‘สมาร์ท บิน’ อัจฉริยะบริหารจัดการขยะด้วย ‘เอไอ-ไอโอที’
“ขยะล้น” ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทย แต่ทั่วโลกเองก็กำลังเผชิญกับปัญหาแบบเดียวกัน แต่ละประเทศก็มีนโยบาย รวมถึงคิดค้นนวัตกรรมในการจัดการขยะที่แตกต่างกันไป เช่นเดียวกันกับ “ระบบจัดเก็บและบริหารจัดการขยะ” (Smart bin system)
ที่ประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเอไอร่วมกับไอโอทีเพื่อตอบโจทย์ปัญหาขยะ 3 ข้อคือ 1.ไม่แยก 2.ไม่รู้ และ 3.ไม่มีข้อมูลวางแผน
รุ่งโรจน์ กรุงเกษม วิศวกรออกแบบเครื่องจักร บริษัทยูเรกา ออโตเมชั่น จำกัด ขยายความว่า ไม่แยก หมายถึง ไม่มีการคัดแยกขยะที่ถูกประเภทก่อนทิ้งลงถัง ซึ่งกลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นให้กับการจัดเก็บและการรีไซเคิล ยกตัวอย่างเช่น ขยะมูลค่าสูงอย่างกระป๋องอะลูมิเนียมที่ทิ้งปะปนกับเศษอาหาร เมื่อนำไปรีไซเคิลจะต้องทำการล้างและคัดแยกเศษอาหารที่ปะปนออกมา ต้องใช้เวลาและกระบวนการเป็นจำนวนมาก
ดังนั้น เพื่อเป็นการประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายและทรัพยากรในกระบวนการจัดเก็บและรีไซเคิล จึงได้คิดวิธีการที่จะทำให้ถังขยะสามารถคัดแยกขยะประเภทต่างๆ ผ่านเทคโนโลยีเอไอ หลักการทำงานคือ กล้องที่ติดอยู่ที่ถังขยะจะตรวจจับและส่งสัญญาณภาพไปให้ระบบประมวลผล ถ้าขยะเป็นชนิดเดียวกันกับที่ตั้งค่าไว้ในฐานข้อมูล ถังขยะจะเปิดฝาให้ผู้ใช้สามารถทิ้งขยะได้ แต่ถ้าเป็นขยะผิดประเภทกับที่กำหนด ฝาถังก็จะไม่เปิด ด้วยวิธีการนี้จะช่วยลดต้นทุนในการรีไซเคิลขยะได้ถึง 40%
‘ลีน’ ขจัดความสูญเปล่า
2.ไม่รู้ หมายถึง การที่พนักงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะไม่รู้ว่า การจัดเก็บแต่ละครั้งมีปริมาณมากน้อยแค่ไหน ต้องใช้คนกี่คน รถกี่คัน ทำให้การวางแผนและจัดการทำได้ยาก เช่น ไปเก็บถังขยะที่ไม่มีขยะอยู่ ทำให้สิ้นเปลืองน้ำมันรถ หรือรถเก็บขยะไม่พอเพราะปริมาณขยะในวันนั้นเยอะ ทำให้สูญเสียเวลาและภาพลักษณ์ในการให้บริการ
นอกจากนั้นในอุตสาหกรรมการรีไซเคิลขยะ การที่ไม่ทราบปริมาณขยะในแต่ละวัน ทำให้ต้องสต็อกเศษขยะเป็นจำนวนมากเพื่อให้เพียงพอต่อการนำไปรีไซเคิลตามที่ลูกค้าสั่งซื้อมา ทำให้สูญเสียพื้นที่และค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก จากปัญหาที่ได้กล่าวมานั้นจึงได้คิดวิธีการที่จะตรวจดูปริมาณขยะได้แบบเรียลไทม์ ปรับการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการลดสิ่งที่ไม่เกิดมูลค่า โดยใช้เทคโนโลยี internet of things (IoT) เข้ามาใช้งาน
หลักการทำงานคือ ถังขยะจะมีเซ็นเซอร์ทำหน้าที่ตรวจจับปริมาณขยะในถัง และทำการส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์แสดงในหน้าแดชบอร์ด โดยจะแสดงจุดตำแหน่งที่ตั้งของถังขยะและปริมาณขยะ สีแดงหมายถึง ถังขยะเต็ม สีเขียวหมายถึง ไม่มีการใช้งาน หรือขยะน้อยมาก สีเหลืองคือ การแจ้งเตือนว่า เซ็นเซอร์หรือระบบอาจมีปัญหา
ขณะเดียวกันยังมีอัลกอริทึมที่ช่วยคำนวณจำนวนคนงานและรถเก็บขยะที่เหมาะสมกับปริมาณขยะได้แบบอัตโนมัติ ทั้งนี้ในระบบ web application มีความปลอดภัยสูงและใช้งานได้ง่าย สามารถเข้าดูได้ทั้งจาก มือถือและคอมพิวเตอร์ นอกจากนั้นยังทำระบบแจ้งเตือนปริมาณขยะผ่านทาง Line หรือ Telegram ได้อีกด้วย
