รู้หรือไม่! 'อันตราย' จาก 'การ์ดพลังงาน'
ตามมีการโฆษณาชวนเชื่อเรื่องบัตรพลังงานโดยอ้างว่า มีสรรพคุณในการรักษาโรคโดยเฉพาะอาการปวดเมื่อย ต่าง ๆ และใช้วิธีการนำบัตรไปแกว่งในแก้วน้ำแล้วนำมาดื่ม หรือนำแก้วน้ำวางทับบนบัตรแล้วดื่ม รวมทั้งมีการนำบัตรสัมผัสกับร่างกายในจุดที่ปวดเมื่อย ปส.รุกชี้แจง!
สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ขอแจ้งข้อมูลด้านความปลอดภัยทางรังสี ให้ทราบดังนี้
1. ปกติประชาชนจะได้รับรังสีในธรรมชาติซึ่งมีต้นกำเนิดการแผ่รังสีมาจากอวกาศ พื้นดิน แหล่งแร่ในธรรมชาติ สิ่งก่อสร้าง ฯลฯ มีปริมาณรังสีเฉลี่ย 0.27 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง หรือเฉลี่ย 2400 ไมโครซีเวิร์ตต่อปี (ข้อมูลจากคณะกรรมการวิทยาศาสตร์แห่งสหประชาชาติว่าด้วยผลกระทบจากรังสี (The United Nations Scientific Committee on the Effects of Atomic Radiation, UNSCEAR)
2. การได้รับรังสีอื่นใดนอกเหนือจากธรรมชาติจึงเป็นความเสี่ยง ดังนั้น ตามหลักสากลและกฎหมายไทย กำหนดขีดจำกัดการได้รับรังสีของประชาชน อยู่ที่ 1000 ไมโครซีเวิร์ตต่อปี หรือเฉลี่ยเท่ากับ 0.5 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นการได้รับรังสีจากสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่รวมการได้รับรังสีในธรรมชาติและจากการตรวจรักษาทางการแพทย์
3.จากข้อมูลที่ ปส. เคยตรวจวิเคราะห์บัตรพลังงาน พบวัสดุนิวเคลียร์ ทอเรียม 232 (Th-232) ปริมาณรังสีแต่ละบัตร มีค่าประมาณ 0.86 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นระดับรังสีสูงกว่าในธรรมชาติประมาณ 3 เท่า ดังนั้นหากมีการนำบัตรพลังงานมาใช้ตามคำกล่าวอ้าง เช่น การนำมาสัมผัสหรือติดตามร่างกายตลอดเวลา หรือนำไปแกว่งในแก้วน้ำ จะทำให้มีการได้รับปริมาณรังสีสะสมโดยไม่จำเป็น ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งในระยะยาวได้ นอกจากนี้ ยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการหรืองานวิจัย ที่แสดงว่าบัตรพลังงานมีประโยชน์ในการรักษาทางการแพทย์ได้
ดังนั้น เพื่อลดโอกาสการเกิดผลกระทบจากรังสีต่อร่างกายในระยะยาว ปส. ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการใช้สินค้าที่มีส่วนผสมของวัสดุกัมมันตรังสี หรือวัตถุอันตราย เพราะนอกจากจะไม่เกิดประโยชน์หรือความคุ้มค่าแล้ว อาจได้รับรังสีโดยไม่จำเป็น ซึ่งมีปริมาณสูงกว่าระดับรังสีที่มีอยู่ตามธรรมชาติ
หากประชาชนสงสัย พบเห็นหรือมีบัตรพลังงานหรือบัตรสมาร์ทการ์ดที่มีสารกัมมันตรังสีเป็นส่วนประกอบ สามารถโทรแจ้งสายด่วนเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ที่หมายเลข 1296 (ตลอด 24 ชั่วโมง) เพื่อรับทราบแนวทางการดำเนินการให้เกิดความปลอดภัยต่อไป หรือติดต่อขอรับบริการจัดการกากกัมมันตรังสี ที่สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)