง”
ข้อคิดเห็นจาก สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมทั้งรับฟังรายงานผลการดำเนินงานในเรื่องโครงการสร้างงานของ อว. และยุวชนสร้างชาติ การพัฒนาทักษะเพื่ออนาคต การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ ที่ให้การสนับสนุนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว การสนับสนุนทุนวิจัยด้านต่างๆ รวมทั้งการปรับบทบาทมหาวิทยาลัยให้พร้อมรับอนาคต
กำชับฟื้นฟูเศรษฐกิจชนบท
สมคิด กล่าวว่า โครงการสร้างงานและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้เริ่มแล้วและภายในไตรมาส 3 นี้จะดำเนินงานมากขึ้น จึงมีข้อเสนอแนะดังนี้ 1. การจ้างคนลงไปทำงานในพื้นที่ ต้องมีการบริหารจัดการที่ดีและต้องไปสร้างองค์ความรู้ถึงชุมชน 2.การจ้างงานในชนบทให้อยู่ในลักษณะของการทำเทรนนิ่ง ที่จะต้องได้ประโยชน์ในลักษณะจ้างเพื่อมาเรียน 3.การจ้างงานนักศึกษาว่างงาน จะต้องเป็นในลักษณะบัณฑิตอาสาและต้องมีโปรแกรมลงพื้นที่ เพื่อให้รับรู้ถึงความเหลื่อมล้ำและนำความรู้ตามสาขาวิชาไปพัฒนาในท้องถิ่น เช่น สาขาการบริหารจัดการบัญชีนำไปสอนการบริหารค่าใช้จ่ายต่างๆ
ทุกหน่วยงานภายในสังกัด อว.จะต้องดำเนินการตามนโยบายที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผสานหน่วยงานอื่น เพื่อร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานโดยเน้นให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานราก เนื่องจากท้องถิ่นยังคงขาดแคลนเครื่องมือที่เป็นเทคโนโลยี หากหน่วยงานมีโครงการลงไปจะทำให้สามารถพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยให้คนในชุมชนประกอบอาชีพได้ง่ายขึ้น
“เดิมเราโฟกัสงานวิจัย แต่จริงๆ นั้นคือการสร้างสิ่งที่สามารถสร้างงานได้ อาทิ ช่วยสร้างเครื่องมือทำกิน อย่างเครื่องมือแปรรูปยางพารา เครื่องมือบริการจัดการน้ำ ดังนั้น เราต้องมีโนว์ฮาวที่จะลงไปถึงพื้นที่จริงๆ ส่วนงบประมาณไม่ใช่ปัญหา แต่กลัวโครงการไม่ตรงกับสิ่งที่เราต้องการมากกว่า จึงจะทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็น เกษตร ชลประทาน หรือเรื่องของไฟฟ้าก็ตาม” สมคิด กล่าว
โปรเจคใหม่“1ตำบล1มหาวิทยาลัย”
ด้าน สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊คว่า ขณะนี้ กระทรวง อว.กำลังจัดเตรียมโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ หรือ โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย เพื่อเสนอขอใช้งบประมาณ จากพ.ร.ก เงินกู้ฯ (การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 วงเงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท) โดยดำเนินงานครอบคลุมพื้นที่ 3,000 ตำบลทั่วประเทศ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับชุมชนหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระยะเวลา 1 ปี
โครงการฯ จะใช้มหาวิทยาลัยของรัฐกว่า 80 แห่งที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานบูรณาการโครงการในระดับตำบล และที่สำคัญ มหาวิทยาลัยจะเป็นหน่วยจ้างงานในตำบล โดยจ้างงานประชาชนทั่วไป บัณฑิตจบใหม่และนักศึกษา ไม่น้อยกว่า 20 คนในแต่ละตำบล รวมไม่น้อยกว่า 60,000 คนจาก 3,000 ตำบล อีกทั้งทำหน้าที่ประสานงานและทำงานร่วมกับจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชนรายตำบล (Community Big Data) เพื่อให้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์และตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบมีเป้าหมายชัดเจน
เป้าหมายโครงการฯ มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาทักษะในการเสริมสร้างอาชีพใหม่ในชุมชน รวมทั้งให้เกิดการจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน และให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยเน้นด้าน BCG Economy ผ่านโครงการด้านการเกษตรอัจฉริยะ พัฒนายกระดับพืชสมุนไพร พลังงานชุมชน การท่องเที่ยวชุมชน การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน (โอท็อป) รวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนและเอสเอ็มอีในพื้นที่
โครงการต่างๆ เหล่านี้ จะได้รับการบูรณาการอย่างเป็นระบบตามศักยภาพของตำบล และเพิ่มประสิทธิภาพให้ตำบลด้วยทักษะความรู้และนวัตกรรม เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน และแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย จึงเกิดขึ้นเพื่อให้เกิดการบูรณาการโครงการในพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามความต้องการของพื้นที่อย่างแท้จริง