‘ชวนหลง’ ผสานเซรามิกผ่านงานเฟอร์นิเจอร์
'สุวิทย์ วงศ์รุจิราวาณิชย์' ดีไซเนอร์ร่วมสมัย นำเสนอแนวคิดการออกแบบคลอเลคชั่นเก้าอี้ “ชวนหลง” จาก Yothaka แบรนด์เฟอร์นิเจอร์คราฟท์ของไทยที่สั่งสมประสบการณ์มากว่า 30 ปี นำทักษะการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ มาประยุกต์กับงานเครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลง
เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของเครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลง จังหวัดเชียงราย คือ รูปทรงของชิ้นงานที่มีความสวยงาม เนื้อบางน้ำหนักเบาจากการใช้เนื้อดินชั้นดีมีคุณภาพ น้ำเคลือบใสรอยแตกรานที่มีทั้งสีฟ้าอ่อน สีเขียวอ่อน และสีเหลืองอ่อน ที่สำคัญลวดลายงานเขียนยังสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของท้องถิ่น อาทิ ลายดอกไม้ พรรณไม้พื้นถิ่น และภาพสัตว์ เป็นต้น มีการดัดแปลงรูปกลีบดอกไม้ หรือใบไม้ให้เหมือนรูปนกกา ที่เรียกว่า ลายกา หรือดอกกาหลง และมีลวดลายที่สื่อถึงความศักดิ์สิทธิ์ เช่น ปลาคาร์ฟสองตัวหมายถึงความโชคดี ม้า และมังกร หมายถึงพลัง หรือเต่าหมายถึงอายุขัย เป็นต้น
วันนี้งานเครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลงได้ถูกหยิบยกมาใช้ในบริบทใหม่ จากผลิตภัณฑ์ในกลุ่มภาชนะ แจกัน ของข้าวเครื่องใช้ ที่เราคุ้นเคยสู่งานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ โดย “Yothaka” แบรนด์เฟอร์นิเจอร์คราฟท์ของไทยที่สั่งสมประสบการณ์มากว่า 30 ปี ทีมงานออกแบบนำ ทักษะ (Skill) และการออกแบบ (Design) มาประยุกต์กับงานเครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลงสร้างสรรค์คอลเลคชั่นเก้าอี้ “ชวนหลง” ที่มีให้เลือกทั้งแบบเก้าอี้สตูล และเก้าอี้แบบมีพนักพิง
โครงสร้างหลักของเก้าอี้เป็นเหล็กเส้นดัดขึ้นรูป มีที่นั่งเป็นงานเซรามิก โดยนำเทคนิคการเขียนลายลงสีเคลือบแบบโบราณของเวียงกาหลงที่สืบทอดกันมากว่า 1200 ปีมาปรับใช้ การเขียนลายในลักษณะนี้ทางภาคเหนือเรียกว่า “ลายทอง” เนื่องจากน้ำเคลือบที่เขียนลายเมื่อนำไปเผา จะเกิดของลายเป็นสีเหลืองอมน้ำตาลคล้ายสีทอง เหมือนกับการเขียนรูปแล้วตัดเส้นรอบ ๆ ลายด้วยสีทอง “ชวนหลง” เหมาะจะเป็นเก้าอี้สำหรับนั่งทานข้าว หรือมีไว้เป็นเก้าอี้สำรองเพื่อเติมเต็มเวลาที่เก้าอี้ในบ้านไม่เพียงพอ หรืออาจนำมาเป็นโต๊ะตัวเล็ก ๆ ข้าง Armchair สำหรับวางกระเป๋า หรือเครื่องดื่มด้านข้างได้ ด้วยรูปทรงของโครงสร้างเหล็กเส้นที่มีการบิดเกลียว และลวดลายที่สวยงามของที่นั่งเซรามิกจึงทำให้ “ชวนหลง” เป็นเก้าอี้ที่เข้ากับส่วนหนึ่งของงานตกแต่งบ้านได้อย่างดี
“ชวนหลง” ตอกย้ำให้เห็นว่า ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน แบรนด์ “Yothaka” ยังคงเป็นแบรนด์ที่ขายทักษะงานทำด้วยมือ (Craft) ผ่านรูปแบบการทำงานที่เชื่อมโยงระหว่าง “นักออกแบบ (Designer), ทักษะ (Skill) และ การออกแบบ (Design)” โดยวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ที่ตอบโจทย์ได้ทุกตลาดทั้งยุโรป ญี่ปุ่น และไทย รวมทั้งตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่นำเฟอร์นิเจอร์ไปใช้ในโครงการต่าง ๆ เช่น ร้านกาแฟ งานออกแบบภายใน เป็นต้น เรียกได้ว่า กาลเวลาเปลี่ยน แต่ตัวตนไม่เคยเปลี่ยน อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ “Yothaka” ประสบความสำเร็จจนถึงทุกวันนี้