"เทคโนโลยีปกป้องน่านน้ำ" อุดช่องว่างปัญหาลักลอบเข้าเมือง!
ผู้ติดเชื้อโควิดภายในประเทศ ณ ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร ส่งผลให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรวมทั้งประเทศพุ่งทะยานมากกว่า 1,000 คน ต้นตอของปัญหาคือ “การลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายของแรงงานข้ามชาติ” ซึ่งช่องทางใหญ่คือชายฝั่งทะเลทั้งอ่าวไทย-อันดามัน !
จากปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในทันที ทั้งต้องระงับกิจกรรมที่มีการรวมตัวในช่วงปีใหม่ เพื่อร่วมมือกันยับยั้งการระบาดระลอกใหม่ อีกทั้งธุรกิจร้านอาหารทะเลต่างก็ซบเซาตามๆ กันไป ในขณะเดียวกันสังคมก็พุ่งเป้าไปที่ต้นตอของปัญหาครั้งนี้ทันที นั่นก็คือ “การลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายของแรงงานข้ามชาติ”
ปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติรวมทุกสัญชาติที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานอย่างถูกต้องประมาณ 2,500,000 คน อ้างอิงจากกรมการจัดหางาน ข้อมูล ณ เดือน พ.ย.2563 ซึ่งยังไม่รวมผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองอีกกลุ่มหนึ่ง ตามข้อมูลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกี่ยวกับการจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองตามพรมแดนธรรมชาติ ตั้งแต่ พ.ค.-พ.ย.2563 มีประมาณ 6,160 คน โดยเฉพาะในเดือน พ.ย.สูงถึง 528 คน นี่แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นที่จับกุมได้
แน่นอนว่าตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการมีอยู่จริงของปัญหาการลักลอบเข้าเมืองตามพรมแดนธรรมชาติ ซึ่งประเทศไทยมีพรมแดนทางบกที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านคิดรวมทุกด้านมีความยาวรวมประมาณ 5,300 กิโลเมตร อีกทั้งยังมีชายฝั่งทะเลทั้งด้านอ่าวไทยยาว 1,840 กิโลเมตร และฝั่งทะเลอันดามันยาว 865 กิโลเมตร รวมกันแล้วประมาณ 2,815 กิโลเมตร ซึ่งเป็นช่องทางขนาดใหญ่ที่อาจเกิดการลักลอบเข้าเมืองได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน การป้องกันพรมแดนทางทะเลโดยเฉพาะตามแนวชายฝั่งทะเลสามารถเป็นไปได้โดยอาศัยเทคโนโลยีดาวเทียม เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ เทคโนโลยีระบบเซนเซอร์ใต้น้ำ และเทคโนโลยีเรดาร์ ซึ่งแต่ละเทคโนโลยีก็จะข้อดีและข้อเสียในด้านที่แตกต่างกันออกไป
เทคโนโลยีดาวเทียม คือ การใช้ดาวเทียมคอยสอดส่องแทนมนุษย์ นอกจากจะสามารถตรวจตราได้ในพื้นที่กว้างในคราวเดียวแล้ว ยังสามารถอาศัยความหลากหลายของเซนเซอร์ดาวเทียมเพื่อหาความผิดปกติในพื้นที่ที่เชื่อมโยงไปยังขบวนการลักลอบเข้าเมือง อาทิ ร่องรอยการเปิดพื้นที่โล่งชั่วคราวเพื่อสร้างแหล่งที่อยู่กลางป่าตามแนวชายแดน หรือแสงไฟในตอนกลางคืนในพื้นที่ที่ไม่ใช่ชุมชน และแสงไฟจากเรือในน่านน้ำที่ไม่ใช่แหล่งหาปลา เป็นต้น
