NIA เดินเกมปั้นสตาร์ทอัพสาย 'มาร์เทค'
NIA เดินเกมปั้นสตาร์ทอัพสาย “มาร์เทค” สบช่องทางเอนเตอร์เทนเมนท์โต 5 แสนล้าน แนะธุรกิจเพลงยุคใหม่ต้องสร้างทางรอดด้วยมิวสิคมาร์เก็ตติ้ง
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับ South East Asia Center (SEAC) จัดกิจกรรมเสวนา “NIA academy มีคลาส” ในหัวข้อ “MARTech Innovation : The Rise of Creative Industries after Crisis” ภายใต้ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ The Rise of MARTech, The MARTech Trends, Thai Music to Global และ Future of Events เพื่อร่วมเรียนรู้/แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับเทรนด์ และนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมบันเทิง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างสรรค์ รวมสร้างให้เกิดแรงกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการลงทุนในธุรกิจ MARTech
สตาร์ทอัพกลุ่ม MARTech (Music, Art และ Recreation : ดนตรี ศิลปะ และนันทนาการ) เป็นนิยามใหม่ของวงการสตาร์ทอัพที่พูดถึงการนำเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยีเสมือนจริง (AR/ VR) ระบบคลาวด์และ IoT มาผสมผสานเข้ากับการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยเน้นสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภค
สตาร์ทอัพกลุ่มดังกล่าวถือได้ว่าเป็นธุรกิจนวัตกรรมคลื่นลูกใหม่ที่กำลังมาแรง โดยปัจจุบันมีมูลค่าตลาดสูงถึง 478,000 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตถึง 6.5% หรือกว่า 500,000 ล้านบาท ใน ปี 2022 ซึ่งในปีนี้จะเห็นได้ว่าแม้จะมีสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมต่างๆ แต่ มาร์เทค กลับเป็นธุรกิจที่เติบโตสวนกระแส เห็นได้จากการแข่งขันด้านคอนเทนท์ของผู้เล่นในอุตสาหกรรมบันเทิง การเข้าถึงช่องทางรับชมออนไลน์ของผู้ชมที่มากขึ้น รวมถึงแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ถูกพัฒนาเพื่อช่วงชิงฐานผู้บริโภคและตลาดโฆษณาดังที่เห็นตามสมาร์ทโฟนและช่องทางอินเทอร์เน็ต
สตาร์ทอัพกลุ่มนี้มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี โดยเฉพาะในต่างประเทศถือเป็นกลุ่มที่สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ค่อนข้างมาก เห็นได้จากประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือ เกาหลีใต้ที่สามารถผนวกศิลปะ วัฒนธรรม และดนตรีเข้ากับเทคโนโลยีจนสามารถสร้างการเติบโตให้กับ GDP ได้สำเร็จ และนอกจากนี้ยังสามารถส่งผลดีตามมา ได้แก่ เกิดการท่องเที่ยวทางดนตรี การเกิดขึ้นของคอมมูนิตี้สร้างสรรค์ มีการพัฒนาทางวัฒนธรรมและการเติบโตทางศิลปะ การส่งเสริมเรื่องลิขสิทธิ์ด้านผลงานสร้างสรรค์ อีกทั้งสามารถดึงดูดความสนใจในการลงทุนในอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกด้วย
สำหรับในประเทศไทย พบว่าในบรรดาสตาร์ทอัพที่มีอยู่เกือบ 2,000 รายนั้นเป็นสตาร์ทอัพกลุ่ม MAR Tech ไม่เกิน 20 ราย ซึ่งถือว่ายังน้อยมากหากจะช่วยพัฒนา GDP ของประเทศให้เติบโตได้เทียบเท่าเกาหลีใต้ หรือญี่ปุ่น ดังนั้น NIA จึงมีแผนส่งเสริมสตาร์ทอัพในกลุ่มนี้ให้เติบโตมากขึ้น โดย NIA จะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่าง Tech Startup เข้ากับแวดวงศิลปะ ดนตรี และนันทนาการ เพื่อช่วยพัฒนา วางแผน แก้ไขปัญหาต่างๆ และช่วยเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการในการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีด้านดนตรี ศิลปะ และนันทนาการ
นายกวี สุนทรวรรณ Senior Label Manager, Believe Digital Thailand แพลตฟอร์มสำหรับช่วยเหลือศิลปินอิสระ กล่าวว่า Believe Digital เป็นนวัตกรรมด้าน MARTech อีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง หรือ Digital Music Distributor ช่วยศิลปิน หรือค่ายเพลงอิสระให้สามารถนำเพลงไปขึ้นขายในช่องทางต่างๆ ที่เป็นร้านค้าออนไลน์ หรือ Streaming ไม่ว่าจะเป็น iTune , Apple Music ,Spotify, JOOX , Tiktok , Youtube Music โดยนำเสนอเพลงให้กับร้านค้าออนไลน์ในช่องต่างๆ ในรูปแบบการเสนอขายเพลงให้ไปอยู่ในรูปแบบแบนเนอร์โมษณา Playlist หรือ Feature ใน Streaming Platforms เพื่อให้คนฟังมองเห็น และเพิ่มโอกาสในการกดเข้าไปฟังเพลงให้ได้มากที่สุด แต่อย่างไรก็ตามเรื่องการใช้ Digital Distributor ยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย ส่งผลให้ที่ผ่านมาศิลปิน และค่ายเพลงอิสระยังเข้าไม่ถึง หรือเข้าถึงได้ในบางส่วน ในจำนวนที่ไม่มากนัก ซึ่ง digital music distributor มีส่วนอย่างมากในการเติบโตของกลุ่มศิลปินอิสระในทั่วโลก เพราะด้วยขั้นตอนที่ง่ายและสะดวกสบาย ใครๆ ก็สามารถมีผลงานของตัวเองอยู่บนสตรีมมิ่งได้อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
อย่างไรก็ดี การพึ่งพา Digital Distributor ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถขยับขยายตลาดดนตรีไทยให้มีโอกาสในอุตสาหกรรมดนตรีโลกมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันศิลปินต้องเรียนรู้เรื่อง music marketing เพิ่มเติม เพราะปัจจุบันตลาดดนตรีไม่สามารถนำเสนอดนตรีเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมองกลุ่มเป้าหมายของตัวเองให้ออกเช่นกัน ว่าจะไปอยู่ที่ไหน บนแพลตฟอร์มอะไร ยกตัวอย่างเช่น YOUNGOHM ที่มีตลาดในไทยก็จะเลือกจับที่ YouTube เพราะผู้ใช้หลักเป็นคนไทยเยอะ รายได้พุ่งกระฉูด แต่ก็มีศิลปินที่ไม่ได้เป็นแบบนั้น อย่าง Valentina Ploy ที่ยอดใน YouTube ไม่ได้เยอะ แต่ยอดในสตรีมมิงต่างประเทศเยอะ ก็ต้องพาเขาไปให้ถูกที่ หรือเราเห็นทิศทางว่าศิลปินคนนี้โดดเด่นน่าสนใจ ถ้าอยู่บนสตรีมมิงไหนแล้วเขากำลังมา ก็สามารถคุยกับ Music Editor ของแพลตฟอร์มให้ช่วยผลักดันเขาให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นได้