‘ภูเก็ต’ ต้องรอด จากจังหวัดท่องเที่ยวสู่ 'สมาร์ทซิตี้'
จากการที่รัฐบาลได้มีนโยบายผลักดัน “สมาร์ทซิตี้” หรือ เมืองอัจฉริยะ โดยกำหนดพื้นที่นำร่อง 14 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงพื้นที่เศรษฐกิจ ต.กะรน จ.ภูเก็ต จะเป็นต้นแบบจังหวัดอัจฉริยะที่ยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโมเดลธุรกิจ
ภายใต้การร่วมมือ คิดและออกแบบขององค์กรในท้องถิ่นและเอกชน ผ่านโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและการสื่อสารโทรคมนาคมเสาอัจฉริยะ เปลี่ยนจากเสาไฟธรรมดาเป็นเสาอัจฉริยะ
ดึงสมาร์ทโพลลงอันดามัน
เรือเอกเจด็จ วิชรศรณ์ นายกเทศมนตรีตำบลกะรน จังหวัดภูเก็ต กล่าวระหว่างการเสวนาเรื่อง “การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน Lucky Pole เพื่อการเชื่อมโยงและพัฒนาเศรษฐกิจการท่องเที่ยวสู่เมืองสมาร์ทซิตี้” ว่า เทศบาลตำบลกะรนเตรียมการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ โดยการบูรณาการข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนบริการต่างๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาส่วนรวม รวมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ยิ่งขึ้นและอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันมุ่งหวังผลก่อให้เกิดผลผลิตมากขึ้น
“เรามองเรื่องการพัฒนาเมืองตำบลกะรน ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ ด้วยความเป็นอยู่ที่ดี และเศรษฐกิจของเมืองซึ่งอิงกับการท่องเที่ยวเป็นหลัก ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น การท่องเที่ยว รถให้บริการสาธารณะ อาหารทะเล ตลอดจนทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เมืองมีภูมิทัศน์ที่สวยงามขึ้น จึงได้มีแนวคิดที่จะยกระดับตำบลกะรน ให้เป็นต้นแบบของสมาร์ทซิตี้ ด้วยการดำเนินการต่างๆ อาทิ การวางโครงสร้างพื้นฐานสื่อสารโทรคมนาคม เสาอัจฉริยะ การจัดระเบียบสายไฟฟ้า และสายสื่อสารลงดิน การติดตั้งระบบกล้องวงจรปิดอัจฉริยะ อุปกรณ์และเทคโนโลยไอโอที (IoT) เพื่อให้มีการจัดการแบบรวมศูนย์ และผลักดันให้พื้นที่ตำบลกะรนสู่เมืองอัจฉริยะ”
ภูเก็ตรอด ไทยรอด
ก้าน ประชุมพรรณ์ เลขาธิการสมาคมโรงแรมที่พักส่งเสริมสุขภาพอันดามัน และอ่าวไทย และประธานกรรมการในเครือเดอะบีช กรุ๊ป กล่าวเสริมว่า เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมาภูเก็ตถูกประกาศว่า เป็นเมืองนำร่องสมาร์ทซิตี้ และสิ่งที่จะเกิดขึ้นของการทำสมาร์ทซิตี้คือต้องมีพื้นที่นำร่อง ซึ่งได้มีการพูดคุยกับทางเทศบาล และมีโครงการดำเนินการเกี่ยวกับเสาอัจฉริยะ ผ่านการใช้พื้นที่นำร่องเพื่อให้เกิดภาพการเชื่อมโยงได้ แต่ทั้งนี้เสาอัจฉริยะต้องมีบิซิเนสแพลนเช่นกันซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญ
“การร่วมมือในครั้งนี้เพื่อพัฒนาพื้นที่ในเทศบาลตำบลกะรน ให้เป็นเมืองที่มีความพร้อมและมีความก้าวหน้าด้านการท่องเที่ยวระดับโลก สำหรับบทบาทความร่วมมือของเดอะบีชกรุ๊ป จะดำเนินการพัฒนาสถานที่รองรับการท่องเที่ยว โดยสร้างอาคารที่พักรับรอง ตลอดจนร้านค้าปลีก ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ เป็นการส่งเสริมให้เกิดรายได้หมุนเวียนของประชาชน ซึ่งจะสอดคล้องกับแผนพัฒนาเมืองของเทศบาลตำบลกะตะ กะรน ในการส่งเสริมการเป็นเมืองอัจฉริยะ"
