‘อีทราน’ สองล้ออีวีพันธุ์ไทย ชิมลางธุรกิจให้เช่าจยย.รับจ้าง

‘อีทราน’ สองล้ออีวีพันธุ์ไทย ชิมลางธุรกิจให้เช่าจยย.รับจ้าง

หลายคนคงจะคุ้นหน้าคุ้นตารถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ายี่ห้อ ETRAN(อีทราน)ด้วยการนำทัพของ “สรณัญช์ ชูฉัตร”ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด สตาร์ทอัพสัญชาติไทย ก่อตั้งปี 2559 ภายใต้แนวคิดผลักดันโลกไปในทิศทางที่ดีกว่า- Drive The Better world

162126221980

สรณัญช์ เล่าว่า จุดเริ่มต้นของชื่อ “อีทราน” มาจากการมองว่าเรื่องที่กำลังทำเป็นสิ่งที่ยาก จึงนึกถึงคำว่า Mission Impossible ภาพยนตร์แอคชั่นที่มีตัวละครหลักคือ “อีธาน ฮันท์” ที่แม้จะได้โจทย์ยากแต่ก็สามารถคลี่คลายมิชชั่นได้เสมอ จึงมีความเชื่อว่า “สิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ จะทำให้เป็นไปได้”

Red Dot การันตีความสวย

ในปี 2563 ETRAN PROM มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่ออกแบบเพื่อการขนส่งสาธารณะคันแรกของโลก ได้รับรางวัล Red Dot Design Award ประเภทผลิตภัณฑ์นวัตกรรมยอดเยี่ยม และได้การสนับสนุนงบประมาณวิจัยจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและ นวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กว่า 16 ล้านบาท เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่จะนำไปสู่การลดต้นทุน และสร้างมาตรฐานให้สามารถแข่งขันในประเทศได้

162126224347

ย้อนไปในปี 2562 อีทรานได้เปิดจองมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ารุ่น KRAF สำหรับผู้ขับขี่ทั่วไป ตั้งเป้าจะส่งมอบรถรุ่นนี้ปลายปี 2564 และรุ่น MYRA จับกลุ่มไรเดอร์ดิลิเวอรี่จึงออกแบบให้รองรับอุปกรณ์พิเศษ เช่น กล่องขนส่ง ตั้งเป้าลอนซ์เดือน มิ.ย.ที่จะถึงนี้ในเขตกรุงเทพฯ 100 คัน คาดว่าอนาคตอีก 3-4 ปี จะมีจำนวนกว่า 5 พันคัน รวมทั้งจะมีการขยายสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ 100 สถานีในเขตกรุงเทพฯ ภายใน 3 ปี พร้อมนำพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการชาร์จ ซึ่งในเฟส 1 ปีนี้จะนำร่องประมาณ 3 จุดในเขตกรุงเทพฯ

“ทั้งหมดนี้มองเป้าหมายเติบโตไปพร้อมกับภาคการขนส่ง Last mile delivery กว่า 1 หมื่นคัน ภายในปี 2567 โดยตามแผนการดำเนินธุรกิจ อีทรานตั้งเป้ารายได้เกิน 50% ของตลาดมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าภายใน ปี 2568 ด้วยยอดขาย 1 แสนคัน พร้อมกับในปี 2565 ตั้งเป้ารายได้อยู่ที่ 400-500 ล้านบาท และคาดว่าจะแตะ 1,000 ล้านบาทในปี 2566”

162126226880

สรณัญช์ เสริมว่า กลุ่มเป้าหมายหลักคือ 1.กลุ่มขนส่ง (ดิลิเวอรี่) ที่ส่วนหนึ่งจะเปิดเป็นโมเดลให้เช่าขับขี่มีทั้งเช่าตรงผ่านอีทรานและเช่าผ่านคอร์ปอเรท และอีกส่วนเป็นการขาย 2.กลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ (Public Motorcycle Taxi) 3.ภาครัฐ 4.กลุ่มคนรักรถ (Performance Bike Lover)

