'ดีแทค' หนุนแผนกรีน เทคโนโลยี เร่งยุทธศาสตร์ลด 'ก๊าซเรือนกระจกลง 50%'
การมาถึงของเทคโนโลยี 5จี เปลี่ยนโฉมหน้าของธุรกิจไปอย่างมากมาย และที่สำคัญกำลังเปลี่ยนโฉมหน้า “โลก” ของเราไปอย่างรวดเร็ว
โลกที่ก้าวสู่ “ดิจิทัล” อย่างเต็มรูปแบบเหมือน การมาถึงของเทคโนโลยี 5จี เอไอ ไอโอที หรือ บล็อกเชน เปลี่ยนโฉมหน้าของธุรกิจไปอย่างมากมาย และที่สำคัญกำลังเปลี่ยนโฉมหน้า “โลก” ของเราไปอย่างรวดเร็วกลายเป็นปัญหาเกิด ภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือ Climate change ให้ยิ่งทวีความรุนแรงเป็นเท่าตัว
มุ่งหน้าสู่พลังงานสะอาด
ชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นนั้น จากข้อมูลของสมาคมจีเอสเอ็มเอ ระบุว่า อุตสาหกรรมโทรคมนาคมนั้นใช้พลังงานไฟฟ้าคิดเป็น 4% ของโลก และกลายมาเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย
โดยประเทศไทยนั้นมีอัตราการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเสาสัญญาณเพื่อเร่งการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนในประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 7% ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยของโลกซึ่งอยู่ที่ 4.2% อันเป็นผลมาจากการหันมาใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในอัตราเร่ง โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยี 5จี
อย่างไรก็ดี ดีแทคตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งได้กำหนดหลักการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบที่เป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถในการยืนหยัดท่ามกลางความไม่แน่นอน โดยประกอบด้วย 7 เสาหลัก และหนึ่งในนั้นก็คือเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ
"ดีแทคและกลุ่มเทเลนอร์ฯ มีแผนตั้งเป้าในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ 50% ภายในปี 2573 ผ่านการใช้พลังงานทางเลือก เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในส่วนงานบริหารโครงข่าย สร้างโซลูชันไอโอทีเพื่อสร้างระบบการจัดการพลังงานน้ำและไฟฟ้าอัจฉริยะ เพื่อช่วยอุตสาหกรรมอื่นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย"
พร้อมเป็นฟันเฟืองแก้ปัญหา
นายประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทคโนโลยี ดีแทค กล่าวว่า ท่ามกลางปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก ดีแทคพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา โดยกำหนดให้ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมอยู่กรอบการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Business Practice) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่ดีแทคมีการจัดทำนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม และใช้ระบบ Environment Management System (EMS) เพื่อประเมินความเสี่ยงด้านที่อาจเกิดขึ้นจากกระบวนการดำเนินธุรกิจ
นอกจากนี้ ดีแทคจึงได้กำหนดเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ภายใต้แผนงานการจัดการผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ดีแทคเดินหน้าจะลดปริมาณการทิ้งขยะทั่วไปจากสำนักงานและขยะอิเล็กทรอนิกส์แบบฝังกลบเป็นศูนย์หรือ zero landfill ภายในปี 2565 โดย 80% ของขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดของดีแทคนั้นคือซากอุปกรณ์โครงข่าย สำหรับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ของดีแทคจะเกิดขึ้นตลอดกระบวนการดำเนินธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
เขา กล่าวอีกว่า ดีแทคได้เริ่มโครงการนำร่องเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในด้านต่างๆ เพื่อลดการใช้พลังงาน เช่น การใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เช่น การลดจำนวนชุมสายจาก 6 แห่ง เป็น 2 แห่งทั่วประเทศรวมไปถึงในปีนี้เราได้ทดลองติดตั้งแผงโซล่าร์ เซลล์ ในบางจุดเพื่อจ่ายไฟใช้งานร่วมกับกริดปกติ เพื่อทดสอบความคุ้มทุนและปัจจัยต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อโครงข่ายว่ามีมากน้อยหรือไม่อย่างไร
ขยายสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวเสริมว่า สำหรับประเทศไทยเอง ก็ได้มีการกำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยเรือนกระจกเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรกตั้งเป้าลดให้ได้ 7-20% ในปี 2563 ที่ผ่านมา และจากนั้นตั้งเป้าหมายลดเพิ่มเป็น 2573 อีก 20-25%
พร้อมทั้ง ได้กำหนดแนวทางขับเคลื่อนสู่การเป็นประเทศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ (Net-zero emission) ทั้งสิ้น 6 ด้าน 1.การปรับพอร์ตการผลิตไฟฟ้าและการใช้เชื้อเพลิงต่ำ 2. การเพิ่มสัดส่วนยานต์ยนต์ไฟฟ้า 3. การบริหารจัดการของเสียผ่านโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) หรือ BCG
4.การใช้ฟลิตภัณฑ์และบริการที่เกิดคาร์บอนต่ำ 5. การมุ่งสู่การลดอัตราการใช้เชื้อเพลิง และมุ่งสู่การทำเกษตรแบบอัจฉริยะ (สมาร์ท ฟาร์มมิ่ง) 6.การดักจับ กักเก็บ ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีไฮโดรเจน โดยกระทรวงพลังงานเองมีแผนเพิ่มเป้าหมายสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนจาก 20% เป็น 50% เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวให้ได้