"ไทยคม" ปิดฉาก "สัมปทานดาวเทียม 30 ปี" ส่งคืนรัฐ 10 ก.ย.นี้ - "เอ็นที" รับไม้ต่อ
ปิดฉาก สัมปทาน 30 ปี "ไทยคม" จ่ายส่วนแบ่งรัฐ 1.4 หมื่นล้าน มากกว่าอัตราขั้นต่ำการันตีในสัญญากว่า 900% "ดีอีเอส" ฝากความหวัง "เอ็นที" รับไม้ดูแลต่อ ย้ำสื่อสารไม่สะดุด จอไม่ดับช่วงเปลี่ยนผ่าน
นับถอยหลังสิ้นสุดมหากาพย์สัมปทาน 30 ปี "ดีอีเอส" เตรียมรับมอบ “ไทยคม” คืนรัฐวันที่ 10 ก.ย.64 ยัน "เอ็นที" ภายใต้การคุมของรัฐมีศักยภาพพอบริหารต่อได้ ไม่มีจอดำ ด้าน 'ซีอีโอไทยคม' แจงยิบตลอดอายุสัญญาที่มีกว่า 3 ทศวรรษ สร้างดาวเทียมและส่งมอบให้รัฐมากกกว่า 6 ดวง จ่ายส่วนแบ่งรายได้เฉียด 14,000 ล้านบาท มากกว่าอัตราขั้นต่ำการันตีในสัญญา 900%
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสัง (ดีอีเอส) กล่าวว่า วันนี้ (9 ก.ย.) ตน และผู้บริหารของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที จะเดินทางไปเยี่ยมชมและตรวจความพร้อมในการปฎิบัติการควบคุมดาวเทียมที่ บมจ.ไทยคม เพื่อทำให้การบริหารงานรับช่วงต่อจากเอกชนภายหลังจากที่สัญญาสัมปทานของไทยคมจะสื้นสุดลงในวันที่ 10 ก.ย.นี้ ราบรื่น รวมระยะเวลาการทำสัญญาสัมปทานคือ 30 ปี
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าการรับชมโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมหรือการติดต่อสื่อสารใดๆ ผ่านกิจการดาวเทียมของไทยคมยังคงดำเนินต่อเนื่องไม่มีจอดำแน่นอน เพราะในช่วงที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ วันที่ 30 ก.ค. ได้มีการลงนามในสัญญามอบสิทธิบริหารจัดการทรัพย์สินของโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศภายหลังสิ้นสุดสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศของไทยคมมายังเอ็นทีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ชูความมั่นคงทางการสื่อสาร
โดยเอ็นที ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเข้ามาบริหารจัดการทรัพย์สินในโครงการนี้ จะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านการสื่อสารโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมมากยิ่งขึ้น ซึ่งดาวเทียมสื่อสารถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ให้บริการสาธารณะ ดังนั้น การให้บริการดาวเทียมสื่อสารจึงเป็นกลไกสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมสำหรับเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และการติดต่อสื่อสาร และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้บริการดาวเทียมของไทย
เขา กล่าวว่า การมอบสิทธิให้เอ็นทีเข้ามาบริหารจัดการทรัพย์สินของโครงการดาวเทียมสื่อสารในประเทศ ที่จะมีการโอนคืนมาให้กับรัฐ หลังการสิ้นสุดสัมปทานไทยคม จะสร้างความต่อเนื่องในการให้บริการ รวมทั้งเป็นการรักษาสิทธิในตำแหน่งวงโคจรของประเทศไทย ทั้งดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ตำแหน่ง 119.5 องศาตะวันออก และดาวเทียมไทยคม 6 ตำแหน่ง 78.5 องศาตะวันออก ซึ่งถือเป็นทรัพยากรที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงไว้ได้
จ่ายสัมปทานให้เฉียด14,000ล.