ในฐานะภาคเอกชน เขาพร้อมตอบรับนโยบายการพัฒนาเมืองให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน และสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่ควบคู่ไปกับการรองรับนักท่องเที่ยวในอนาคต และผลักดันสู่การเป็นเมืองนำร่องเพราะเมื่อ “ภูเก็ตรอด ประไทยก็รอดเช่นกัน”
‘เสาอัจฉริยะ’คีย์ความปลอดภัย
ด้าน ธนาพันธ์ ตันติสัตยกุล กรรมการผู้จัดการร่วม บริษัท ยูไนเต็ด เทคโนโลยี เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (ยูทีอี) กล่าวว่า บทบาทของยูทีอีในโครงการฯนี้ จะเป็นหน่วยงานหลักในการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่เรียกว่า เสาอัจฉริยะ พร้อมระบบบริหารจัดการที่เรียกว่า สมาร์ทซิตี้แพลตฟอร์ม เพื่อตอบสนองการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของเมืองภูเก็ต
เสาอัจฉริยะเป็นการผสมผสานแนวคิดที่รวมเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทันสมัย นักท่องเที่ยวจะสามารถรับข่าวสารและเข้าถึงข้อมูลผ่านสื่อดิจิทัลได้อย่างสะดวก ไม่ว่าจะเป็น การติดตั้งบนทางเท้า สวนสาธารณะ หรือแม้กระทั่งตลาดนัด ที่จะช่วยจัดเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การอำนวยความสะดวก ที่จะมีตารางการเดินรถ, บริการฟรีไวไฟ โซลาร์เซลล์ ป้ายไฟแอลอีดีแสดงสัญญาณปลอดภัยของจุดข้ามถนนที่สำคัญของเมือง, ฟังก์ชั่น Shop Locator และจอแสดงข้อมูลคุณภาพอากาศแจ้งเตือนสภาพอากาศผิดปกติแบบเรียลไทม์
นอกจากนี้ยูทีอีได้ให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยผ่านระบบซีซีทีวีและปุ่มช่วยเหลือฉุกเฉินที่ติดตั้งบนเสาอัจฉริยะ ที่จะต่อยอดสู่การทำ VDO Analytics ได้ จึงเป็นประโยชน์ต่อเมืองและนักท่องเที่ยวทางด้านความปลอดภัย และทั้งหมดนี้หากมีการดำเนินการร่วมกันของทุกภาคส่วนจะสามารถเปิดเป็น Open Data และด้วยมัลติฟังก์ชั่นนี้เองจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเมืองสู่สมาร์ทซิตี้
“การดำเนินโครงการในครั้งนี้ มุ่งเน้นให้เกิดการทำ Infrastructure Sharing คือการใช้ประโยชน์สูงสุดในทุกมิติ เพื่อลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อนของบริษัทสตาร์ทอัพที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย และสามารถนำข้อมูลที่ได้จากโครงการนี้ไปวิเคราะห์ ตลอดจนนำมาพัฒนาเมืองให้มีประสิทธิภาพต่อไป ซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือน พ.ย.2564”
ยูทีอียังมีแผนขยายเสาอัจฉริยะไปยังหัวเมืองต่างๆ ที่เป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ โดยเฉพาะภูเก็ต ที่มีโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อก และจากการดำเนินงานมองว่าภูเก็ตต้องการเสาอัจฉริยะเพิ่มอีก 500 ต้น จึงจะครอบคลุมทั้งหมดและจะช่วยเมืองในเรื่องของการกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในพื้นที่ ความปลอดในชีวิตและทรัพย์สิน ส่วนคุณสมบัติของแต่ละพื้นที่ที่จะสามารถติดตั้งสมาร์ทโพลหรือเสาอัจฉริยะได้นั้น จะมองในเรื่องของยุทธศาสตร์และความพร้อมของเมืองเป็นหลัก