ไทยคม รับอาสาเป็นพี่เลี้ยง ‘เอ็นที’ พยุง ‘ธุรกิจดาวเทียม’ช่วงเปลี่ยนผ่าน

ไทยคม รับอาสาเป็นพี่เลี้ยง ‘เอ็นที’ พยุง ‘ธุรกิจดาวเทียม’ช่วงเปลี่ยนผ่าน

“ดีอีเอส” รับมอบดาวเทียม “ไทยคม 4 และ 6” อย่างเป็นทางการ การันตี ให้บริการได้ต่อเนื่องไร้ปัญหา ระบุ 2-3 เดือนแรก “ไทยคม” รับอาสาช่วยประสานลูกค้าทำธุรกิจก่อน เคลียร์ข้อพิพาททุกข้อก่อนรับมอบ วางแผน “เอ็นที” เดินหน้าพัฒนาสร้างดาวเทียมแห่งชาติ ตามออเดอร์ "นายกฯ"

สัมปทานดาวเทียมที่มีอายุ 30 ปี ครบกำหนดที่ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือชื่อเดิม ชินแซทเทลไลท์ ซึ่งได้รับสัมปทานจากกระทรวงคมนาคมเมื่อปี 2534 ต้องส่งมอบทรัพย์สินคืนให้กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอสในวันนี้ และวันที่ 11 ก.ย.ไทยคม ต้องโอนทรัพย์สินให้รัฐบาล ซึ่งช่วงแรก “ไทยคม” รับอาสาช่วยดูธุรกิจช่วงเปลี่ยนผ่าน ขณะที่ จากนี้ไปอุตสาหกรรมดาวเทียมดวงใหม่จะเดินเข้าสู่ระบบใบอนุญาต ที่รอคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ชุดใหม่มาวางกรอบการประมูล  

ไทยคม รับอาสาเป็นพี่เลี้ยง ‘เอ็นที’ พยุง ‘ธุรกิจดาวเทียม’ช่วงเปลี่ยนผ่าน

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวภายหลังเข้าเยี่ยมชมความพร้อมในการปฏิบัติการควบคุมดาวเทียมของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ณ สถานีดาวเทียมไทยคม จังหวัดนนทบุรี โดยมี นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่เอ็นทีกล่าวสรุปเรื่อง การเตรียมความพร้อมในการเข้าเป็นผู้บริหารจัดการทรัพย์สินของโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ภายหลังสิ้นสุดสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงดีอีเอสและเอ็นทีได้มีการเตรียมการและดำเนินการร่วมกันมาโดยตลอด รวมทั้งได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการขอใบอนุญาตต่างๆ เพื่อให้เอ็นทีสามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ เอ็นทีได้ประสานงานกับผู้ใช้บริการวงจรดาวเทียมแล้ว ซึ่งภายหลังจากวันนี้ (10 ก.ย.) เป็นต้นไปจะสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องแน่นอน

“ยืนยันว่าการให้เอ็นทีมาเป็นผู้บริหารจัดการทรัพย์สินในส่วนนี้ ได้ดำเนินการด้วยความโปร่งใส คำนึงถึงผลประโยชน์ของรัฐและประชาชนเป็นหลัก รวมทั้งผู้ใช้บริการจะสามารถได้ใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง และภาครัฐได้ประโยชน์ โดยสามารถเสริมสร้างศักยภาพให้ภาครัฐมีโครงสร้างพื้นฐาน สร้างความมั่นคงด้านการสื่อสารผ่านดาวเทียม สร้างโอกาสให้บุคลากรภาครัฐมีความรู้ และความสามารถในการควบคุมดาวเทียม รวมถึงสามารถให้บริการแก่หน่วยงานภาครัฐเพื่อใช้งานวงโคจรดาวเทียมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย” นายชัยวุฒิ กล่าว
 

ไทยคม รับอาสาเป็นพี่เลี้ยง ‘เอ็นที’ พยุง ‘ธุรกิจดาวเทียม’ช่วงเปลี่ยนผ่าน

ยอมรับช่วงแรกไทยคมช่วยบริหาร

นายชัยวุฒิ กล่าวเสริมว่า หลังจากวันสิ้นสุดสัญญาสัมปทานกิจการดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) และไทยคม 6 กับบมจ.ไทยคม ดีอีเอสได้มอบหมายให้เอ็นทีเข้ามาบริหารทรัพย์สิน และลูกค้าต่อจากไทยคม ซึ่งเบื้องต้นภายใน 2-3 เดือนแรก ไทยคมอาสาเป็นผู้ประสานงานและช่วยบุคลากรเอ็นทีในการทำงานไปก่อน

ขณะที่สัญญาใหม่ ที่เปิดให้ไทยคมเข้ามาเป็นพันธมิตรนั้น ยังไม่แล้วเสร็จ คาดว่าจะเสร็จภายในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ เนื่องจากมีหลายรูปแบบ จึงอยู่ในช่วงการหาข้อสรุปร่วมกัน

