แนะธุรกิจ 'คว้าโอกาส นิวนอร์มอล' ’ไอบีเอ็ม-เจไอบี’ ร่วมตีโจทย์
ดีทีซี ดึง "ปฐมา" ผู้บริหารหญิงไทยระดับท็อป แมเนจเมนท์ บริษัทไอทีระดับโลก แชร์ไอเดีย พลิกธุรกิจฝ่าวิกฤติ พร้อมคว้าโอกาสยุคนิวนอร์มอล ร่วมด้วย “สมยศ เชาวลิต” แห่งเจไอบี ร่วมตีโจทย์ถอดประสบการณ์ “ติดลบ” สู่อาณาจักรธุรกิจพันล้าน
นวัตกรรม-เทคโนโลยี หนุนทางรอด
เธอเผยว่า องค์กรที่สามารถเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส และอยู่รอดในช่วงโควิดต่างให้ความสำคัญกับ 3 พันธกิจคือ การกลับมาทบทวนตนเอง ความต้องการของลูกค้า โดยมี “Humans at CENTER” ขณะเดียวกัน “Innovation at SCALE” ให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมและการคิดนอกกรอบ และสุดท้าย “Technology at SPEED” เร่งลงทุนเทคโนโลยีเพื่อช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถสเกลได้เร็วมากขึ้น
ทั้งนี้ หลังวิกฤติโควิดพฤติกรรมผู้บริโภคแตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง หากต้องการสร้างจุดต่างธุรกิจ ต้องให้ความสำคัญกับการดูแลและพัฒนาการมีส่วนร่วมกับลูกค้า ความโปร่งใส่และน่าเชื่อถือ ยกระดับการบริหารจัดการภายในและซัพพลายเชนอย่างยืดหยุ่น
นอกจากนี้ ที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมากคือ ความมั่นคงปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวบนไซเบอร์ รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีไอทีมาปรับใช้ เพื่อช่วยยกระดับ ทำให้ธุรกิจเดินหน้าไปได้อย่างต่อเนื่อง
จับตา10เทรนด์ไอทีพลิกโลกธุรกิจ
เอ็มดีไอบีเอ็มวิเคราะห์ว่า โลกเปลี่ยนไปแล้ว ฉะนั้นอย่าอยู่เฉย ถ้าใครอยู่เฉยๆ แล้วคิดว่าจะไม่เจ็บตัว ขอให้ตระหนักว่าจะเจ็บตัวได้อย่างแน่นอน ธุรกิจต้องปรับโฟกัส หันมาพัฒนาประสบการณ์ลูกค้า เปลี่ยนการทำงาน การร่วมมือกับพันธมิตร ควบคู่ไปกับลงทุนเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับโจทย์ธุรกิจ
สำหรับการเริ่มต้นขอแนะว่า ให้โฟกัสที่การใช้ประโยชน์จากข้อมูล เนื่องจาก ฐานข้อมูลลูกค้าคือ New Oil พร้อมๆ ไปกับหาพันธมิตร ทำให้คู่แข่งกลายเป็นคู่ค้า และที่ขาดไม่ได้ระบบงานไอทีหลังบ้านต้องแข็งแรง
ด้านการพัฒนายกระดับระบบรักษาความปลอดภัยในองค์กร วันนี้ต้องยอมรับว่าการจัดตั้งซิเคียวริตี้โอเปอร์เรชั่นเซ็นเตอร์ไม่ทันแล้ว และต้องใช้เงินมหาศาล ที่ทำได้และสมควรทำคือหาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยรักษาความปลอดภัย โดยเริ่มแรกต้องมีการประเมินระบบเพื่อดูว่ามีรูรั่วตรงไหนบ้าง
“การปกป้องข้อมูลลูกค้า โดยเฉพาะในธุรกิจเฮลธ์แคร์ มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากทุกครั้งที่ข้อมูลคนไข้ถูกขโมยหรือถูกนำไปใช้สร้างความเสียหายเป็น 4 เท่า ดังนั้นโจทย์ใหญ่คือ การป้องกันไม่ให้ถูกแฮ็ก ข้อมูลรั่วไหล ขณะเดียวกันมีการตรวจสอบสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของพนักงาน และหากจะนำข้อมูลขึ้นคลาวด์ต้องมั่นใจว่ามีความปลอดภัยจริงๆ”
สำหรับประเด็นที่ว่า เอไอจะเข้ามาแทนที่มนุษย์หรือไม่ เรื่องนี้มองว่าหากจะเข้ามาแทนคงต้องใช้เวลานานมาก ในความเป็นจริงคืออยู่ร่วมกันในรูปแบบพันธมิตร และช่วยกันขับเคลื่อนให้ธุรกิจเติบโต
อย่างไรก็ดี นอกจากคลาวด์ เอไอ และบล็อกเชน 10 เทรนด์เทคโนโลยีที่น่าจับตามองหลังโควิด จัดลำดับโดยเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม ประกอบด้วย ออนไลน์ชอปปิงและการส่งสินค้าด้วยหุ่นยนต์, ดิจิทัลเพย์เมนท์, การทำงานจากระยะไกล, การเรียนออนไลน์, เทเลเฮลธ์, ออนไลน์เอนเตอร์เทนเมนท์, ซัพพลายเชน 4.0, การพิมพ์ 3 มิติ, โรโบติกส์และโดรน, 5จีและไอซีที
