'ทีเอ็มเอ' ชี้นำเร่งโฟกัส 'เทคโนโลยี-นวัตกรรม' สู่ความยั่งยืน
สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) โดยกลุ่มบริหารเทคโนโลยีและนวัตกรรม และมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเวทีสัมมนาออนไลน์ TechInno Forum 2020 หัวข้อ “Future Living : TechInno For a Better Life”
หวังแบ่งปันความรู้และวิทยาการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมทันสมัยช่วยสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรโลก ตอบสนองสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างยั่งยืน พร้อมเรื่องราวนวัตกรรมที่น่าสนใจจากนักเทคโนโลยีดีเด่นประจำปี 2563
หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้น “ฮิตาชิ” ที่รุกพัฒนาสังคมด้วย 'โรงงานอัจฉริยะ'
นายฮายาโตะ ยามากูจิ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ฮิตาชิ เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นองค์กรเล็ก หรือใหญ่มักจะประสบปัญหาคล้าย ๆ กัน คือ ปัญหาในส่วนการวางแผนการผลิต การประกันคุณภาพ การบำรุงรักษาเครื่องจักร และการขับเคลื่อนการผลิตสู่ระบบดิจิทัล ศูนย์ลูมาดา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ซึ่งเป็นศูนย์บริการโซลูชันด้าน IoT จึงสร้างระบบดิจิทัลและสนับสนุนการเชื่อมโยงข้ามภาคส่วนในภาคการผลิต ระบบลอจิสติกส์ และความปลอดภัย เพื่อช่วยพัฒนาโรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการด้วยเทคโนโลยีระดับสูง เป้าหมายของเราไม่ใช่เพียงการพัฒนาโรงงานอัจฉริยะ แต่เป็นการพัฒนาสังคมโดยรวมทั้งหมด บรรดาเทคโนโลยี โซลูชัน และแนวคิดต่าง ๆ สามารถนำไปปรับใช้กับภาคส่วนอื่น ๆ นอกจากภาคการผลิตได้
ถัดไปคือ "SCG" กับ Smart City และอนาคตที่เทคโนโลยีนวัตกรรมขับเคลื่อนไปพร้อมคน ด้าน นายนิธิ ภัทรโชค President, SCG Cement-Building Materials Business กล่าวว่า เราอาจมองภาพชีวิตอนาคตผ่านเลนส์ของ Smart City Index ที่สถาบันระดับโลกอย่าง IMD ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้สำรวจ
โดยให้ความสำคัญกับ 5 มิติ คือ Health & Safety เรื่องสุขอนามัย คุณภาพอากาศ การเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข และที่อยู่อาศัย Mobility ระบบขนส่งมวลชนและสภาพการจราจร Activities สัดส่วนพื้นที่สีเขียวและกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมเพื่อการพักผ่อน Opportunity โอกาสการเข้าถึงการศึกษาและงาน และความเท่าเทียมของคนกลุ่มน้อย และ Governance การบริหารจัดการที่มีโปร่งใส ประชาชนมีส่วนร่วมและการปลอดคอร์รัปชั่น ซึ่งผลการจัดอันดับกรุงเทพฯ อยู่ในลำดับที่ 71 จาก 109 เมืองทั่วโลก
เพื่อตอบโจทย์ให้เกิด Future Living ที่พึงปรารถนาจะต้องพัฒนาสามสิ่งไปพร้อม ๆ กัน คือ ต้องสร้าง Hardware ให้พร้อมซึ่งคือถนนหนทาง สะพาน รถไฟฟ้า บ้านเรือน โครงข่ายการสื่อสาร Software โปรแกรม แอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่เข้ามาจะช่วยให้ชีวิตของคนสะดวกสบายขึ้น ซึ่งสองสิ่งนี้เรียกรวมกันว่าเป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรม ควรนำมาใช้ให้เต็มศักยภาพ โดยปรับใช้ให้เหมาะกับสภาพบ้านเมือง
และสุดท้ายสำคัญมาก คือ Peopleware หรือ คน ที่ได้เตรียมสร้างคนที่มีทักษะสำหรับอนาคตไว้ พร้อมปลูกฝังพฤติกรรม จิตสำนึกในการดูแลโลกและสังคมไหม และสุดท้ายทั้งสามองค์ประกอบจะต้องทำงานร่วมกันสู่ Future Living อย่างยั่งยืน โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุดทั้ง Reduce , Reuse และ Recycle
ด้าน รศ.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ในการทำงานด้านนี้มีคำศัพท์หนึ่งเกิดขึ้นคือ Sustainovation ซึ่งเป็นการผนวกกันระหว่างคำว่า Sustainability หรือความยั่งยืน กับคำว่า Innovation หรือนวัตกรรม ซึ่งมี 3 องค์ประกอบคือ หนึ่งต้องใหม่ สองเกิดการใช้งานจริง และสามคือมีประโยชน์จริง ๆ
"สรุปแล้ว Sustainovation หมายถึง แนวทาง หรือเทคโนโลยีใหม่ที่นำไปใช้แล้วเกิดประโยชน์อย่างชัดเจนในการดำรงชีวิตประจำวันของผู้คน รวมถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม สำหรับตัวอย่างของ Sustainovation เช่น ที่โครงการ The Forestias มีการนำขยะพลาสติกจากทะเลมา Upcycling คือเพิ่มมูลค่าเป็นวัสดุที่ใช้ทำขอบถนน กำแพง ทางเดินเท้าต่าง ๆ รวมถึงแปลงขยะพลาสติกจากทะเล เป็นเส้นใยเพื่อทอเป็นพรมตกแต่งเป็นต้น"
ขณะเดียวกัน นายสุวัฒน์ มีมุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บางจากฯ มองอนาคตมากกว่าธุรกิจน้ำมัน โดยปัจจุบันเริ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตรในธุรกิจอาหาร ยาและเคมีภัณฑ์ รวมถึงพัฒนาเป็นคอลลาเจน ล่าสุด คือ การเปิดตัวธุรกิจสตาร์ทอัพ “Winnonie” (วิน No หนี้) โดยนำนวัตกรรมพลังงานสีเขียวรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะเช่าเพื่อลดภาระต้นทุนรถ
รวมทั้งลดภาระค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง ซึ่งจากการศึกษาพบว่าการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าการใช้น้ำมันประมาณ 10 เท่า พร้อมการเปลี่ยนแบตเตอรี่แบบถอดเปลี่ยนหมุนเวียนใช้ เป็นรายแรกในประเทศไทย โดยสามารถนำแบตเตอรี่ไปเปลี่ยนได้ที่ตู้สำหรับแลกเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่สถานีบริการน้ำมันบางจาก โดยปัจจุบันนำร่องให้บริการแล้วประมาณ 10 คัน โดยคาดว่าจะเพิ่มเป็น 30 คันภายในสิ้นปี 2563 ก่อนขยายเป็น 200 คันในปี 2564
TMA เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางในการสร้างเสริมความเป็นเลิศของผู้บริหาร เพื่อมุ่งสู่การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยมีความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีชื่อเสียงทั้งในระดับประเทศและในระดับโลก นอกจากนี้ยังให้บริการที่ปรึกษา บริการทำงานวิจัย และจัดการประชุมระดับนานาชาติ และทำกิจกรรมเพื่อสร้างเครือข่ายสำหรับทั้งภาครัฐและเอกชน โดยนับตั้งแต่องค์กรก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2507 มีผู้ใช้บริการเพื่อการพัฒนากับ TMA มาแล้วมากกว่า 3.5 แสนคน