'นิลมังกรแคมเปญ' โมเดลปั้น 'ธุรกิจนวัตกรรม' ภูมิภาค
“นิลมังกรแคมเปญ” หนึ่งในแพลตฟอร์มในการยกระดับนวัตกรรมภูมิภาค ขับเคลื่อนโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ ผ่านกิจกรรมการแข่งขันเฟ้นหาสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีรุ่นใหม่จาก 4 ภูมิภาคที่เติบโตบนฐานนวัตกรรม เพื่อเข้าสู่กระบวนการบ่มเพาะ
และผลักดันให้เติบโตระดับประเทศและระดับโลกต่อไป ทั้งนี้กว่าจะไปถึงความสำเร็จตามเป้าหมาย ผู้ประกอบการจะต้องที่มีความแข็งแกร่ง อดทน ปราดเปรียว ซื่อสัตย์และทรงพลังเสมือน “ม้านิลมังกร” สัตว์ในวรรณคดีไทย
แพลตฟอร์มนี้ยังเป็นการสร้างตัวอย่างการทำธุรกิจนวัตกรรมในภูมิภาค ให้คนในพื้นที่ได้เห็นถึงความสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมและได้เรียนรู้กระบวนการสร้างธุรกิจนวัตกรรม ผ่านการสื่อสารในรูปแบบของ Edutainment เพื่อให้เป็นที่น่าสนใจ เข้าถึง และเข้าใจกระบวนการสร้างธุรกิจนวัตกรรมได้ง่ายขึ้น รวมถึงเป็นพื้นที่ที่ให้สตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีในพื้นที่ได้แสดงศักยภาพด้านนวัตกรรมอย่างเต็มที่
ดันธุรกิจโต 3 เท่ากว่า 360 ล้านบาท
พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการเอ็นไอเอ กล่าวว่า หวังว่าหลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมดในโครงการ ธุรกิจที่ผ่านการคัดเลือกเข้ารอบสุดท้ายซึ่งเป็นตัวแทนของพื้นที่แต่ละจังหวัด จะมีอัตราการเติบโตทางธุรกิจอย่างน้อย 3 เท่า หรือ ประมาณการมูลค่าเพิ่ม 360 ล้านบาท จาก 12 ทีมสุดท้าย และมีแบรนด์สินค้าและบริการนวัตกรรมเป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งจะเป็นตัวแทนในการสร้างแบรนด์ให้กับพื้นที่และจังหวัดให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
โครงการมีผู้สมัครเข้าร่วมกว่า 300 ธุรกิจนวัตกรรมทั่วประเทศ แบ่งเป็น ภาคเหนือ 69 ธุรกิจจาก 10 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 92 ธุรกิจจาก 7 จังหวัด ภาคกลาง 79 ธุรกิจจาก 12 จังหวัด และภาคใต้ 55 ธุรกิจจาก 13 จังหวัด รวม 41 จังหวัดทั่วประเทศ สามารถจัดกลุ่มธุรกิจได้ 10 ประเภทธุรกิจ/อุตสาหกรรม เช่น เกษตรและอาหาร การบริการ และสุขภาพและการแพทย์ เป็นต้น คณะกรรมการได้คัดเลือกผู้สมัครที่มีความพร้อมและมีโอกาสเติบโตทางธุรกิจได้อย่างน้อย 300% จาก 300 ธุรกิจ สู่ 5 ธุรกิจนวัตกรรมของแต่ละภูมิภาค ซึ่งเปรียบเสมือน “ม้านิลมังกร” ของแต่ละพื้นที่ท้องถิ่นนั้นๆ
สำหรับผลการคัดเลือกสุดยอดธุรกิจนวัตกรรมประเทศไทยรอบภูมิภาค ได้แก่ ผลงาน “น้ำพริกส็อก by Chef May” จากบริษัท พัทธนันท์ คอนซัลติ้ง จำกัด ผู้ชนะเลิศจากภาคเหนือ ผลงาน “DryDye นวัตกรรมย้อมผ้าไม่ใช่น้ำ” จากบริษัท แซดเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ชนะเลิศจากภาคกลาง ผลงาน “Flamex” นวัตกรรมสเปรย์ดับเพลิง จาก บริษัท นาซ่าไฟร์โปรดัคส์ จำกัด ผู้ชนะเลิศจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และผลงาน “เคยนิคะ” ซอสกะปิสำเร็จรูป จาก ห้างหุ้นส่วนจำกัด เคยนิคะ ผู้ชนะเลิศจากภาคใต้
หวังปักหมุดนวัตกรรมท้องถิ่น
พันธุ์อาจ กล่าวว่า การพัฒนาผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมในระดับภูมิภาคมีความท้าทาย 6 ประเด็น คือ 1.การเข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่จะนำไปสู่การสร้างโมเดลธุรกิจใหม่และสตาร์ทอัพหน้าใหม่ 2.การเชื่อมโยงการสร้างนวัตกรรมในแต่ละภาคส่วนตั้งแต่ผู้ประกอบการ นวัตกร นักวิจัยในมหาวิทยาลัยตลอดจนผู้ให้สินเชื่อหรือแหล่งทุนในท้องถิ่น ที่ต้องมีความเข้าใจว่าเมืองหรือท้องถิ่นของเขาสามารถสร้างให้เป็นเมืองนวัตกรรม หรือเมืองที่ใช้นวัตกรรมได้