ขณะเดียวกันประเด็นสำคัญนั่นคือ “แบตเตอรี่” หากวันหนึ่งแบตเตอรี่เสื่อมนั่นคือขยะของโลก อีทรานจึงมีแผนที่จะนำแบตเตอรี่มาแพ็คใหม่เป็นชุดเล็กขนาด 12 โวลต์ หรือ 24 โวลต์ ส่งไปที่บ้านที่มีหลังคาโซลาร์เซลล์ หรือใช้งานในรูปแบบอื่นๆ ทำให้อายุการใช้งานของแบตเตอรี่ยาวมากขึ้น ผ่านการนำกลับมาใช้ใหม่

ระดมทุนซีรีส์ A กว่า 100 ล้านบาท

162126234473

ล่าสุดอีทรานได้ปิดการระดมทุนรอบซีรี่ย์ A มูลค่าราว 3.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 100 ล้านบาท จาก 2 นักลงทุนรายใหญ่ ได้แก่ บริษัท เอ็น.ดี.รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NDR ผู้ผลิตและจำหน่ายยางล้อรถมอเตอร์ไซค์สัญชาติไทย มูลค่า 60.2 ล้านบาท (Share Swap) และ Angle investor มูลค่า 43 ล้านบาท การระดมทุนครั้งนี้เป็นผลมาจากความเชื่อมั่นในศักยภาพของอีทรานทั้งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงเทรนด์อีวีที่กำลังเติบโตทั่วโลก 

เงินทุนที่ได้มานี้จะนำไปใช้ 3 ประเด็นมุ่งสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับธุรกิจ คือ 1.การผลิตเชิงพาณิชย์เพื่อที่จะส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับพัฒนาเทคโนโลยีมอเตอร์และแบตเตอรี่สมรรถนะสูง 2.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ สถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ 3.การตลาด ผ่านเครื่องมือดิจิทัลใหม่ๆ ผสมกับแบรนด์ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับสังคมได้ในระดับหนึ่ง อีกทั้งเน้นอีเวนท์ การสร้างแคมเปญ การสร้างคอมมูนิตี้ผู้ที่สนใจมอเตอร์ไซค์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สร้างโลกที่ดีกว่าผ่านสปิริต

162126230816

อาร์ชวัส เจริญศิลป์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อีทราน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า นโยบายส่งเสริมอีวีในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้ตลาดมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วย 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1. ภาครัฐ เดินหน้านโยบายจริงจังผ่าน คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ที่ให้สัญญาณที่ชัดเจนต่อภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน การให้ผลตอบแทนผ่านกระบวนการทางภาษี ทั้งวางเป้าหมายผลักดันประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตอีวีของภูมิภาคอาเซียน พร้อมวางเป้าหมายสนับสนุนให้มีการใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในประเทศ 1.8 ล้านคัน ภายใน 3 ปี

2. ภาคผู้ผลิต เริ่มมีรถอีวีในแผนการพัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์ เพื่อทำการตลาดในประเทศมากขึ้น 3. ภาคผู้บริโภค เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้นประกอบกับเทคโนโลยีมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคมั่นใจต่อศักยภาพของอีวี และประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้รถ

ภาครัฐควรให้การสนับสนุน 1.สถานีชาร์จ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจและกระตุ้นให้เกิดการใช้งาน 2.ภาษี เช่น ภาษีสรรพสามิต 3.การจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งนี้ในแง่กฎหมายไทยเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า อาจจะต้องดูถึงเรื่องของการขอทะเบียน ที่ต้องทำให้รวดเร็วขึ้น อีกทั้งกฎหมายเกี่ยวกับการจราจรต่างๆ

"ธุรกิจนี้เป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่ จึงต้องอาศัยพลังในการสื่อสารกับผู้บริโภคและสังคม ผ่านการโปรโมทแบรนด์ ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาอีทรานเป็นผู้ชนะจาก โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ในเรื่องของ Low Carbon Lifestyles Challenge ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จึงบอกได้ว่าสิ่งที่ “อีทราน” ทำไม่ได้ทำแค่รถ แต่พยายามสร้าง “สังคม” ที่ยั่งยืนภายใต้ “มาตรฐานของสหประชาชาติ