ดึงเอไอคาดการณ์ล่วงหน้า
3.ไม่มีข้อมูลวางแผน การที่ไม่มีข้อมูลปริมาณขยะและพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้านั้น ทำให้วางแผนทางด้านงบประมาณและการลงทุนที่ผิดพลาดได้ ยกตัวอย่างเช่น การซื้อและติดตั้งถังขยะในจุดที่มีการใช้งานน้อย ส่วนจุดที่มีการใช้งานปริมาณมาก ถังขยะล้น ส่งกลิ่นเหม็น กับไม่มีการติดตั้งเพิ่มเติม เป็นต้น
จากปัญหาที่ได้กล่าวมานั้น ทางทีมจึงได้พัฒนาวิธีการเก็บข้อมูลแบบอัตโนมัติ สามารถนำมาใช้กับการพัฒนาเอไอให้ทำนายว่าบริเวณใดควรติดตั้งถังขยะเพิ่ม โดยดูพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้า วิธีการนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประหยัดงบประมาณได้มาก
รุ่งโรจน์ กล่าวต่อไปว่า อุตสาหกรรมการจัดการและรีไซเคิลขยะมีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านบาทต่อปี โดยระบบสมาร์ทบินของบริษัทจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 10% หรือคิดเป็นมูลค่า 100 ล้านบาท เนื่องจากระบบการจัดเก็บและบริหารจัดการขยะถือเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จในธุรกิจนี้ จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจที่บริษัทสามารถเข้าไปตอบโจทย์กลุ่มของลูกค้าเป้าหมาย ซึ่งมีทั้งโรงงานรีไซเคิลขยะและหน่วยงานภาครัฐ
“จุดเด่นของระบบสมาร์ทบินคือ การนำเทคโนโลยีมาประสมประสานกันอย่างลงตัว โดยเฉพาะระบบเอไอที่พัฒนาออกแบบขึ้นเองให้ค่าความแม่นยำสูงถึง 95% รวมทั้งระบบไอโอที ก็ให้การตอบสนองที่รวดเร็ว สามารถใช้งานง่าย เสถียร และมีความปลอดภัยสูง หากเป็นระบบเอไอจากต่างประเทศจะมีค่าใช้จ่ายถึง 5-6 แสนบาท ยังไม่รวมฮาร์ดแวร์และระบบไอโอที แต่ระบบของบริษัทมีราคาในหลักหมื่นต้นๆ ถือว่าถูกมากเมื่อเทียบกับประสิทธิภาพและเทคโนโลยีที่ใส่เข้าไป คาดว่าจะพร้อมออกสู่ตลาดในไตรมาส 4 ของปี 2565"
ความท้าทายของสินค้านวัตกรรม
ด้านความท้าทาย รุ่งโรจน์ มองว่า เป็นเรื่องของผลิตภัณฑ์และการบริการ นั่นคือการที่จะทำให้ลูกค้าเปลี่ยนพฤติกรรมและยอมรับกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งปัญหาในข้อนี้นักประดิษฐ์และนักออกแบบทุกคนล้วนพบเจอ จากประสบการณ์ในการทำงานด้านออกแบบเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติ ทำให้รู้วิธีเอาชนะความกลัวการเปลี่ยนแปลงของลูกค้าได้ วิธีที่ใช้คือ การสอบถามจากผู้ใช้งานจริงและออกแบบร่วมกับลูกค้า ทำให้มั่นใจได้ว่าโปรดักท์นี้จะช่วยแก้ไขปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพได้จริง ไม่ใช่ออกแบบตามความพอใจของนักประดิษฐ์
เส้นทางการพัฒนานวัตกรรมในอนาคตรุ่งโรจน์ กล่าวว่า จะนำเอไอที่ผ่านการเรียนรู้มาแล้วมาใช้งานเป็นเสมือนดวงตาให้กับหุ่นยนต์ในการหยิบและคัดแยกขยะแบบอัตโนมัติ ซึ่งปัจจุบันยังต้องใช้แรงงานคนจำนวนมากในการคัดแยก
“ทั้งหมดนี้มูลค่าของโครงการในระยะแรกนั้นใช้เงินลงทุนประมาณ 1 ล้านบาท ในการซื้อเครื่องจักรและซอฟต์แวร์ที่ใช้ออกแบบ ส่วนระยะเวลาคืนทุนอยู่ที่ 1 ปี ซึ่งแหล่งรายได้นั้นจะมาทั้งจากการขายระบบและอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ รวมทั้งยังให้บริการเช่า โดยคิดค่าเช่าระบบเป็นรายปีอีกด้วย”