'สติกเกอร์สุขภาพ' จาก ‘ปัญหา’ สู่ธุรกิจนวัตกรรม
ความเคลื่อนไหวแต่ละครั้งไม่ธรรมดา ประเดิมตลาดด้วย “สติกเกอร์หัวหอม“บรรเทาอาการหวัด คัดจมูก ขยับขยายสู่สารพัดกลิ่นน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรออร์แกนิค คว้ารางวัลสุดยอดนวัตกรรม 7 innovation award 2018 มาคราวนี้ “แฮปปี้โนส” ส่งสติกเกอร์สูตรต้านไวรัสสู่ตลาด
โตยั่งยืนบนฐานทรัพยากรไทย
ภญ.วันทณีย์ เสนาคุณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท วันเวนเชอร์ จำกัด เปิดฉากเล่าที่มาที่ไปของธุรกิจว่า ย้อนไปสมัยทำธุรกิจร้านขายยา ซึ่งในขณะนั้นไข้เลือดออกระบาด แต่ไม่มีผลิตภัณฑ์กันยุงที่ใช้กับเด็กต่ำกว่า 2 ขวบโดยไม่ระคายเคืองผิว จึงทำการสำรวจพบว่าในต่างประเทศมีสติกเกอร์กันยุง จึงนำเข้ามาจำหน่าย ผลปรากฏว่าออกฤทธิ์กับยุงบางชนิดและภายในเวลาจำกัด จึงกลายเป็นโจทย์วิจัยและพัฒนา กระทั่งได้เป็นผลิตภัณฑ์สติกเกอร์ของตนเอง พร้อมกับส่งทดสอบยืนยันประสิทธิภาพกับแล็บของมหาวิทยาลัยมหิดล
แต่ความพยายามไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น ต่อมาได้ต่อยอดสู่รูปแบบอื่นอีกเพื่อตอบโจทย์ตลาดที่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่สามารถบรรเทาปัญหาสุขภาพต่างๆ เช่น ปัญหาฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 โดยได้พัฒนาผลิตภัณฑ์บรรเทาอาการแสบคอและจมูกที่เกิดจากฝุ่น กระทั่งล่าสุดเมื่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงใช้เวลาราว 8 เดือน (ก.พ.-ก.ย.2563) คิดค้นสูตรป้องกันไวรัส จากการศึกษางานวิจัยพบมีสาร Quercetin (เควอซีทีน) จากหัวหอม และสาร Curcumin (เคอร์คูมิน) จากขมิ้นชัน มีประสิทธิภาพฆ่าเชื้อไวรัส
“จุดเด่นของประเทศไทยคือ ความหลากหลายทางชีวภาพ มีสมุนไพรไทยหลากหลายชนิด ขณะเดียวกันก็มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพสมุนไพรได้ถึง 6 เท่า ออกฤทธิ์นาน 12 ชั่วโมง ทั้งยังได้รับการทดสอบยืนยันจากสถาบันสุขภาพในประเทศอังกฤษแล้วว่า สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนาได้ 99.9 % ภายใน 30 วินาที จึงกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสูตรป้องกันไวรัส”
สติกเกอร์สุขภาพเพื่อสูงวัย
ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตเดือนละ 4 แสนกล่องรวม 6 โปรดักท์ จำหน่ายในประเทศ 80% และส่งออก 20% มีทั้งประเทศเพื่อนบ้านไปจนถึงตะวันออกกลางและสหรัฐ ในปีที่ผ่านมามียอดขายรวม 105 ล้านบาท ส่วนในช่วง ม.ค.2564-ปัจจุบัน ยอดขายอยู่ที่ประมาณ 46 ล้านบาท ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าหมายที่จะขยายตลาดสู่อินเดีย จีน เกาหลี ญี่ปุ่นและอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดใหญ่มาก