’เจไอบี’เปิดเคล็ดลับธุรกิจพันล้าน
นายสมยศ เชาวลิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ.ไอ.บี.คอมพิวเตอร์ กรุ๊ป จำกัด ผู้จัดจำหน่ายสินค้าไอทีชั้นนำ เจ้าของอาณาจักรธุรกิจมูลค่าหลายพันล้านบาท กล่าวบรรยายหัวข้อ “The Transformer : เปลี่ยนมุมคิด พลิกธุรกิจสู่ร้อยล้าน” ว่า ระบบบริหารจัดการหลังบ้านที่ดีมีความสำคัญอย่างมากต่อธุรกิจค้าปลีก ยอดขายที่แทร็คได้แบบเรียลไทม์ช่วยให้การบริหารจัดการสาขา ยอดขาย และการทำการตลาดทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงกับเป้าหมายธุรกิจ
เขาเล่าว่า เกิดมาในครอบครัวที่ยากจน เรียนจบมาก็ทำงานเป็นพนักงานเงินเดือนปกติ แต่ด้วยงานในสายงานไอทีที่ทำอยู่เปิดโอกาสให้เห็นช่องทางที่จะออกมาทำธุรกิจ จนมาวันนี้ผ่านมากว่า 19 ปี กว่าจะประสบความสำเร็จต้องผ่านความยากลำบากมาอย่างมาก
โดยที่อยู่รอดมาได้ต้องมีการปรับตัว เปลี่ยนกลยุทธ์ จริงใจต่อลูกค้า ด้วยที่เคยขาดทุนจนเกือบต้องปิดกิจการมาก่อนจึงทำธุรกิจด้วยความระมัดระมัด มีการปรับตัวโดยการรีแบรนด์ใหม่ และแตกซับแบรนด์เพื่อจับตลาดระดับกลางถึงบน รวมถึงคนรุ่นใหม่ การทำธุรกิจต้องไม่รีบจนเกินไป หากต้องการขยายสาขาต้องมองสภาพความเป็นจริงและพิจารณาถึงศักยภาพของตลาดในแต่ละพื้นที่ว่ามีโอกาสมากน้อยแค่ไหน
สำหรับช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ธุรกิจได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากปัจจุบันเจไอบีมีสาขาทั้งหมด 148 สาขา ใน 52 จังหวัด สาขาที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าและถูกปิดไปมีถึง 120 สาขา ที่เหลือข้างนอกทำยอดขายที่ได้ไม่ถึง 10% จากช่วงปกติ การปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดนอกจากการขายบนอีคอมเมิร์ซ ต้องไปเปิดสาขาชั่วคราวตามอาคารพาณิชย์ต่างๆ และได้ตั้งทีมเทเลเซล ขายผ่านทางโทรศัพท์เพื่อเพิ่มโอกาสในการขาย
“ช่วงโควิดยอดขายออนไลน์ของเราเติบโต 4 เท่า เดือนละประมาณ 400 กว่าล้านบาท จากปกติ 100 กว่าล้านบาท รวมปีนี้คาดว่าการขายผ่านออนไลน์จะทำได้ไม่น้อยกว่า 1,200 ล้านบาท ส่วนในภาพรวมการเติบโตของบริษัทจะมาจากทั้งการขายหน้าร้าน ออนไลน์ การเพิ่มไลน์สินค้าใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มเกมมิ่ง”
’ออนไลน์’ อนาคตค้าปลีก
นายสมยศกล่าวว่า ออนไลน์คืออนาคตของธุรกิจค้าปลีก สิ่งที่ต้องพัฒนามีทั้งระบบการขาย และที่สำคัญคือการจัดส่งสินค้าที่ต้องทำให้ได้เร็วที่สุด อย่างที่เจไอบีพัฒนาการจัดส่งกระทั่งส่งได้ภายใน 3 ชั่วโมง มีการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้ในคลังสินค้า ด้านช่องทางการขายนอกจากเว็บไซต์ของตัวเอง ได้เข้าไปเปิดร้านค้าในอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มต่างๆ ด้วย
สำหรับการปรับตัวเพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป อนาคตเป็นไปได้ว่าต้องมีการปรับขนาดร้านค้าให้เล็กลงเพื่อลดค่าเช่า ลดการสต็อกสินค้าในหลายๆ แห่งซึ่งทำให้มีความใช้จ่ายสูง และไปเพิ่มการส่งสินค้าถึงบ้านให้มากขึ้น
พร้อมระบุว่า วันนี้แม้มีหลายปัจจัยที่อาจทำให้ธุรกิจเกิดความไม่แน่นอน แต่เชื่อว่าตลาดไอทียังมีช่องว่างที่จะเติบโต ส่วนอนาคตแผนการรักษาการเติบโตและเพิ่มรายได้มองเรื่องการเพิ่มไลน์อัพสินค้าใหม่ๆ ที่หลากหลายมากขึ้น