ส่งผ่านประวัติศาสตร์สู่ผลิตภัณฑ์ ‘ชุมชนท่ามะโอ’
‘สุวิทย์ วงศ์รุจิราวาณิชย์’ เล่าเรื่องราวของชุดผลิตภัณฑ์สมุนไพร ‘ชุมชนท่ามะโอ’ กับการนำเรื่องราวในอดีตสมัยที่พม่าเข้ามาทำการค้าไม้สักกับชาวอังกฤษ เป็นตัวดำเนินเรื่องในการสร้างสรรค์ชุดผลิตภัณฑ์ พร้อมภาพกราฟิกสื่อสารไปบนบรรจุภัณฑ์
หนึ่งในหัวใจสำคัญของการสร้างแบรนด์ชุมชนคือ การนำ “เรื่องราว” ที่ซ่อนอยู่มาผ่านกระบวนการออกแบบสร้างสรรค์เพื่อปั้นชุมชนให้มีอัตลักษณ์แตกต่างจากชุมชนอื่น เรื่องราวที่ว่าอาจเป็นประเพณีวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์การก่อตั้งชุมชน วิถีการดำเนินชีวิต ทรัพยากรท้องถิ่น ลักษณะภูมิศาสตร์ อาหาร งานทอผ้า การแต่งกาย ฯลฯ
เช่นเดียวกับ ชุมชนท่ามะโอ ที่ตั้งอยู่ทางฝั่งเหนือของสะพานเขลางค์นคร สะพานข้ามแม่น้ำวัง ชุมชนเก่าแก่ที่อยู่คู่จังหวัดลำปาง ที่นำเรื่องราวในอดีตสมัยที่พม่าเข้ามาทำการค้าไม้สักกับชาวอังกฤษ เป็นตัวดำเนินเรื่องในการสร้างสรรค์ชุดผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ ชุมชนท่ามะโอ
ผลงานการออกแบบชุดนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง TU Craft Space และสาขาออกแบบหัตถกรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง โดยศรีชนา เจริญเนตร รับหน้าที่เป็นนักออกแบบ หัวใจหลักของการพัฒนาชุดผลิตภัณฑ์สมุนไพรท่ามะโอ เกิดจากการนำเรื่องราวของบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ในชุมชน มาเป็นตัวแทน (Presenter) นำเสนอผลิตภัณฑ์สมุนไพรของชุมชนท่ามะโอ โดยนำเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการให้สัมปทานป่าไม้
ในครั้งนั้นมีชาวต่างชาติเข้ามาทำสัมปทานป่าไม้ในเมืองไทย เช่น ชาวอังกฤษ ชาวพม่า ชาวไทใหญ่ และชาวขมุ มีบริษัทหลุยส์ เลียว ที โอโนเวนส์ เป็นผู้บุกเบิกการทำสัมปทาน การเข้ามา ทำให้เมืองลำปางคึกคัก มีความหลากหลายทางด้านชนชาติ วัฒนธรรม ความเชื่อ และได้ทิ้งร่องรอยงานสถาปัตยกรรมสไตล์อังกฤษผสมพื้นถิ่น หรือ โคโรเนียลสไตล์ ที่ยังคงงดงามไว้กับชุมชนท่ามะโอ เช่น บ้านหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ บ้านเสานักโดยคหบดีชื่อ “หม่องจันโอง” ต้นตระกูล “จันทรวิโรจน์” วัดพม่า รวมไปถึงอาหารการกินที่มีความผสมกลมกลืน
ทีมนักออกแบบนำเรื่องราวเหล่านี้มาเป็นภาพกราฟิกสื่อสารไปบนบรรจุภัณฑ์ โดยใช้เทคนิคการเขียนลายเส้นด้วยมือจับคู่สีฟ้าขาว และแดง เป็นคู่สีหลัก ทั้งนี้ ชุดผลิตภัณฑ์สมุนไพรของท่ามะโอมีหลากหลายผลิตภัณฑ์ อาทิ เครื่องข้าวซอย ผงฮังเล น้ำพริกปาลาฉ่อง สเปรย์สมุนไพรกันยุง น้ำมันนวด น้ำมันเขียวใบย่านางสำหรับคลายเครียด หรือ ยาดมสมุนไพร ‘ฟื้น’ เป็นต้น
ผลิตภัณฑ์ชุดนี้สื่อให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า “เรื่องราว” ทางประวัติศาสตร์สามารถนำมาเป็นต้นตอแนวคิดในการสื่อสารผ่านงานออกแบบ สร้างอัตลักษณ์ให้กับชุมชน นอกจากจะถูกนำไปใช้บนบรรจุภัณฑ์แล้ว ภาพกราฟิกยังถูกนำไปใช้ในเครื่องมือสื่อสารทางการตลาดโดยผนวกเข้ากับสื่อการท่องเที่ยวของชุมชนด้วย ...อีกหนึ่งแนวคิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนที่น่าชื่นชมครับ