‘ซัพพลายเชน’ ยุคใหม่ ปรับตัว ยืนหยัด รับทุกวิกฤติ
ซัพพลายเชนเป็นตัวแปรสำคัญในการทำให้ธุรกิจมีความยั่งยืน และดีแทคให้ความสำคัญต่อประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทาน โดยมีการกำหนดมาตรฐานเข้มงวดในการทำงานกับคู่ค้า ซึ่งครอบคลุมมิติด้านสิทธิแรงงานและข้อมูลส่วนบุคคล
วิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 สร้างผลกระทบที่รุนแรงไปทุกอุตสาหกรรม เกิดคำถามคือ “ธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตจะปรับตัวอย่างไรเพื่อรับมือกับโรคระบาดที่ส่งผลกระทบไปในวงกว้าง แล้วมาตรฐานใหม่ที่จะสร้างความอยู่รอดและยั่งยืนควรเป็นอย่างไร?”
ทิพยรัตน์ แก้วศรีงาม รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานขาย บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า การมาของโควิด-19 แสดงได้เห็นว่าการบริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมทวีบทบาทสำคัญและกลายเป็นแกนหลักที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้
สำหรับดีแทค ดำเนินงานโดยมุ่งเน้น 3 มิติ ได้แก่ 1. การให้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยได้ปรับเปลี่ยนวิถีการทำงานและปัจจุบันพนักงานดีแทคกว่า 95% นั้นสลับระหว่างการทำงานที่บ้านและในสำนักงาน 2. การปรับแผนกระจายสินค้าและจุดบริการตามการโยกย้ายพื้นที่ของผู้ใช้งาน และเพิ่มจุดกระจายสินค้าอย่างรวดเร็วเพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้บริการได้ทุกสถานการณ์ และ 3. เร่งผลักดันให้ลูกค้าและคู่ค้าทั้งซัพพลายเชนเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ผ่านการกระตุ้นการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลในการทำธุรกรรมให้มากที่สุด
นอกจากนี้ ให้ความสำคัญต่อประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทาน โดยมีการกำหนดมาตรฐานเข้มงวดในการทำงานกับคู่ค้า ซึ่งครอบคลุมมิติด้านสิทธิแรงงานและข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อลดความเสี่ยงและเสริมแกร่งความสามารถในการปรับตัว โดยประกาศภารกิจพิชิต 0 คือ จะไม่มีผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บจากการทำงานในซัพพลายเชนของดีแทค ไม่มีการคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ เป็นต้น
“เรานำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยขับเคลื่อนธุรกิจแบบเรียลไทม์ มีการยกเครื่องระบบไอที การบริหารจัดการ รวมถึงการให้บริการ ขณะเดียวกันมีความตระหนักว่าจากต้นนำ้จนถึงปลายน้ำมีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจำนวนมากทั้งพนักงาน บริษัทผู้ผลิตสินค้า การขนส่ง ซัพพลายเออร์ รวมถึงผู้ใช้บริการ”
แนะ ‘เปิดเผย-ชัดเจน’
ดร.กฤษฎา เสกตระกูล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ซัพพลายเชนเป็นตัวแปรสำคัญในการทำให้ธุรกิจมีความยั่งยืน เมื่อเข้าใจและเห็นภาพของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกมิติจะทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยที่สำคัญคือ การเปิดเผยและสร้างความชัดเจนในรายละเอียดของซัพพลายเชน ซึ่งจะมีส่วนสำคัญทำให้สามารถเห็นรายละเอียดของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ดียิ่งขึ้น สำหรับดีแทคได้เห็นว่ามีการขับเคลื่อนหลากหลายโครงการที่สร้างประโยชน์ในหลากหลายมิติ
“โควิด-19 เป็น Business shock ที่ส่งผลอย่างมากต่อซัพพลายเชน ทุกบริษัทต่างได้รับผลกระทบ ผลักดันให้ต้องปรับตัวหันไปเวิร์คฟรอมโฮม ปรับเปลี่ยนวิธีการให้บริการ ถูกบับคับให้เข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ ขณะเดียวกันต้องบริหารจัดการสภาพคล่องใหม่ หรือบางรายที่กระทบหนักต้องลดต้นทุน ปรับเปลี่ยนกำลังคน ฯลฯ”
สำหรับตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมกับบริษัทจดทะเบียนต่างๆ เพื่อการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน ภายใต้ 4 แกนหลักคือ การสร้างมาตรฐานเพื่อกำหนดกรอบทำงาน, ส่งเสริมการนำไปปฏิบัติ, การเปิดเผยข้อมูลให้รับทราบโดยทั่วกัน, และส่งเสริมประเมินผลเพื่อให้รางวัล
พิทักษ์ ’สิทธิมนุษยชน’
เจรามี เพรพซิอุส รองประธานภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกและฮ่องกง บีเอสอาร์ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 แสดงให้เห็นว่าความสามารถในการปรับตัวมีความสำคัญอย่างมาก นอกจากประเด็นเชิงธุรกิจ ยังต้องคำนึงถึงมุมของสิทธิมนุษยชน โดยต้องให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงพนักงานและชุมชนที่เข้าข่ายความเสี่ยง
“หลักๆ คงเป็นเรื่องของการปรับตัว ค่านิยมการซื้อ การจ่าย การได้รับ และความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นว่ามีอะไรอยู่บ้าง รวมไปถึงการจัดการ การทำความเข้าใจ การบริหารด้านการเงิน สภาพคล่อง คุณภาพชีวิต และการวางแผนเพื่อรองรับอนาคต”
เขากล่าวว่า รัฐบาลและภาคเอกชนต่างมีหน้าที่ร่วมกันในการพิทักษ์สิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการสร้างค่านิยม นโยบาย การบูรณาการบริหารจัดการที่จะช่วยส่งเสริมและเพิ่มการเข้าถึงอย่างเท่าเทียม
โดยอันดับแรกต้องเข้าใจถึงซัพพลายเชนของตนที่มีความต่างกันออกไปในแต่ละอุตสาหกรรม เข้าใจประเด็นปัญหา การสร้างคุณค่า มาตรฐานที่ดี การลงทุนที่ช่วยลดความเสี่ยง การสร้างการมีส่วนร่วม ด้านขอบข่ายการทำงานต้องให้ความสำคัญไปถึงพนักงานครอบครัว ชุมชน เพื่อทำให้เกิดผลดีไปทั้งภาพรวม