รุกวิจัยพัฒนา 'ระบบยานไร้คนขับ' ยกระดับเทคโนโลยีป้องกันประเทศ
"สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ" ร่วมกับ "กองทัพบก" ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาระบบยานไร้คนขับ และต่อต้านระบบยานไร้คนขับ
สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ สทป. ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาระบบยานไร้คนขับและต่อต้านระบบยานไร้คนขับ โดย กองทัพบก ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ในการวิจัยและพัฒนาต้นแบบยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการและเสริมสร้างขีดความสามารถในภารกิจด้านการป้องกันประเทศของกองทัพบกจากภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่นับวันจะยิ่งมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
การลงนามบันทึกความเข้าใจครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้สถาบันเทคโนโลยีป้องกันเทศมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบยานไร้คนขับร่วมกับกองทัพบกให้เป็นไปตามนโยบายของกองทัพบกที่จะพัฒนาไปสู่การเป็น Smart Soldier Strong Army โดยมุ่งเน้นการพัฒนายุทโธปกรณ์และกำลังพลของกองทัพบกให้ทันสมัย มีความแข็งแกร่งทั้งร่างกาย จิตใจ พร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ในสนามรบได้อย่างสมบูรณ์ เสริมสร้างขีดความสามารถการร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาต้นแบบยุทโธปกรณ์ เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณารับรองต้นแบบผลงานวิจัยสำหรับนำมาใช้ในกองทัพบก
โดยทั้งสองฝ่ายมีข้อตกลงแลกเปลี่ยนและเสริมสร้างองค์ความรู้ แนวคิด ประสบการณ์ การวิจัยและพัฒนา ข้อมูลทางวิชาการ การประชาสัมพันธ์ จากการร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาต้นแบบยุทโธปกรณ์ และเพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณารับรองต้นแบบผลงานวิจัยสำหรับนำมาใช้ในกองทัพบก รวมถึงการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ตลอดจนการพัฒนาผลงานทางวิชาการร่วมกัน สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพจากการร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาต้นแบบยุทโธปกรณ์ให้กับกองทัพบก ตอบสนองความต้องการใช้งานตามภารกิจป้องกันประเทศของกองทัพ
และดำรงขีดความสามารถในการเตรียมกำลังและใช้กำลังทางบกได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันต่อทั้งหน่วยงาน และประโยชน์ต่อภาพรวมของประเทศ ในการขับเคลื่อนนโยบาย S - Curve 11 ส่งเสริมอุตหกรรมป้องกันประเทศ ให้เติบโตและเข้มแข็งลดการนำเข้าจากต่างประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ สร้างงานสร้างรายได้ให้กับสังคมด้วยนวัตกรรมกลุ่มเทคโนโลยีระบบยานไร้คนขับ ซึ่งเป็นอีกบทบาทของหนึ่งกระทรวงกลาโหมที่จะมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย และท้ายที่สุดก็จะนำมาซึ่งการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ในอนาคตต่อไป
พลอากาศเอก ดร.ปรีชา ประดับมุข ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กล่าวว่า ความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาระบบยานไร้คนขับและต่อต้านระบบยานไร้คนขับ ระหว่าง สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กับ กองทัพบก หลังจากลงนามบันทึกความเข้าใจแล้ว จะมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความมือหรือ MOA ในโครงการย่อย ๆ อีก 3 โครงการได้แก่
1.โครงการร่วมวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์ยุทธวิธี ที่สามารถใช้การปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่ทุรกันดาร, อันตราย หรือ ปฏิบัติการที่กำลังพลมีความเสี่ยงสูง เพื่อลดการสูญเสียของกำลังพลจากการรบ และเพื่อความสำเร็จของภารกิจและเสริมอำนาจกำลังรบของหน่วยภาคพื้นดิน เป็นการสร้างเทคโนโลยีทางทหารและนวัตกรรมทางทหารสมัยใหม่ เพื่อให้สามารถสนับสนุนภารกิจของกองทัพบก และเมื่อทำการวิจัยและพัฒนาต้นแบบสำเร็จสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศจะส่งมอบให้หน่วยผู้ใช้งาน คือ กรมสรรพาวุธทหารบก
2.โครงการร่วมวิจัยและพัฒนาระบบอากาศยานไร้คนขับขนาดกลาง (Medium Unmanned Aircraft System) โดยมีเป้าหมายร่วมที่สำคัญ คือ เพื่อให้สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศมีขีดความสามารถในการวิจัยและพัฒนาร่วมระบบอากาศยานไร้คนขับขนาดกลาง (Medium Unmanned Aircraft System) นำเข้าทดสอบใช้งาน และเข้ากระบวนการทดสอบรับรองมาตรฐานต่อไป และเมื่อทำการวิจัยและพัฒนาต้นแบบสำเร็จสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศจะส่งมอบให้หน่วยผู้ใช้งาน คือ กองพลทหารปืนใหญ่
3.โครงการร่วมมือวิจัยและพัฒนาระบบต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ (Counter Unmanned Aircraft Systems) เพื่อสร้างความพร้อมรบในการรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้โดรนติดอาวุธหรือวัตถุระเบิดในการโจมตีเป้าหมายที่สำคัญซึ่งจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติและประชาชน และเมื่อทำการวิจัยและพัฒนาต้นแบบสำเร็จสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศจะส่งมอบให้หน่วยผู้ใช้งาน คือ หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบก
สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กําหนดแผนการดําเนินงานจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมระบบอากาศยานไร้คนขับ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (Defence Technology Institute Unmanned Aircraft Systems Training Centre : DTI-UTC) ตามมาตรฐานสากล ด้วยกลยุทธ์ Solution Provider ที่เน้นการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานด้วยนวัตกรรม หรือการตอบสนองลูกค้าด้วยการสร้างความแตกต่างที่เหนือกว่า (Cutting Edge) มุ่งเน้นการพัฒนาผู้เข้ารับการฝึกอบรมด้วย กระบวนการ Competency Based Training โดยให้มีความรู้ (Head) ควบคู่ไปกับความชํานาญ (Hand) และทัศนคติที่ถูกต้อง (Heart) เพื่อให้ผู้ผ่านการฝึกอบรมมีขีดความสามารถในการใช้งานระบบอากาศยานไร้คนขับที่เหมาะสมตามภารกิจ และวัตถุประสงค์ของการใช้งานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