‘วินด์ชิลล์’ คลุกวงในนวัตกรรม ชิงรู้ข้อมูลเร็วโตเร็ว

‘วินด์ชิลล์’ คลุกวงในนวัตกรรม ชิงรู้ข้อมูลเร็วโตเร็ว

จากสถิติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะมีผู้ป่วยอาการหนัก (Severe Case) ประมาณ 5% ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดที่ต้องรักษาตัวในห้องแยกผู้ป่วยประเภทแพร่กระจายเชื้อทางอากาศ (AIIR) ที่ได้รับมาตรฐานการรับรอง

เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อและตอบโจทย์การทำงานของแพทย์ ปัจจุบันในประเทศไทยมีห้องดูแลผู้ป่วยหนัก (ICU) แบบ AIIR จำนวนไม่กี่สิบห้อง ขณะที่สถานการณ์การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อยังพุ่งเป็นกราฟเส้นตรง มีการคาดการณ์ว่าความต้องการห้องแยกแบบ AIIR 200 ห้องเป็นอย่างน้อย เพื่อรองรับผู้ป่วย 4,000 คน

กระบวนการสร้างห้อง ICU - AIIR แบบดั้งเดิมมีความยุ่งยาก ใช้เวลานาน 3-6 เดือน ส่งผลให้ไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ทันท่วงที โดยเฉพาะกรณีมีการระบาดระลอกใหม่ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มเกินกว่าหลักร้อยทุกวัน

161046286965

จากปัญหาดังกล่าว บริษัท วินด์ชิลล์ จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจออกแบบก่อสร้างห้อง ICU แบบ AIIR มานานกว่า 18 ปี และมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดในประเทศไทย จึงได้พัฒนา “ห้องแยกผู้ป่วยติดเชื้ออาการหนักแบบถอดประกอบได้ สำหรับผู้ป่วยโควิด-19” โดยใช้เกณฑ์การออกแบบตามมาตรฐาน ASHRAE/ANSI Standard สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก อีกทั้งเลือกใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของอาคารแบบ 3 มิติ (Building Information Model - BIM) ทำให้สร้างห้องได้ในจำนวนมาก รวดเร็ว ใช้ระยะเวลาเพียง 2-4 สัปดาห์

อาศัยความ “เร็ว” แข่งกับ “เวลา”

วรเสน ลีวัฒนกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วินด์ชิลล์ จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ห้องแยกผู้ป่วยที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อความต้องการในการเตรียมการเพื่อรองรับผู้ป่วยอีกต่อไป จึงเป็นเหตุผลที่นำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งเป็นห้องแยกผู้ป่วยฯ แบบถอดประกอบได้ เป็นการออกแบบในภาวะเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนห้อง AIIR ในการรองรับผู้ป่วยโควิดอาการหนักให้กับระบบสาธารณสุขไทยในสภาวะวิกฤติได้เป็นอย่างดี

บริษัททำงานภายใต้มาตรฐานเครื่องมือแพทย์ (ISO 13485) และใช้วิศวกรที่ได้รับรอง ASHRAE Certified Professional จากสหรัฐ ในการออกแบบ ติดตั้งและทดสอบระบบ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้า เบื้องต้นได้มีการนำผลิตภัณฑ์ต้นแบบและทดสอบประเมินผลตามมาตรฐานดังกล่าวกับสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จำนวน 5 ห้อง รวม 5 เตียง โรงพยาบาลรามาธิบดี จำนวน 10 ห้อง รวม 10 เตียง และสถาบันจักรีนฤบดินทร์ จำนวน 15 ห้อง รวม 15 เตียง 

ผลิตภัณฑ์ห้องแยกผู้ป่วยติดเชื้อนี้ยังได้รับการสนับสนุนในโครงการ “วิชาการ” ภายใต้การสนับสนุนในโครงการนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า จำนวนไม่เกิน 5 ล้านบาท กำหนดระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ

วรเสน กล่าวเสริมว่า ภาพรวมตลาดในประเทศไทยก่อนเกิดโควิด-19 สำหรับห้องสะอาด (Clean room) ในโรงพยาบาล มีมูลค่า 3,000 ล้านบาทต่อปี เป็นตลาดที่ต้องการมาตรฐานสากล 25% ซึ่งเป็นกลุ่มตลาดที่ต้องการผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงสุด คิดเป็นมูลค่าประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี แต่ในช่วงการระบาดตลาดมีการเติบโตขึ้นกว่า 2 เท่า โดยเฉพาะความต้องการห้องแยกผู้ป่วยติดเชื้อทางอากาศ หรือ AIIR

“การที่บริษัทสร้าง Positioning ในการสร้างห้องแยกผู้ป่วยอาการหนัก ที่แตกต่างจากคู่แข่ง คือ ผลิตด้วยการใช้มาตรฐานสากล และสามารถใช้งานได้ทั้งห้องที่ต้องการสร้างใหม่ หรือ ปรับปรุงจากห้องที่มีอยู่เดิม”

