ไตรมาสแรก 'แอพมือถือ' โตพุ่ง 31% - อีคอมเมิร์ซ ฟินเทค เกม ดาวรุ่ง
“แอดจัสต์” เผยเศรษฐกิจแอพทั่วโลกโตก้าวกระโดด เกม อีคอมเมิร์ซ ฟินเทค ธุรกิจดาวรุ่ง แนะนักการตลาดนำข้อมูลอินไซต์พฤติกรรมผู้ใช้สร้างกลยุทธ์ แคมเปญ เพิ่มการเข้าถึงลูกค้ารายบุคคล
สำหรับปีนี้เทรนด์การตลาดที่น่าสนใจจะสอดคล้องไปกับการอัพเดทระบบปฏิบัติการใหม่ของค่ายแอ๊ปเปิ้ล รวมไปถึงการส่งเสริมการตลาดผ่านระบบอัตโนมัติที่ต้องเข้าใจถึงพฤติกรรมที่เกิดขึ้นภายในแอพ โดยประสบการณ์ผู้ใช้งานทั้งหมดที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าที่เคยเป็นมา
รายงานระบุว่า แอพฟินเทคมีอัตราเติบโตที่โดดเด่น โดยเติบโตได้มากกว่าแอพทุกประเภทเมื่อเทียบปีต่อปี ด้วยจำนวนการติดตั้งที่เติบโตถึง 51% ในปี 2563 ขณะที่เมื่อถึงปี 2564 การติดตั้งก็ยังคงการเติบโตขึ้นอีก 12% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในปีที่แล้ว การเติบโตดังกล่าวมีการคาดการณ์ว่าปัจจัยหนุนมาจากการใช้งานของบรรดาแอพซื้อขายหุ้นต่างๆ
ด้านการเปิดใช้งาน(session) กล่าวได้ว่าแอพฟินเทคเบ่งบานอย่างมาก ซึ่งแสดงถึงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคของธนาคารดิจิทัลและการชำระเงินออนไลน์อย่างแท้จริง จากสถิติพบว่ามีการใช้งานเพิ่มขึ้น 85% ในปีที่แล้วและในปีนี้มีอัตราเพิ่มขึ้นถึง 35%
ขณะที่แอพประเภทเกม มีอัตราการเติบโตที่โดดเด่นไม่แพ้กัน โดยเฉพาะเกมแนวไฮเปอร์แคชชวล (hyper casual) โดยการติดตั้งพุ่งสูงขึ้นถึง 43% เมื่อเทียบกับเกมแนวอื่นๆ ด้านการเปิดใช้งานเพิ่มขึ้นถึง 36% ขณะที่เกมกลุ่มอื่นเพิ่มขึ้น 27% ส่วนปีนี้การเข้าใช้งานของแกมแนวไฮเปอร์แคชชวลเริ่มแผ่วลงโดยเติบโตเพียง 21%
เขากล่าวว่า การติดตั้งแอพอีคอมเมิร์ชนั้นเติบโตเพียง 6% ในปีที่แล้ว แต่ผลการดำเนินงานนั้นยังคงเส้นคงวาตลอดทั้งปี โดยการเข้าใช้งานเติบโตถึง 44% แสดงให้เห็นถึงกระแสของการมีส่วนร่วมจากบรรดานักช้อปบนมือถือ ส่วนปีนี้ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งการติดตั้งที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11% และการใช้งานที่เพิ่มขึ้น 14%
พร้อมระบุว่า เมื่อระบบนิเวศของมือถือมาถึงจุดที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดมากขึ้น แอพที่สร้างมาเพื่อขับเคลื่อนข้อมูลและกลยุทธ์ที่เน้นยูสเซอร์เอ็กซ์พีเรียน จะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเรื่องสำคัญในอันดับต้นๆ ด้วยข้อมูลเชิงลึกที่บ่งบอกถึงพฤติกรรมของผู้ใช้งานภายในแอพ ช่วงเวลา และเหตุผลที่พวกเขากลับมาใช้ นักการตลาดสามารถนำไปสร้างกลยุทธ์ที่ครอบคลุม ผสมผสานแคมเปญที่มีความเฉพาะตัวและสื่อสารเพื่อสร้างความมั่นใจต่อแบรนด์สินค้า