แนวความคิดดังกล่าวปัจจุบันเป็นหนึ่งในแผนการพัฒนาดาวเทียมภายใต้โครงการดาวเทียมธีออส 2 ที่ดำเนินการโดย จิสด้า ในด้านผลประโยชน์ทางสังคมและความมั่นคง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อภารกิจการเฝ้าระวังรักษาความสงบ เช่น ด้านการป้องกันการก่อการร้าย การก่ออาชญากรรมข้ามชาติ การค้ายาเสพติด และการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย เป็นต้น รวมไปถึงการรักษาความสงบภายในประเทศและระหว่างประเทศ บริเวณเขตแนวชายแดน
เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ คือ การควบคุมโดรนที่ติดกล้องจากฐานปฏิบัติการภาคพื้นดิน ปัจจุบันมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทั้งในเรื่องของศักยภาพกล้องที่ถ่ายได้ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน (กล้องอินฟราเรด) และศักยภาพของแบตเตอรี่ที่ใช้ได้ยาวนานขึ้น ทำงานได้ทั้งภาคพื้นดินและท้องทะเล แต่มีข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่ครอบคลุมในการถ่ายภาพ ซึ่งหากทำงานสอดประสานกับเทคโนโลยีจากดาวเทียมแล้ว จะยิ่งเป็นการยกระดับความแม่นยำของข้อมูลทั้ง 2 ระบบ เพื่อการป้องกันตามแนวพรมแดนได้เป็นอย่างดี
ระบบเซนเซอร์ใต้น้ำ คือ การติดตั้งเซนเซอร์ไว้ใต้ท้องทะเลและผิวน้ำเป็นลักษณะเครือข่ายทำงานร่วมกัน เมื่อมีเรือวิ่งผ่านบนพื้นผิวน้ำที่ติดตั้ง เซนเซอร์ก็จะส่งสัญญาณมายังสถานีภาคพื้นดินเมื่อเปรียบเทียบกับตารางเดินเรือก็จะสามารถทำให้ทราบในทันที
การติดตั้งสถานีเรดาร์ หลักการทำงานพื้นฐานของเรดาร์ คือ การส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไปยังวัตถุเป้าหมายเพื่อระบุระยะทาง ทิศทาง และความเร็วของวัตถุนั้นๆ จากคลื่นที่สะท้อนกลับมาที่สถานีตามแนวชายฝั่ง คอยทำงานการตรวจตราเรือที่เข้ามาในน่านน้ำไทยตลอด 24 ชั่วโมง แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดพื้นที่ครอบคลุมของสัญญาณเรดาร์ และความยาวตลอดแนวชายฝั่งของทะเลไทย จำเป็นต้องติดตั้งสถานีให้ทั่วถึงครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดของการป้องกันและยังนำไปประยุกต์ใช้ในด้านอื่นๆ ได้อีกด้วย
จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีแต่ละตัวก็จะมีข้อดีและข้อด้อยที่แตกต่างกันออกไป การประยุกต์ใช้ร่วมกันจึงเป็นสิ่งจำเป็นต้องพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจะช่วยขจัดจุดอ่อนของอีกระบบได้ในตัว นอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพของการตรวจตราพรมแดนของบ้านเมืองเราทั้งในปัจจุบันและอนาคต ยังสามารถนำไปใช้ในภารกิจอื่นๆ ของประเทศได้ เช่น การดูแลทรัพยากรชายฝั่ง การจัดการภัยพิบัติตามแนวชายฝั่ง เป็นต้น
จากสถานการณ์ในตอนนี้เราคงจะต้องไม่มัวแต่เสียเวลากับเรื่องราวในอดีต หรือคอยหาต้นตอของปัญหาอีกต่อไป แต่ “เรา” ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม หรือมีที่มาต่างกัน ทุกคนต้องมีส่วนร่วมผลักดันสังคมไทยให้ไปข้างหน้าเหมือนกัน ดังนั้น “เรา” จะต้องร่วมมือกันมองไปข้างหน้า และช่วยกันค่อยๆ อุดช่องว่างของปัญหา เพื่อให้สังคมไทยกลับมาเป็นสังคมที่น่าอยู่เฉกเช่นที่เคยเป็น