'จีเอสเอ็มเอ' หนุนไทยประมูล 'คลื่น3500' ปลุก 5จี สร้างแต้มต่อแข่งขัน
คลื่นความถี่สำคัญที่ถูกกำหนดเป็นคลื่นแรกสำหรับให้บริการพื้นฐาน 5จี ทั่วโลก คือ คลื่น 3500 เมกะเฮิรตช์
จีเอสเอ็มเอ ออกบทวิเคราะห์การจัดสรรคลื่นความถี่โทรคมนาคมในไทย โดยระบุว่า น่าจับตาดูถึงบทบาท สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ถึงการผลักดันคลื่น 3500 เมกะเฮิรตช์ ออกมาประมูลเพื่อเพิ่มศักยภาพใหักับ 5จี ในไทยหรือไม่ ที่จะช่วยหนุนความล้ำหน้าศูนย์กลางโลจิสติกส์ เขตอุตสาหกรรมการผลิตชั้นนำในอนาคต ที่ต้องอาศัยปัจจัยพื้นฐานดิจิทัลเป็นสำคัญ
“จอห์น กิอุสติ” หัวหน้าคณะผู้บริหารฝ่ายกำกับดูแลสมาคมจีเอสเอ็มเอ (GSMA) กล่าวว่า หากนำ 5จี มาพัฒนาร่วมกับคลื่นความถี่หลักที่ใช้ทั่วโลก เป็นเสมือนกุญแจที่ปลดล็อกสู่เป้าหมายอย่างแม่นยำ ที่ผ่านมาการนำคลื่น 2600 เมกะเฮิรตช์ มาใช้งานของไทยเป็นก้าวแรกที่ดี หากต้องมองความสำคัญคลื่น 3500 เมกะเฮิรตช์ด้วย เพราะเป็นคลื่นที่จะใช้ 5จี ได้เต็มประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
หนุนกสทช.เร่งประมูลคลื่น3500
การปลดล็อกเพื่อใช้งาน 5จี ได้เต็มประสิทธิภาพ รัฐบาลต้องตัดสินใจอย่างถูกต้อง ภาพรวม 5จี ทั้งคุณภาพการใช้งานและความเร็ว จึงขึ้นกับการสนับสนุนของรัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแลที่จะนำคลื่นความถี่หลักของ 5จี มาจัดสรรในเวลาและภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดอย่างเหมาะสม ปริมาณคลื่นความถี่ที่นำมาจัดสรรและกำหนดราคา จะมีผลโดยตรงต่อการส่งเสริมการแข่งขันในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงสามารถเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้
ขณะที่การนำ 5จี มาใช้งาน ต้องการทั้งคลื่นความถี่ต่ำ (Sub-1 GHz) คลื่นความถี่กลาง (คลื่นย่าน 2600 เมกะเฮิรตช์ และ 3500 เมกะเฮิรตช์) และคลื่นความถี่สูง (mmWaves) คลื่นความถี่สำคัญที่ถูกกำหนดเป็นคลื่นแรกสำหรับการให้บริการพื้นฐาน 5จี ทั่วโลก คือ คลื่น 3500 เมกะเฮิรตช์ (คลื่นในช่วงความถี่ 3300-4200 เมกะเฮิรตช์) และต้องมีปริมาณความกว้างต่อเนื่อง 80-100 เมกะเฮิรตช์ เพื่อนำมาใช้งาน 5จี ได้เต็มประสิทธิภาพ
จีเอสเอ็มเอ ให้ข้อมูลว่า คลื่นความถี่กลางเป็นคลื่นแรก ที่ถูกเลือกมาใช้งาน 5จี พร้อมทั้งเป็นกุญแจสู่การปลดล็อกระยะยาวของผู้ให้บริการโทรคมนาคม เพราะมีจุดเด่นทั้งความครอบคลุมพื้นที่ใช้งาน ความจุโครงข่าย จึงเหมาะให้บริการ 5จี ได้เร็วที่สุด การเลือกนำคลื่น 3500 เมกะเฮิรตช์มาใช้งานช่วงเริ่มต้น มีข้อดีทั้งการลงทุนเรื่องอุปกรณ์โครงข่าย และจำนวนสมาร์ทโฟนที่รองรับการใช้งาน การใช้งานคลื่นย่านความถี่เดียวกับทั่วโลกเป็นประโยชน์สูงสุดต่อคนไทย
เอเชียให้ความสำคัญคลื่น3500