3.แต่ละภูมิภาคมีความต้องการพัฒนานวัตกรรมแตกต่างกัน ฉะนั้นการมาร่วมกันพัฒนา/เปลี่ยนแปลงกฎระเบียบระดับภูมิภาคในการทำนวัตกรรมจะทำให้สิ่งที่คิดว่าไม่น่าเป็นไปได้สามารถเกิดขึ้นได้ 4.การมีอินโนเวชั่นฮับในภูมิภาค 5.การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรมในระดับภูมิภาค เช่น อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ห้องปฏิบัติการในมหาวิทยาลัยกว่า 180 แห่ง
“สุดท้าย ตลาดนวัตกรรมในระดับเมืองและจังหวัดเล็กเกินไปสำหรับการเติบโต เราอยากให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นโดยเฉพาะในโครงการนิลมังกรมีความสามารถในการสร้างแบรนด์ออกสู่ตลาดโลก หรือการทำธุรกิจนวัตกรรมร่วมกับชาวต่างชาติที่อาศัยในไทย (expat) ที่มีศักยภาพเป็นนวัตกร เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้อินโนเวชั่นฮับที่จะเกิดขึ้นในท้องถิ่น เหมือนอย่างที่เสิ่นเจิ้นเป็นซิลิคอนวัลเลย์ด้านฮาร์ดแวร์ เราก็อยากให้เมืองหลักของเรามีฟุตพริ้นท์ หรือปัดหมุดเมืองนวัตกรรมบนแผนที่โลก ฉะนั้น นิลมังกรแคมเปญสามารถตอบความท้าทายของ 6 ข้อนี้ได้ทั้งหมด”
ตัวอย่างธุรกิจฐานนวัตกรรม
"DryDye นวัตกรรมย้อมผ้าไม่ใช่น้ำ” จากบริษัท แซดเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัดในเครือ Yeh Group ที่ตระหนักถึงปริมาณน้ำที่สูญเสียไปอย่างมหาศาลในอุตสาหกรรมย้อมผ้า ซึ่งเฉลี่ยโดยทั่วไปใช้น้ำ 25 ลิตรต่อการย้อมเสื้อ 1 ตัว จึงวิจัยพัฒนา เทคโนโลยีย้อมผ้าโดยไม่ใช้น้ำ แต่ใช้คาร์บอนไดออกไซด์ เข้าไปแทนที่การนำสีไปจับกับโครงสร้างผ้า ระบบนี้ลดการใช้พลังงานได้ถึง 50% เพราะลดขั้นตอนการทำผ้าให้แห้ง และใช้สารเคมีลดลง 50% เทียบกับการย้อมผ้าแบบดั้งเดิมในโรงงาน ไม่ทำให้เกิดมลพิษทางน้ำ ดังนั้น เสื้อ DryDye 1 ตัวจะช่วยประหยัดน้ำได้ถึง 25 ลิตร
พิชญ์สินี เย่ เจ้าของแบรนด์ DryDye กล่าวว่า นวัตกรรมนี้เกิดขึ้นสมัยที่ได้ไปดูงานที่ประเทศสิงคโปร์ จนเกิดเป็นไอเดียนำกลับมาทำเป็นธีสิสจบ พร้อมกับมองเห็นว่าในอนาคตนวัตกรรมนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาการใช้น้ำให้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอและการย้อมสีได้ จึงศึกษาอย่างจริงจังคู่ไปกับบริษัทผลิตเครื่องจักร จนออกมาเป็นเครื่องย้อมสีผ้าโดยไม่ใช้น้ำ เครื่องแรกของโลก
ถัดมา NATPIER สเปรย์กำจัดกลิ่นจากสารสกัดหญ้าเนเปียร์ ผลงานการค้นคว้าวิจัยของ หจก.เทวาหนุน ร่วมกับ อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยการนำหญ้าเนเปียร์มาสกัดเพื่อนำสาระสำคัญที่สามารถกำจัดกลิ่นได้อย่างรวดเร็วและกลิ่นเหม็นไม่กลับมา จึงเป็นการกำจัดกลิ่นอย่างแท้จริงไม่ใช่เพียงการกลบกลิ่นอย่างเช่นวิธีการเดิมๆ ตอบโจทย์กลุ่มคนรักสุขภาพที่ไม่ชอบสารเคมีสังเคราะห์ เป็นทางเลือกใหม่ที่ปลอดภัย ไร้กลิ่น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“ทรายแมวจากมันสำปะหลัง 100%” แบรนด์ Hide&Seek รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ของภาคกลาง นอกจากจะมีส่วนช่วยเพิ่มมูลค่าของมันสำปะหลังแล้ว ยังเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่ช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และมีความปลอดภัยสูงในการใช้งาน โดยสามารถใช้ได้กับแมวทุกวัย เก็บกลิ่นได้ดีเยี่ยม มีคุณสมบัติจับตัวไว ไม่เป็นโคลน และสามารถทิ้งลงชักโครก