ดีแทคเร่งเครื่องขยับลูกค้า“ดิจิทัล” ชูโมเดลมากกว่าแค่โทรคมนาคม
ดีแทคตั้งเป้าผู้ใช้งานดิจิทัลแอคทีฟทะลุ 10 ล้านคนต่อเดือน ภายในปี 64 และยอดลูกค้าใหม่ใช้งานดิจิทัลเพิ่มขึ้น 5 เท่า ภายในปี 66 เร่งติดสปีดการใช้งานดิจิทัลลูกค้า วางกลยุทธ์สู่บริการที่มากกว่าโทรคมนาคม
นายฮาว ริ เร็น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายมีผู้ใช้งานดิจิทัลแอคทีฟอยู่ที่ 10 ล้านคนต่อเดือนภายในสิ้นปี 2564 จากปัจจุบันที่มียอดผู้ใช้งานดิจิทัลอยู่ที่ 6 ล้านคน และวางเป้าหมายยอดลูกค้าใหม่ที่ไม่ใช้เฉพาะลูกค้าดีแทคเท่านั้นเข้าใช้งานดิจิทัล เพิ่มขึ้น 5 เท่า ภายในปี 2566 โดยบริษัทสร้างธุรกิจหลักให้เป็นดิจิทัลเพิ่มขึ้น ทำให้ปัจจุบันสัดส่วนยอดขายดีแทคดิจิทัลทะลุ 70% ทั้งแบบเติมเงิน ชำระค่าบริการ และการซื้อบริการเสริมผ่านช่องทางของดีแทคเอง และช่องทางอื่นๆ
นอกจากนี้ ยังรวมทั้งกระตุ้นการใช้งานดีแทคแอป ด้วยกลยุทธ์ในการมุ่งเน้นให้ลูกค้าทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการดิจิทัลได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมในแบบ “ดีทั่วดีถึง” สะท้อนได้จากการพัฒนา dtac app Lite ซึ่งเป็นโมบายแอปที่ไม่ต้องดาวน์โหลดไว้ในเครื่องแต่สามารถให้บริการต่างๆ ได้เหมือนดีแทคแอป ส่งผลให้อัตราผู้ใช้งานผ่าน ดีแทคแอป ในกลุ่มลูกค้าในระบบเติมเงินโตขึ้น 3 เท่า และพบการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นถึง 124% ในกลุ่มลูกค้าต่างจังหวัด ขณะที่โดยรวมลูกค้าดีแทคที่มีอยู่กว่า 19.2 ล้านราย มากกว่า 46% ใช้งานดิจิทัลแอคทีฟต่อเดือน
“การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เราเห็นการเติบโตของการใช้ดิจิทัลที่มากขึ้นอย่างเป็นปรากฎการณ์ในกลุ่มลูกค้าดีแทค ทำให้เราได้กำหนดวาระติดสปีดดิจิทัลเป็นสำคัญ โดยเเบ่งเป็นส่วน 3 ส่วน ได้แก่ ยกเครื่องระบบปฏิบัติการเป็นดิจิทัล (Digitize the core) เร่งเปลี่ยนผ่านบริการให้บริการและการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าในแบบเฉพาะตัว (Accelerate digital interaction) รวมถึงการขยายบริการดิจิทัลให้ครอบคลุมความต้องการของลูกค้ามากขึ้นผ่านโมเดลการทำงานแบบเอไจล์กับพาร์ทเนอร์ในอุตสาหกรรมอื่น (Go beyond connectivity)”
เขา กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาของการลงทุนในระบบดิจิทัลของดีแทค ช่วยสร้างประสบการณ์ของลูกค้าให้ได้รับการบริการที่ปรับเปลี่ยนไปอย่างมาก อันเป็นผลมาจากอัตราการปรับใช้ดิจิทัลเพิ่มขึ้น ศูนย์บริการดีแทคได้เปลี่ยนรูปแบบการทำงานแบบดิจิทัลเป็นแบบไร้กระดาษ 100% ร้านตัวแทนจำหน่ายมากกว่า 90% ได้ใช้เครื่องมือดิจิทัลในกิจกรรมการขายและบริการในแต่ละวัน ปัจจุบันสัดส่วนยอดขายดีแทคดิจิทัลทะลุ 70% ทั้งแบบเติมเงิน ชำระค่าบริการ และการซื้อบริการเสริมผ่านช่องทางของดีแทคเองและช่องทางอื่นๆ
ขณะเดียวกัน การสร้างสรรค์กิจกรรมในรูปแบบของเกม และสิทธิพิเศษจากดีแทครีวอร์ด Coins เป็นการดึงดูดให้ลูกค้าให้สนุกสนานในการใช้งานดิจิทัล ได้มีส่วนร่วม และสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า ทำให้ลูกค้าเข้าสู่แพลตฟอร์มและเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นดิจิทัลมากขึ้น พร้อมทั้ง ยังเพิ่มช่องทางบริการ Omni-channel ยังมีแพลตฟอร์มการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ที่วิเคราะห์และนำเสนอบริการที่ตอบสนองความต้องการและพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าอย่างแท้จริง ประกอบกับบริษัทขยายช่องทางการขายดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เช่น ช้อปปี้ , ลาซาด้า และ เจดี เซนทรัล รวมถึงโซเชียลมีเดีย ทั้ง ไลน์ , เฟซบุ๊ค และ วีแชท
นอกจากนี้ บริษัทยังตั้งเป้าหมายพัฒนาสู่อีโคซิสเต็มของพันธมิตรที่ลูกค้าจะได้รับประโยชน์และข้อเสนอที่ดีที่สุด โดยบริษัทจะขยายบริการไปสู่บริการที่มากกว่าโทรคมนาคม พร้อมขยายบริการไปบริการที่มีการเข้าถึงน้อยและอัตราการเติบโตสูง ด้วยการร่วมมือในเชิงกลยุทธ์กับผู้เล่นในอุตสาหกรรม ด้วยโมเดลนี้ ดีแทคจะมีความคล่องตัวในการเปลี่ยนแปลง เติบโต และขยายบริการไปสู่บริการที่ “มากกว่า” โทรคมนาคม