ดังนั้นสิ่งที่ เอ็นทีต้องดำเนินการ คือ ติดต่อไปยังลูกค้าที่ใช้บริการดาวเทียมทั้ง 2 ดวง ให้มาทำสัญญากับเอ็นทีซึ่งหากเป็นลูกค้าต่างประเทศก็จะมีการติดต่อผ่านตัวแทนจำหน่าย

เมื่อถามว่ารายได้ที่ภาครัฐจะได้จากการบริหารกิจการดาวเทียมจะมีเท่าไหร่นั้น ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะดาวเทียมไทยคม 4 มีอายุวิศวกรรมอีกเพียง 2 ปี จะตกเมื่อไรก็ไม่รู้ ลูกค้าต่างชาติเขาจะมั่นใจใช้ต่อ หรือไปใช้ของรายอื่นก็ได้ ธุรกิจนี้ไม่ได้ผูกขาด มีดาวเทียมใหม่เกิดขึ้นเรื่อยๆ

วางแผนยิงดาวเทียมความมั่นคงฯ

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า เอ็นทีเองเมื่อได้ทรัพย์สินสำหรับประกอบกิจการดาวเทียมไปแล้ว ก็ต้องเดินหน้าทำธุรกิจดาวเทียมต่อไป แม้ว่าดวง 4 จะหมดอายุวิศวกรรมในอีก 2 ปี และ ดวง 6 มีอยู่วิศวกรรม 8 ปี เนื่องจากนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการให้ประเทศไทยมีดาวเทียมของตนเอง แต่จะเป็นดาวเทียมประเภทไหน กำลังอยู่ระหว่างการวางแผน อาจจะเป็นดาวเทียมเพื่อความมั่นคง หรือ ดาวเทียมเพื่อบริการภาครัฐ ก็เป็นไปได้

สำหรับการดำเนินการเกี่ยวกับการส่งมอบสิทธิบริหารจัดการทรัพย์สินโครงการนี้ ดีอีเอสได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานการบริหารจัดการทรัพย์สินขึ้นมา 1 ชุด ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงดีอีเอส เป็นประธาน และผู้แทนกระทรวงฯ กับผู้แทนบริษัทฝ่ายละเท่า ๆ กันเป็นกรรมการ รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นที่ปรึกษาหรือร่วมเป็นกรรมการ ในการประสานงานเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ตามความตกลงร่วมกันระหว่างคู่สัญญาทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้

“การมอบสิทธิให้เอ็นทีเข้ามาบริหารจัดการทรัพย์สินของโครงการดาวเทียมสื่อสารในประเทศ ที่จะมีการโอนคืนมาให้กับรัฐ หลังการสิ้นสุดสัมปทานไทยคม จะสร้างความต่อเนื่องในการให้บริการ รวมทั้งเป็นการรักษาสิทธิในตำแหน่งวงโคจรของประเทศไทย ทั้งดาวเทียมไทยคม 4 (119.5 องศาตะวันออก) และดาวเทียมไทยคม 6 (78.5 องศาตะวันออก) ซึ่งถือเป็นทรัพยากรที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงไว้ได้” นายชัยวุฒิ กล่าว

หย่าศึกคู่สัญญาทุกข้อก่อนรับมอบ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ข้อพิพาทต่างๆ ก่อนรับมอบสัญญาสัมปทาน กระทรวงดีอีเอสได้ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ลงมติเรียบร้อยแล้ว เพื่อไม่ให้มีผลฟ้องร้องกันภายหลัง ไม่ว่าจะเป็น การลงมติให้อนุมัติแก้ไขสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (สัญญาฉบับที่ 5) เห็นควรให้ บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ ถือหุ้นใน ไทยคมไม่ต่ำกว่า 51% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด

ทั้งนี้ เมื่อครั้งที่มีการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) ในปี 2547 ลดสัดส่วนการถือหุ้นของบมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่นในครั้งนั้น ปัจจุบันคืออินทัชในไทยคมจากไม่น้อยกว่า 51% เป็นไม่น้อยกว่า 40% ซึ่งต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ ชินคอร์ปฯและไทยคมผู้รับสัมปทานจากรัฐโดยไม่สมควร ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะมีผลบังคับใช้กับเอกชน หรือ จะเสร็จเมื่อไหร่ หรือมีความเสียหายต่อรัฐเท่าไหร่ แต่ไม่มีผลกระทบต่อการส่งมอบทรัพย์สินแต่อย่างใด

รวมถึงการให้ครม.ลงมติอนุมัติโครงการดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) เห็นควรให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญา โดยกำหนดให้ดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ผนวกเข้ามาเป็นดาวเทียมภายใต้สัญญา และดำเนินการแก้ไขสัญญาตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 เนื่องจากมีการวินิจฉัยจากศาลว่าดาวเทียมดวงนี้ไม่มีคุณสมบัติเป็นดาวเทียมในสัญญาสัมปทาน แต่ที่ผ่านมากระทรวงรับมอบและรับค่าสัมปทานมาโดยตลอด ดังนั้นจึงให้ ครม.ลงมติเพื่อกันการถูกฟ้องร้องภายหลัง