จับตา ‘หุ่นยนต์-เอไอ’ พลิกเกม ‘บริการการเงิน’
ผลการศึกษาล่าสุดโดย “ออราเคิล” เผยว่า มนุษย์เริ่ม “เชื่อถือหุ่นยนต์” มากกว่าตนเองในการบริหารการเงิน
ผลการศึกษาล่าสุดโดย “ออราเคิล” เผยว่า มนุษย์เริ่ม “เชื่อถือหุ่นยนต์” มากกว่าตนเองในการบริหารการเงิน วิกฤติโควิด-19 ก่อให้เกิดความวิตกกังวล ความเศร้า ความหวาดกลัว เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคน ปัจจัยที่เชื่อถือในการนำมาบริหารจัดการเงิน ผู้คนเริ่มทบทวนเกี่ยวกับบทบาท และความสำคัญของทีมงานฝ่ายการเงินขององค์กร และที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล
ทวีศักดิ์ แสงทอง กรรมการผู้จัดการ ออราเคิล ประเทศไทย กล่าวว่า เทคโนโลยีในปัจจุบันเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม องค์กรภาครัฐ เอกชน และผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการเงิน ทั้งในเอเชียแปซิฟิกและรวมถึงประเทศไทย มีการนำเทคโนโลยีเอไอ หรือ โซลูชั่นต่างๆ มาปรับใช้มากขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ไม่ว่าจะเป็น การบริหารจัดการการเงิน การลงทุน การออมเงิน การใช้จ่ายต่างๆ ให้เข้าสู่สังคมไร้เงินสด และ ไร้การสัมผัส (contactless society) จากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งผลงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าเอไอจะกลายเป็นตัวช่วยสำคัญให้กับผู้คน และองค์กรในการบริหารจัดการเงินในทุกด้าน รวมไปถึงการลงทุนในด้านต่างๆ ที่มีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น
"โควิด’ สร้างจุดเปลี่ยน
การสำรวจความคิดเห็นผู้คนทั่วไปและผู้นำองค์กรธุรกิจมากกว่า 2,500 คนในประเทศแทบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ระบุว่า วิกฤติการแพร่ระบาดทั่วโลก ส่งผลกระทบเชิงลบต่อความสัมพันธ์ของผู้คนกับเงินทั้งชีวิตส่วนตัวและที่ทำงาน
ผู้นำองค์กรเล็งเห็นถึงความวิตกกังวล และความตึงเครียดทางการเงินที่เพิ่มขึ้นสูง 92% รู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับองค์กรจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเรื่องที่วิตกกังวลเหมือนกันมากที่สุดคือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ล่าช้า หรือเศรษฐกิจถดถอย (57%) การตัดงบประมาณ (43%) และการล้มละลาย (26%) ส่วนผู้บริโภค 89% กำลังประสบกับความวิตกกังวลทางการเงิน ซึ่งรวมถึงการสูญเสียงาน ความกลัวเรื่องการสูญเสียเงินออม
เชื่อถือ ‘มนุษย์’ น้อยลง
ข้อมูลระบุว่า ความผันผวนทางการเงินจากวิกฤติโควิด-19 ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบของบุคคล หรือสิ่งที่มนุษย์เชื่อถือในการบริหารการเงิน โดยเริ่มมีผู้บริโภคและผู้นำองค์กรจำนวนมากขึ้นที่เชื่อถือเทคโนโลยีมากกว่ามนุษย์
โดยผู้บริโภคและผู้นำองค์กรในเอเชียแปซิฟิก 79% เชื่อถือหุ่นยนต์มากกว่ามนุษย์ ในการบริหารการเงิน ที่น่าสนใจ ผู้นำองค์กร 84% เชื่อใจหุ่นยนต์มากกว่าตนเองในการบริหารการเงิน โดยกว่า 83% เชื่อถือหุ่นยนต์มากกว่าทีมงานฝ่ายการเงิน 89% เชื่อว่าหุ่นยนต์สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของตนเองได้ ด้วยความสามารถด้านการวิเคราะห์ต้นทุน/กำไร (32%) การตรวจสอบการทุจริต (27%) และการจัดทำใบแจ้งหนี้ (25%)
ด้านผู้บริโภค 68% เชื่อถือหุ่นยนต์มากกว่าตนเองในการบริหารการเงิน โดยเกือบ 3 ใน 4 หรือ 76% เชื่อถือหุ่นยนต์มากกว่าที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล ผู้บริโภคกว่า 80% เชื่อว่าหุ่นยนต์สามารถช่วยบริหารการเงินได้ โดยเชื่อว่าหุ่นยนต์มีประโยชน์ในการตรวจสอบการทุจริต (36%) การลดการใช้จ่าย (23%) แต่กลับช่วยเรื่องการลงทุนในตลาดหุ้นได้น้อยที่สุด (19%)
บทบาทใหม่ ‘ที่ปรึกษาการเงิน’
สำหรับการปรับตัวให้ทันต่ออิทธิพลและบทบาทของเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ฝ่ายการเงินขององค์กรและที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาทักษะใหม่ๆ
ด้วยผู้นำองค์กรในเอเชียแปซิฟิก 60% เชื่อว่าหุ่นยนต์จะมาแทนที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการเงินขององค์กรในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องการจัดงบประมาณและการคาดการณ์ การอนุมัติทางการเงิน การปฏิบัติตามระเบียบและการบริหารความเสี่ยง และการรายงานผล
อย่างไรก็ดี ผู้นำองค์กรยังนิยมใช้ผู้ปฏิบัติงานด้านการเงินขององค์กรมากกว่า ในด้านการสื่อสารกับลูกค้า (41%) การต่อรองขอส่วนลด (34%) และการอนุมัติธุรกรรม (27%) ขณะที่เกือบครึ่งหนึ่ง (48%) ของผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกเชื่อว่าหุ่นยนต์จะมาแทนที่ ที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคลในอีก 5 ปีข้างหน้า
ผู้บริโภค 79% ต้องการให้หุ่นยนต์ช่วยบริหารการเงินของพวกเขา เพื่อให้พวกเขามีเวลาว่างมากขึ้น (38%) ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น (34%) และช่วยให้ชำระหนี้ตรงเวลามากขึ้น (27%)
อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังเชื่อถือที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล ในการขอคำแนะนำหรือการตัดสินใจซื้อครั้งสำคัญ เช่น การซื้อบ้าน (37%) การซื้อรถยนต์ (34%) และการวางแผนวันหยุดยาว (33%)
ดังนั้นเมื่อความสัมพันธ์กับเงินเปลี่ยนแปลง ยุคแห่งการใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อบริหารการเงินจึงได้เร่ิมต้นขึ้น องค์กรต่างๆ หันมาทบทวนแนวทางการใช้เอไอและเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการบริหารขั้นตอนทางการเงิน