ในภูมิภาคต่างๆ ได้เห็นความสำคัญเพิ่ม ในการนำคลื่น 3500 เมกะเฮิรตช์ มาใช้งาน 5จี เช่น ไต้หวัน นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ขณะที่ มาเลเซียกำหนดคลื่น 3500 เมกะเฮิรตช์เป็นคลื่นหลักในการให้บริการ 5จี เวียดนามกำลังปรึกษาในภาคอุตสาหกรรมใช้งานคลื่นนี้เช่นกัน
"สำหรับไทยเป็นก้าวแรกที่ดีในการนำคลื่น 2600 มาจัดสรร แต่ยังไม่เพียงพอในเชิงการแข่งขันของ 5จี ในภูมิภาคอาเซียน ถ้านำคลื่น 3500 เมกะเฮิรตช์ มาวางแผนใช้งาน 5จี จะช่วยให้ก้าวทันกับนวัตกรรมและสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคได้"
จีเอสเอ็มเอ มองว่า สำนักงาน กสทช. และรัฐบาลไทยควรทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ เร่งสู่ความพร้อมจัดสรรคลื่น 3500 เมกะเฮิรตช์ ที่มีความกว้าง 80-100 เมกะเฮิร์ตชต่อผู้ให้บริการแต่ละราย เพื่อประโยชน์สูงสุดที่ประเทศไทยจะก้าวไปพร้อมกับทั่วโลก
เผย5จี ลดความแออัดเครือข่าย
ขณะที่ โอเพ่นซิกนัล (Opensignal) บริษัทผู้ดำเนินการวิเคราะห์ระบบมือถือและกำหนดมาตรฐานระดับโลก เผยข้อมูลภาพรวมตำแหน่งคลื่นความถี่ของผู้ให้บริการทั้งสามราย ได้แก่ ดีแทค เอไอเอส และทรูมูฟ เอช ช่วงก่อนและหลังการประมูลคลื่น 5จี พบ เอไอเอส ได้คลื่นความถี่แบนด์ 41 (TDD, 2600 เมก) รวม 100 เมก 10 ใบอนุญาต และทรูมูฟเอช รวม 90 เมก 9 ใบอนุญาต ระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย. เอไอเอส และทรูมูฟเอช ใช้คลื่น 2600 เมกที่ได้มาใหม่นี้ 20-40 เมก สำหรับ 4จี โดยขึ้นอยู่กับพื้นที่
ขณะที่ ผู้ใช้คลื่นความถี่แบนด์ 41 ได้รับประสบการณ์ความเร็วดาวน์โหลด 4จี ดีกว่าอย่างเห็นได้ชัดทั้งบนเครือข่ายเอไอเอส และทรูมูฟเอช ที่ความเร็วดาวน์โหลดเฉลี่ยที่ 14.1 Mbps และ 18.4 Mbps ตามลำดับ
นอกจากนี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ดีแทค ใช้คลื่นความถี่สูงสุด (90 เมก) สำหรับบริการ 4จี ตามด้วยเอไอเอส (80 เมก) และทรูมูฟเอช (70 เมก) ซึ่งหลังประมูลสิ้นสุดเอไอเอส และทรูมูฟ เอช นำคลื่นความถี่แบนด์ 41 ใหม่ไปใช้ใน 4จี เพิ่มเติมระหว่าง 20 ถึง 40 เมก (ปริมาณขึ้นอยู่กับพื้นที่) ทำให้ปริมาณการใช้คลื่น 4จี สูงขึ้นเป็น 120 เมก และ 110 เมก แต่คลื่น 4จี ของดีแทคไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ
การใช้งานเครือข่ายอย่างหนักหน่วงยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความเร็วในการดาวน์โหลดต่ำ เนื่องจากคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรที่มีจำกัด ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือไทยจึงจำเป็นต้องสร้างสมดุลการใช้ทรัพยากรนี้ระหว่างผู้ใช้ 5จี ใหม่และผู้ใช้ 4จี ที่เป็นกลุ่มผู้ใช้ส่วนใหญ่ในปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการใช้อุปกรณ์ 5จี มากขึ้น นอกจากนี้ 5จี ยังช่วยให้สามารถเข้าถึงคลื่นความถี่ใหม่สมรรถนะสูง บรรเทาความแออัดของการใช้งานเครือข่ายได้