‘ดีแทค’ชู‘เมกะเทรนด์’พลิกธุรกิจ เร่งลดเหลื่อมล้ำ-มุ่งสิ่งแวดล้อม
“ดีแทค” เผยความท้าทายสำคัญโลกยุคหลังโควิด-19 ที่องค์กรต้องเจอ ชูแนวคิดทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบ เร่งเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ ลดเหลื่อมล้ำดิจิทัล ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ระบุช่วงล็อคดาวน์ยอดใช้งานผ่านดิจิทัลสูงกว่า 40% เล็งขยายโครงข่าย 700 เข้าถึงพื้นที่ห่างไกล
ความท้าทายที่หลายองค์กร อาจต้องเผชิญหรือปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงาน หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วง 1 ปีกว่าที่ผ่านมานั้น หลายคนเริ่มเคยชินกับคำว่า “นิว นอร์มอล” มีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการทำงานจากที่บ้าน หรือที่อื่นๆ ดังนั้นความปกติรูปแบบที่จะเข้ามาในอนาคต จำเป็นต้องสร้างความตระหนักรู้ และเตรียมพร้อมรับมือต่อรูปแบบการทำงานที่อาจเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา “ดีแทค” ได้เผยถึง 3 แนวโน้มสำคัญของโลกที่ภาคธุรกิจต้องเผชิญยุคหลังวิกฤติโควิด-19 และพร้อมประกาศจุดยืนภายใต้แนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ
นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวภายในงานเสวนาออนไลน์ “Dtac Responsible Business Virtual Forum 2021” พลิกวิกฤติเศรษฐกิจสู่แนวคิดใหม่เพื่อองค์กรธุรกิจที่ยั่งยืนที่จัดขึ้นโดยดีแทค ว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้เห็นความสามารถของมนุษย์ในการปรับตัว และยืนหยัดเพื่อต่อสู้เพื่อให้อยู่รอด เห็นได้จากอัตราการใช้งานช่องทางดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งโควิด-19 ระลอกใหม่ ยิ่งเป็นตัวเร่งผู้ใช้บริการสู่การใช้ดิจิทัลมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ตัวเลขของดีแทค พบว่า มียอดดาวน์โหลดดีแทคแอพโตขึ้น 40% ลูกค้ามีการใช้งานในส่วนของ โปรดักส์ทิวิตี้ แอพ เพิ่มขึ้นเป็นเลขสามหลักในระยะของการล็อกดาวน์ที่ผ่านมา และในปี 2563 การใช้งานดาต้าก็เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ขณะที่การทำงานของดีแทค ยังยึดเรื่องความปลอดภัยของพนักงานเป็นสำคัญ โดยพนักงานดีแทค 95% ทำงานจากที่บ้านท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19
ขณะที่ การทำงานของดีแทคช่วงผ่านมา พบปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น แม้โควิด-19 จะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลอย่างรวดเร็วในภาครัฐและเอกชน แต่ในกลุ่มคนชายขอบ และกลุ่มเปราะบางยังต้องได้รับการแก้ไข นี่คือสิ่งที่ดีแทคมองว่าเป็น “ความรับผิดชอบร่วม” เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงบริการดิจิทัลได้ง่ายและปลอดภัย โดยดีแทคร่วมแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลผ่าน “ดิจิทัล อีโคซิสเต็มส์” ที่ทำให้ผู้ใช้งานสนุก มีปฏิสัมพันธ์ร่วม และตรงกับความต้องการเฉพาะ
ดังนั้น ในพื้นที่ชนบทหรือห่างไกล ดีแทค ได้พัฒนาโครงข่ายบนคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ เสริมศักยภาพด้านความครอบคลุมได้มากยิ่งขึ้น ช่วยพัฒนาประสบการณ์การใช้งานในพื้นที่ห่างไกล ขณะที่ผ่านมา ดีแทคมีโครงการ Safe Internet ช่วยให้เด็กมีภูมิคุ้มกันในการท่องโลกออนไลน์ รวมถึงโครงการดีแทคเน็ตทำกินติดอาวุธทางดิจิทัลให้แก่ผู้ประกอบการรายเล็กด้วย
เปิด 3 เมกะเทรนด์เปลี่ยนธุรกิจ
นายชารัด กล่าวว่า วิกฤติดังกล่าวนับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่สำหรับภาคธุรกิจไทย ที่ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ให้สอดคล้องกับเมกะเทรนด์ พร้อมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ความท้าทายที่เกิดขึ้นได้เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในภาคธุรกิจ โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 แนวโน้มสำคัญ คือ
1.วิกฤติโควิด-19 ได้เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของภาคธุรกิจ โดยการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) มีบทบาทมากขึ้นในโลกธุรกิจ ดังจะเห็นได้จากการควบรวมกิจการต่างๆ ในระดับภูมิภาค เช่น ความสนใจในธุรกิจโทรคมนาคมของบริษัทพลังงาน การควบรวมธุรกิจระหว่าง Digi และ Celcom ในมาเลเซีย ขณะที่ แกร็บ (Grab) สตาร์ทอัพยูนิคอร์นสัญชาติมาเลเซียนั้น มีแผนการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะครั้ง (IPO) ที่ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก
2. ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลที่กว้างขึ้น (Digital Divide) วิกฤติโควิด-19 เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรม โดยทั้งภาครัฐและธุรกิจต่างส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีในการกระตุ้นการเปลี่ยนผ่านดิจิทัล อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์การดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนชายขอบและกลุ่มเปราะบางที่เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต หรือขาดความรู้ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพ
3. ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน (Climate change) ต่อห่วงโซ่อุปทานโลก นอกเหนือจากวิกฤติโควิด-19 ประเทศไทยยังเผชิญกับภาวะโลกร้อนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันได้ส่งผลกระทบตามแนวชายฝั่งและระบบนิเวศทางการเกษตรที่เปราะบาง และในอนาคตอันใกล้นี้ การเปลี่ยนแปลงทางสภาวะอากาศอาจส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังเช่นในวิกฤตมหาอุทกภัยในปี 2554 ซึ่งส่งผลให้เกิดการขาดแคลนฮาร์ดไดรฟ์ไปทั่วโลก
กางแผนรับ “ยุคนิวนอร์มอล”
นายชารัด อธิบายเพิ่มเติมว่า ดีแทคได้กำหนดหลักการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible business) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถในการยืนหยัดท่ามกลางความไม่แน่นอน และสร้างความไว้วางใจแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ประกอบด้วย 7 เสาหลัก ได้แก่ 1. การสร้างบรรทัดฐานใหม่ด้วยหลักธรรมาภิบาล 2. การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล 3. การสร้างความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน 4. การสร้างสังคมดิจิทัลสำหรับทุกคน 5. การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ 6. สิทธิมนุษยชน และ 7. การสร้างสุขภาวะในที่ทำงาน
โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จากข้อมูลของสมาคมจีเอสเอ็มเอ ระบุว่า อุตสาหกรรมโทรคมนาคมนั้นใช้พลังงานไฟฟ้าคิดเป็น 4% ของโลก และกลายมาเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย โดยประเทศไทยนั้นมีอัตราการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเสาสัญญาณ เพื่อเร่งการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนในประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 7% ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยของโลกซึ่งอยู่ที่ 4.2% อันเป็นผลมาจากการหันมาใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในอัตราเร่ง และการพัฒนาเทคโนโลยี 5จีซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลให้อัตราการใช้พลังงานสูงขึ้นไปอีก
ในช่วงโควิด-19 ระลอก 3 ลูกค้าดีแทคมีอัตราการใช้ดาต้าเฉลี่ยพุ่งสูงถึง 20 กิกะไบต์ต่อคนต่อเดือน ซึ่งตัวเลขการเพิ่มขึ้นดังกล่าวส่งผลต่อการใช้พลังงานในการให้บริการโครงข่ายที่ปัจจุบันมีสัดส่วนสูงถึง 97% ของกระบวนการการดำเนินธุรกิจทั้งหมดของดีแทค ด้วยเหตุนี้ ดีแทคจึงได้กำหนดเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 50%
โดยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ 50% ภายในปี 2573 ผ่านการใช้พลังงานทางเลือก เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในส่วนงานบริหารโครงข่าย คอลเซ็นเตอร์ และแสวงหาความร่วมมือข้ามอุตสาหกรรมในการนำเทคโนโลยี 4จี 5จี ร่วมกับโซลูชันไอโอที เพื่อสร้างระบบการจัดการพลังงานน้ำและไฟฟ้าอัจฉริยะช่วยอุตสาหกรรมอื่นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย
นอกจากนี้ ภายใต้แผนงานการจัดการผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ดีแทคยังเร่งเดินหน้าลดปริมาณการทิ้งขยะทั่วไปจากสำนักงานและขยะอิเล็กทรอนิกส์แบบฝังกลบเป็นศูนย์หรือ zero landfill ภายในปี 2565 โดย 80% ของขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดของดีแทคนั้น คือ ซากอุปกรณ์โครงข่าย