ดัชนีนวัตกรรมไทย 44 จาก 131 โดดเด่น ‘เอกชนลงทุนวิจัย’

ดัชนีนวัตกรรมไทย 44 จาก 131 โดดเด่น ‘เอกชนลงทุนวิจัย’

องค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (WIPO)ร่วมกับ ม.คอร์เนล และThe Business School for the World(INSEAD)เผยแพร่รายงานการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก(Global Innovation Index:GII)ประจำปี63 เพื่อเปรียบเทียบเชิงแข่งขันทางด้านนวัตกรรมของ131ประเทศ ไทยอยู่อันดับ44

การจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลกปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 13 ภายใต้ธีม “ใครจะจ่ายเงินทำนวัตกรรม” หรือ Who Will Finance Innovation? บ่งชี้สถานะความสามารถด้านการขับเคลื่อนนโยบายนวัตกรรม ในภาวะที่ต้องเผชิญกับความท้าทายจากสภาพบริบทของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง

159914071022

อันดับนวัตกรรมไทยในอาเซียน

พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) (เอ็นไอเอ) กล่าวว่า กลุ่มประเทศที่ได้คะแนนสูงสุดในอาเซียนยังคงเป็นกลุ่มเดิมซ้ำๆ ได้แก่ สิงคโปร์อันดับ 8 เกาหลีใต้อันดับ 10 จีนอันดับ 14 และญี่ปุ่นอันดับ 16 ส่วนกรณีเวียดนามซึ่งอยู่ในอันดับที่ 42 มีคะแนนดีกว่าประเทศไทยซึ่งอยู่อันดับที่ 44 ไม่ได้หมายความว่าจะการพัฒนานวัตกรรมจะเหนือกว่าประเทศไทย เนื่องจากการจัดอันดับนี้แบ่งประเทศต่างๆ ออกเป็น 4 กลุ่มตามรายได้ของประเทศ

159914045096

ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงซึ่งมีอยู่ 37 ประเทศ เช่น มาเลเซีย รัสเซีย บัลแกเรีย ตุรกีและจีนที่เป็นอันดับ 1 ในกลุ่ม ส่วนไทยอยู่อันดับ 4 ขณะที่เวียดนามเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำซึ่งมีอยู่ 29 ประเทศ และเวียดนามเองก็กำลังพยายามอัพเกรดตัวเองขึ้นมาอยู่ในกลุ่มเดียวกับไทย

“เวียดนามเป็นเหมือนไทยใน 2533 ที่เศรษฐกิจกำลังเติบโต มีมาตรการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ มีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจากตอนใต้ถึงตอนบน หากมีการพัฒนาอีกเล็กน้อยก็จะสามารถขยับสถานะรายได้ของประเทศ หรือเปรียบเสมือนเรากำลังพูดถึงพรีเมียร์ลีกดิวิชั่น 1 และดีวิชั่น 2 เวียดนามเป็นแชมป์ดิวิชั่น 2 ในเวลานี้ เขากำลังจะไต่ขึ้นมาดิวิชั่น 1 เช่นเดียวกับไทย มาเลเซียและจีน ต่างก็มีความพยายามเลื่อนไปอยู่กลุ่มประเทศรายได้สูง ก็ต้องดูว่าใครจะไปถึงก่อนกัน”

แนะเร่ง‘การพัฒนาคน’

พันธุ์อาจ กล่าวอีกว่า จากการจัดอันดับความสามารถทางด้านนวัตกรรมของประเทศไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา จะเห็นได้แนวโน้มคะแนนโดยรวมสูงขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปสลับขึ้นลงในอันดับที่ไม่แตกต่างจากเดิม แม้ว่าในปีนี้อันดับดัชนีนวัตกรรมจะลดลง แต่ในด้านโครงสร้างพื้นฐานทั่วไป จำนวนบุคลากรที่มีความรู้ในประเทศ การดูดซับองค์ความรู้ และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เป็นฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และยกระดับความเป็นอยู่ของคนในประเทศมีอันดับที่ดีขึ้น