ตั้งเป้าโตอย่างน้อย 15% ทุกปี

สำหรับแผนการตลาดจะเป็นในรูปแบบ B2B โดยบริษัทจะควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ลูกค้าเก่ามาใช้ซ้ำ ส่วนการหาลูกค้าใหม่ใช้วิธี Word of Mouth คือ ให้ลูกค้าใหม่ สอบถามคุณภาพจากผู้ใช้เดิมที่เคยใช้อยู่ ทำให้บริษัทมีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% ทุกปี ทั้งนี้สัดส่วนทางการตลาดของโปรดักท์ใหม่นี้ บริษัทยังคงมองการเป็นผู้นำในตลาด พร้อมกับตั้งเป้ายอดขายที่เติบโตอย่างน้อยปีละ 15% ทุกปี

ขณะเดียวกันกลไกการนำเสนอ และ ช่องทางการขาย เนื่องจากเป็นแบบ B2B จึงเป็นการขายที่นำเสนอตรงต่อลูกค้า ส่วนตลาด หรือ กลุ่มเป้าหมายคือ โรงพยาบาลที่เป็น International Hospital ที่ต้องการมาตรฐานสากล JCI รวมทั้งกลุ่มโรงเรียนแพทย์

ส่วนเส้นทางการต่อยอดในอนาคต บริษัทมองไปสองแนวทาง คือ 1.ใช้กลยุทธ์เดิมที่มีอยู่ขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะเอเชีย เช่น จีน มาเลเซีย เมียนมาและกัมพูชา อีกแนวทางคือ การพัฒนาไปตลาดที่ต้องการป้องกันการติดเชื้อทางอากาศ ที่ไม่ใช่โรงพยาบาล แต่สามารถใช้เทคโนโลยีเดียวกันได้ เช่น โรงเรียน สนามบิน และอาคารสำนักงาน

เมื่อเป็น “นวัตกรรม” มาตรฐานจึงสำคัญ

ส่วนมุมมองเกี่ยวกับดำเนินธุรกิจนวัตกรรม วรเสน มองว่า “นวัตกรรม” เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ทุกคนในองค์กรทำและร่วมมือในเรื่องนี้ มีการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และพัฒนา ตลอดเวลา บริษัทเป็นเจ้าของสิทธิบัตรที่จดทะเบียนแล้ว 5 สิทธิบัตร และ กำลังจะจดทะเบียนอีก 12 เรื่อง โดยมีการพัฒนานวัตกรรมทุกวัน เพราะมองว่าตลาดสินค้านวัตกรรมเป็นสิ่งที่สามารถต่อยอดได้อีกมากมาย และยังคงเป็นตลาดที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

“ห้องแยกผู้ป่วยฯ ที่ถือว่าเป็นสิ่งใหม่ในตลาด การจัดการเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ใช้ทางการแพทย์ จำเป็นต้องใช้กระบวนการควบคุมมาตรฐาน ตามเกณฑ์การผลิตเครื่องมือแพทย์ อย่างเคร่งครัด นวัตกรรมที่ใช้ต้องเป็นสิ่งที่พิสูจน์แล้วว่าไม่มีผลกระทบทางด้านลบต่อคนไข้ ซึ่งการสร้างสรรค์สิ่งใหม่จะมุ่งเน้นในเรื่องประสิทธิภาพและประสิทธิผล ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีไอทีและซอฟต์แวร์การออกแบบ CAD CAM มาบูรณาการเพื่อลดความสูญเสีย สร้างความรวดเร็ว เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน”

ส่วนความยากในการทำธุรกิจนวัตกรรม โดยเฉพาะธุรกิจทางด้านการแพทย์ จำเป็นต้องอาศัย “ความเชื่อมั่น” ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากที่สุด ดังนั้น การเลือกใช้เทคโนโลยี หรือ นวัตกรรมต่างๆ ต้องคำนึงให้ถี่ถ้วน รวมทั้งต้องมีพันธมิตรที่ดีในการดำเนินธุรกิจ

เทคโนโลยีการแพทย์ เป็นตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็ว บริษัทซึ่งเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการทางเทคนิคของ ANSI/ASHRAE สหรัฐอเมริกา ทำให้ทราบถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต นอกจากนี้ บริษัทมีศูนย์วิจัยพัฒนาเพื่อสร้างต้นแบบและทดสอบ 100% ก่อนนำเสนอสู่ตลาด จึงเป็นสิ่งที่ทําให้ “วินด์ชิลล์” แตกต่างจากคู่แข่ง

ทั้งนี้ หากหมดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดอาจส่งผลให้ความต้องการลดลงนั้น โควิดเป็น positive impact ต่อธุรกิจของบริษัท ถึงแม้การหยุดระบาดของโรค แต่หน่วยงานต่างๆ ยังคงต้องเตรียมพร้อมกับเหตุการณ์ที่พร้อมจะเกิดขึ้น เช่น การพัฒนาระบบปรับอากาศและระบายอากาศในสถานที่ต่างๆ เช่น โรงเรียน สนามบิน หรือสำนักงานจึงถือเป็นโอกาสที่ดีให้แก่บริษัทที่จะพัฒนาต่อยอดสู่โปรดักท์อื่นๆ เพิ่มเติมได้อีกด้วย