ทางด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมนั้น ปีนี้ได้วิจัยและพัฒนาสติกเกอร์สุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ มุ่งตอบโจทย์ในเรื่องไมเกรน การนอนหลับและการระคายเคืองคอ เบื้องต้นส่งไปทดสอบที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่ามีประสิทธิภาพตามที่ออกแบบไว้ ทั้งนี้ ในแต่ละครั้งที่จะออกโปรดักท์ใหม่สำหรับปัญหาสุขภาพแต่ละชนิดนั้น จะมีการทำวิจัยพัฒนาใหม่เช่นกันและยังคงเป็นรูปแบบสติกเกอร์สมุนไพร ถือเป็นจุดแข็งของแบรนด์
“ส่วนเทรนด์การเติบโตจากนี้ไป จะขยายช่องทางการจำหน่ายไปยังแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะการทำตลาดต่างประเทศที่เริ่มจากการทำออนไลน์ ผ่านการยิงโฆษณาเฟซบุ๊คไปยังประเทศนั้นๆ รวมถึงการเปิดโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายทดลองใช้งานก่อน เพื่อสร้างความรับรู้ให้กับผู้บริโภค แต่เมื่อเริ่มสนใจมากขึ้นกลายเป็นว่ามีออเดอร์กลับมาเรื่อยๆ อีกทั้งต่อยอดสู่การมีตัวแทนจำหน่ายไปโดยปริยาย ปัจจุบันมีจำหน่ายตามร้านขายยาครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ ตลอดจนเซเว่นอีเลฟเว่น 1 หมื่นสาขา”
ความท้าทายสินค้านวัตกรรม
ความท้าทายในช่วงแรกคือ “การสื่อสาร” ด้วยความที่มาจากเส้นทางนักวิจัยสู่เส้นทางนักธุรกิจ จึงเป็นความท้าทายอันดับต้นๆ อีกทั้งผู้บริโภคยังไม่มั่นใจในสินค้านวัตกรรม จึงเจอปัญหาประเภทนี้บ่อยครั้งเนื่องจากลูกค้ายังไม่เคยรู้จักสินค้าประเภทนี้มาก่อน ดังนั้น การทำการตลาดจึงต้องเน้นให้ลูกค้ารู้จักผลิตภัณฑ์ก่อน และส่งไปทดสอบตามสถาบันต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ส่วนการสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์นั้น หลักๆ จะหาเพนพ้อยต์ของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ จากนั้นก็ทำการสำรวจว่าผลตอบรับกับโปรดักท์เป็นอย่างไร
"ระเบียบข้อบังคับที่หลายคนกลัว อย่างผลิตภัณฑ์ของบริษัทในช่วงแรก อย.ชี้ว่าไม่เข้าเกณฑ์ยาแผนปัจจุบัน เนื่องจากไม่ได้ใช้สารเคมี แต่ก็ไม่ใช่ยาแผนโบราณ อีกทั้งกฎหมายเพิ่งออกมาว่าผลิตภัณฑ์ที่อยู่ตรงกลางเนื่องจากเป็นสมุนไพร ซึ่ง พ.ร.บ.และกฎหมายยังไม่เสร็จ ดังนั้น จึงทำสูตรที่ไม่เข้าเกณฑ์จะเป็นยาแต่ปลอดภัยกว่า โดยได้ปรึกษา อย.ว่าทำรูปแบบน้ำหอม ยาดม เพื่อที่จะจำหน่ายได้อย่างถูกต้อง และเมื่อไม่ถูกจำกัดว่าเป็นยา ทำให้การทำตลาดส่งออกง่ายขึ้น ด้วยกฎเกณฑ์น้อยกว่า"
ขณะเดียวกันบิซิเนสโมเดลหลักๆ จะเป็น B2C และมีแผนที่จะต่อยอดสู่ธุรกิจ OEM ประมาณเดือน ก.ค.นี้ เพื่อเจาะกลุ่ม B2B มากขึ้น ทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยแบ่งสัดส่วนว่าภายในปีนี้ OEM จะอยู่ที่ 10-20% เพราะลูกค้ายังอยู่ในขั้นทดลองตลาดเช่นกัน
วันทณีย์ มองภาพรวมการแข่งขันว่า ยิ่งโลกเติบโตทางเทคโนโลยีมากขึ้น ผู้คนยิ่งมีปัญหาสุขภาพมากขึ้น พร้อมกับรายได้ที่มากขึ้นเช่นกัน จึงพร้อมที่จะจ่ายเพื่อดูแลสุขภาพตัวเอง ดังนั้น ธุรกิจนี้มีโอกาสที่จะเติบโตอีกมาก ส่วนคู่แข่งทางตรงมีน้อยราย ส่วนใหญ่จะเป็นคู่แข่งทางอ้อมรายย่อยๆ ที่ทำสินค้าออกมาจำหน่ายเหมือนกันแต่คุณภาพต่างกัน โดยออกสู่ตลาดเพียง 5-6 เดือนและหายไป ทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทอยู่ที่ 90%