159914049079

ปัจจัยเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยมีการพัฒนาที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในด้านต่างๆ เพียงเร่งเสริมมาตรการที่เป็นจุดด้อยให้ตรงจุดโดยเฉพาะการพัฒนาทุนมนุษย์และการวิจัย และการเชื่อมโยงต่อยอดการสร้างนวัตกรรมที่มีอยู่แล้ว จะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศต่อไป

ทั้งนี้ ปัจจัยชี้วัดความสามารถด้านนวัตกรรม แบ่งเป็น 7 มิติ ได้แก่ 1.สถาบัน 2.ทุนมนุษย์และการวิจัย 3.โครงสร้างพื้นฐาน 4.ระบบตลาด 5.ระบบธุรกิจ 6.ผลผลิตจากองค์ความรู้และเทคโนโลยี และ 7.ผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์ พบว่า ประเทศไทยยังมีอันดับที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยในทุกปัจจัย ยกเว้นปัจจัยด้านทุนมนุษย์และการวิจัย

ทั้ง 7 มิติยังประกอบด้วย 3 ดัชนีชี้วัดย่อย พบว่า ประเทศไทยทำอันดับได้ดีในด้านค่าใช้จ่ายมวลรวมภายในประเทศสำหรับการวิจัยและพัฒนา ซึ่งลงทุนโดยองค์กรธุรกิจต่างๆ (อันดับ 1) สะท้อนให้เห็นการลงทุนของภาคเอกชนที่มุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจด้วยการพัฒนานวัตกรรมมากขึ้น

159914051120

นอกจากนี้ยังมีมิติด้านผลผลิตทางนวัตกรรม ทั้งในส่วนของผลผลิตจากองค์ความรู้และเทคโลยี และผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์ถูกจัดอันดับดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะดัชนีชี้วัดย่อยการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ถูกจัดเป็นอันดับ 1 ของโลกที่มีการสินส่งสินค้าประเภทนี้มากที่สุด

แต่อุปสรรคสำคัญในการสร้างขีดความสามารถนวัตกรรมที่ยังเป็นข้อด้อยของประเทศ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นระหว่างปัจจัยเข้าทางนวัตกรรม เช่น สภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบและข้อบังคับต่างๆ อัตราส่วนของครูและนักเรียน และการบริการนำเข้าเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การบริการส่งออกเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

159914052927

5 ท็อปโลกตลอดกาล

ภาพรวมการจัดอันดับกลุ่มท็อป 5 ก็ยังคงเป็น สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน สหรัฐ สหราชอาณาจักรและเนธอร์แลนด์ ตามลำดับ โดยประเทศเหล่านี้ยกเว้นสหรัฐและสหราชอาณาจักร มีชื่อเรียกทางเทคนิคว่า Small Country but Very Innovative Country อย่างสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศเล็กมี 7 แคว้น แต่ละแคว้นมีนวัตกรรมระดับท็อปโลก จึงมีความเข้มข้นของนวัตกรรมที่กระจายทั่วทุกสารทิศ สวีเดนมีพื้นที่ใกล้เคียงกับไทยแต่มีประชากร 10 ล้านคน มุ่งทำนวัตกรรมขายทั่วโลกโดยเฉพาะด้านวิศวกรรมและไบโอเทคโนโลยี 

ส่วนเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่อยู่ต่ำกว่าผิวน้ำ มีความโดดเด่นด้านฟู้ดเทคที่ส่งออกทั่วโลก ส่วนสหรัฐเป็นประเทศที่ผู้ประกอบการอยากขายสินค้าไปทั่วโลก จึงเห็นภาพการเป็นประเทศที่นำสินค้านวัตกรรมบุกเบิกสู่ตลาดโลก อีกทั้งมีความโดดเด่นด้านนวัตกรรมการเงินหรือฟินเทค ส่วนสหราชอาณาจักรเก่งทางด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน มีนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกในการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ

159914056984