นายอนันต์ แก้วร่วมวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยคม กล่าวว่า ในฐานะคู่สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศกับดีอีเอสซึ่งสัญญาดังกล่าว มีอายุ 30 ปี ตั้งแต่ 11 กันยายน 2534 -10 กันยายน 2564 บริษัทได้ดำเนินการตามแผนการดำเนินงานตามสัญญาและเจตนารมณ์ของสัญญามาโดยตลอด
ในการดำเนินการตามสัญญาสัมปทานจนถึงปัจจุบัน บริษัทได้มีการจัดสร้างดาวเทียมด้วยต้นทุนของบริษัทเองและโอนกรรมสิทธิ์ในดาวเทียมให้เป็นทรัพย์สินของภาครัฐไปแล้วจำนวน 6 ดวง รวมมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท มากกว่าที่กำหนดไว้ในแผนที่นำเสนอโครงการตั้งแต่ต้น
และยังได้นำส่งค่าส่วนแบ่งรายได้ของดาวเทียมทั้ง 6 ดวง รวมกันเป็นรายได้ให้แก่ภาครัฐ จนถึงปัจจุบัน เป็นเงิน 13,852.84 ล้านบาท ซึ่งเกินกว่าค่าตอบแทนขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในสัญญาคือ 1,415 ล้านบาทคิดเป็น 889% อีกทั้งบริษัทยังมีส่วนสำคัญในการจองสิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียมให้กับประเทศและช่วยดำเนินการรักษาสิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียมไม่ให้ประเทศไทยต้องเสียสิทธิตลอดมาทั้งที่การดำเนินการบางกรณีมิใช่หน้าที่ตามสัญญาสัมปทาน
“การจัดส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรภายใต้สัญญาสัมปทานแบ่งออกเป็น 2 ชุด ชุดแรก คือ ไทยคม 1 (หลัก) และ ไทยคม 2 (สำรอง) ชุดที่สอง คือ ไทยคม 3 (หลัก) และ ไทยคม 4 หรือ ไอพีสตาร์ (สำรอง) ไทยคม 3 เสียก่อนหมดอายุใช้งาน จึงยิงไทยคม 5 ไปทดแทนไทยคม 3 ส่วนไทยคม 4 มีประเด็นเรื่องสถานะของไทยคม 4 ว่าเป็นสำรองหรือไม่ จึงยิงไทยคม 6 เป็นดาวเทียมสำรองเพิ่มเติมของไทยคม 5 ส่วนไทยคม 7 และ 8 เป็นดาวเทียมในข้อพิพาทเพราะบริษัทได้ขอใบอนุญาตเพื่อยิงขึ้นสู่วงโคจรจากสำนักงานกสทช.ไม่ถือว่าอยู่ในสัมปทาน”
ร่ายยาวข้อเท็จจริงไอพีสตาร์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประเด็นการจัดสร้างและจัดส่งไอพีสตาร์ ที่ซึ่งมีคุณสมบัติและรายละเอียดทางเทคนิคไม่เหมือนกัน และใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกันกับดาวเทียมดวงก่อน ขึ้นเป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม 3 ซึ่งมีประเด็นข้อสงสัยว่า ดาวเทียมไทยคม 4 มีสถานะเป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม 3 หรือไม่ และทำให้รัฐเสียประโยชน์หรือไม่
ไทยคมข้อชี้แจงว่าดาวเทียมไทยคม 4 เป็นดาวเทียมบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงดวงแรกของโลก เนื่องจากเทคโนโลยีดาวเทียมได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องรวมถึงความต้องการใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตมีมากขึ้น เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี บริษัทจึงเสนอรายละเอียดข้อกำหนด (Specifications) ของดาวเทียมไทยคม 4 เพื่อสนองตอบความต้องการใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงต่อดีอีเอสและได้นำเสนอแผนการจัดสร้างและจัดส่งดาวเทียมไทยคม 4
อย่างไรก็ดี ต่อมาดีอีเอสได้อนุมัติการจัดสร้างดาวเทียมไทยคม 4 ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของสัญญาสัมปทานรวมทั้งการอนุมัติแผนการสำรองการให้บริการของดาวเทียมไทยคม 3 เพื่อให้มั่นใจว่าหากดาวเทียมไทยคม 3 ไม่สามารถให้บริการได้ ลูกค้าที่ใช้บริการบนดาวเทียมไทยคม 3 จะไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสัญญาสัมปทาน
ดาวเทียมเถื่อนแต่จ่ายสัมปทาน
อีกทั้ง ดาวเทียมไทยคม 4 ที่บริษัทได้รับอนุมัติให้จัดสร้างนี้เป็นดาวเทียมขนาดใหญ่ และก่อให้เกิดประโยชน์และเพิ่มมูลค่าของโครงการดาวเทียมของประเทศมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ ดาวเทียมไทยคม 4 ที่บริษัทจัดสร้าง ตามสัญญาสัมปทานนั้น บริษัทใช้เงินลงทุนของบริษัทในการจัดสร้างและจัดส่งดาวเทียมไทยคม 4 ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าการลงทุนในดาวเทียมทั่วไป และได้โอนกรรมสิทธิ์ดาวเทียมดังกล่าวให้แก่ดีอีเอสทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการ บริษัทเป็นผู้ลงทุนในโครงการดาวเทียมไทยคม 4 เองทั้งหมด
และที่ผ่านมามีการนำส่งส่วนแบ่งรายได้ให้ภาครัฐ เฉพาะดาวเทียมไทยคม 4 เป็นจำนวนกว่า 4,000 ล้านบาท ตลอดจนโครงการดาวเทียมไทยคม 4 ได้สร้างประโยชน์แก่ประชาชน และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมากยิ่งขึ้น โดยในการดำเนินโครงการนี้ บริษัทก็ได้รับอนุมัติจากดีอีเอสและบริษัทได้ปฏิบัติตามกฎหมายและหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาทุกประการ
ส่วนประเด็นไทยคม 6 นั้น เกิดจากกรณีที่ไทยคม 5 แจ้งยุติการให้บริการเพราะเกิดเหตุขัดข้องเมื่อปี 2562 และผู้ผลิตแนะนำให้ปลดระวาง หลังจากเริ่มส่งขึ้นสู่วงโคจรตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2549 รวมแล้ว 14 ปี โดยได้ย้ายลูกค้าไปยัง ไทยคม 6 แล้วเสร็จ และปลดระวางในวันที่ 26 ก.พ. 2563 ส่วนไทยคม 5 ได้ลากไปอยู่ในวงโคจรที่ไม่มีการใช้งาน โดยที่ผ่านมาไทยคม ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการบริหารดาวเทียมเพื่อให้ลูกค้าผู้ใช้งานได้รับบริการที่ต่อเนื่อง และได้รับผลกระทบน้อยที่สุด