"บาล์มตะไคร้" รักษาโรคน้ำกัดเท้า อว.ส่งมอบพื้นที่น้ำท่วม

"บาล์มตะไคร้" รักษาโรคน้ำกัดเท้า อว.ส่งมอบพื้นที่น้ำท่วม

วว./วช. ช่วยชาวบ้านน้ำท่วม มอบผลิตภัณฑ์นวัตกรรม "บาล์มตะไคร้" 3,000 ขวด รักษาโรคน้ำกัดเท้า ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี พร้อมฟ้าทะลายโจร 500 ต้น

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมส่งมอบผลิตภัณฑ์บาล์มตะไคร้ ให้ผู้แทนชุมชนจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดสุพรรณบุรี นำไปใช้รักษาโรคน้ำกัดเท้าในช่วงสถานการณ์อุทกภัย และส่งมอบต้นฟ้าทะลายโจร เพื่อป้องกันโควิด-19 โดยมี ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธี 

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก  กล่าวว่า  อว. ดำเนินโครงการ อว.พารอด มากว่า 2 - 3 เดือนแล้ว มาวันนี้ที่ประชาชนในหลายพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม อว. ก็พร้อมพารอดด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เรามี อย่างในวันนี้มีคนไทยที่เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากความชื้นเยอะที่สุด การที่ อว.นำเทคโนโลยี ความรู้ที่มีอยู่แล้วมาผลิต “บาล์มตะไคร้” ทำให้เห็นว่า อว. เก่งและเร็วมาก ๆ เพราะใช้เวลาแค่ 3 วันเท่านั้นในการผลิต เพื่อนำมามอบให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดสุพรรณบุรี ใช้ในการรักษาโรคน้ำกัดเท้า ซึ่งจะช่วยลดความยากลำบากในการใช้ชีวิตในช่วงประสบภัยนี้ได้มาก
 

ศาสตราจารย์ (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ประเทศไทยประสบเหตุการณ์น้ำท่วมเป็นประจำทุก ๆ ปี กินระยะยาวนานหลายเดือน ประชาชนต้องประสบกับโรคน้ำกัดเท้า ที่ผ่านมา วว. โดยศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร ได้ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรมาเป็นเวลากว่า 40 ปี 

จากงานวิจัยการใช้ประโยชน์จากพืชหอม ได้สกัดน้ำมันหอมระเหยหลายชนิดนำมาทดสอบฤทธิ์ในการต้านเชื้อจุลินทรีย์ แบคทีเรียและเชื้อราต่าง ๆ พบว่า น้ำมันตะไคร้ที่มีองค์ประกอบสำคัญ คือ สารซิทรัล (Citral)  มีคุณสมบัติสามารถต้านเชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคผิวหนังได้ เหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในการรักษาเชื้อราบนผิวหนัง และได้ทดลองพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ผสมน้ำมันตะไคร้ นำไปทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อราพบว่าได้ผลดีกว่าผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด 

วว. จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์บาล์มตะไคร้จากสารสกัดน้ำมันตะไคร้เพื่อรักษาโรคน้ำกัดเท้า ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย นอกจากนี้ยังสามารถรักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราอื่น ๆ เช่น กลาก เกลื้อนได้อีกด้วย โดย วว. ได้รับการสนับสนุนทุนในการผลิต จาก วช. ให้ดำเนินการผลิตบาล์มตะไคร้จากสารสกัดน้ำมันตะไคร้ จำนวน 3,000 ขวด เพื่อมอบให้แก่ชุมชนในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่ประสบอุทกภัย นับว่าเป็นการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานภายใต้ กระทรวง อว. ที่ร่วมมือกันขยายประโยชน์งานวิจัยให้สามารถใช้ได้จริง
 

ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มีภารกิจสำคัญในการการบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมแก่นักวิจัย หน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม ในประเด็นสำคัญของประเทศ มุ่งเน้นการสร้างผลงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์และแก้ไขปัญหาได้จริงอย่างทันท่วงที ทั้งเชิงวิชาการ เชิงเศรษฐกิจ เชิงสังคมและชุมชน และเชิงนโยบาย เพื่อใช้เป็นกลไกในการพัฒนาและแก้ปัญหาเร่งด่วนสำคัญของประเทศ 

ในครั้งนี้ ประเทศไทยต้องประสบกับสถานการณ์น้ำท่วม และยังคงมีจังหวัดที่น้ำท่วมขังสูง ยาวนานหลายสัปดาห์ ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน ต้องเดินลุยน้ำและแช่น้ำเป็นเวลานาน จนเริ่มมีอาการของ “โรคน้ำกัดเท้า” การป้องกันโรคน้ำกัดเท้าโดยรักษาความสะอาดและทำให้เท้ามีความชื้นน้อยที่สุดจึงเป็นเรื่องสำคัญ วช. เล็งเห็นว่า ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร วว. ได้ดำเนินงานวิจัยและพัฒนา โดยนำสมุนไพรไทยมาสกัดแล้วพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับป้องกันและรักษาโรคและอาการต่าง ๆ ได้ วช.จึงได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนา จนนำมาสู่การใช้ประโยชน์ของผลิตภัณฑ์บาล์มตะไคร้ เพื่อรักษาน้ำกัดเท้า

นอกจากนี้ วช. ยังได้นำต้นฟ้าทะลายโจรซึ่งเป็นพืชสมุนไพรจากโครงการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรคืนถิ่นจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ วช. ให้การสนับสนุน จำนวน 500 ต้น มามอบให้กับตัวแทนชุมชนด้วย โดยฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรไทยที่ถูกนำมาใช้งานอย่างแพร่หลาย ในฐานะสมุนไพรทางเลือกที่มีฤทธิ์เย็น ช่วยปรับลดความร้อนในร่างกาย เมื่อมีอาการไข้หวัด ไอและเจ็บคอ เพื่อรักษาสมดุลในร่างกาย ทำให้ฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรที่นิยมใช้ประโยชน์ในการรักษาไข้หวัด อีกทั้งยังสามารถนำมารักษาอาการเบื้องต้นของผู้ป่วยโควิด-19 ได้อีกด้วย

 สำหรับการส่งมอบผลิตภัณฑ์บาล์มตะไคร้และต้นฟ้าทะลายโจรในวันนี้ ได้มีตัวแทนชุมชนเข้ารับมอบ ประกอบด้วย ผู้ใหญ่สมพร ธัญญาวุฒิ หมู่บ้านหาดทราย หมู่ที่ 3 ต.พระยาบันลือ อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา สท.สุนทร กำเสียงใส ผู้แทนหมู่บ้านศาลาแดง หมู่ที่ 11 ต.โคกคราม อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี อาจารย์พูนศักดิ์ ทิพย์ศิริ ผู้แทนหมู่บ้านอ่าวหม้อแกง หมู่ที่ 10 อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี นายพันธกานต์ ปทุมวัน ผู้แทนประชาชนใน อ.ท่าเรือ อ.เสนา อ.บางบาล อ.มหาราช อ.บางประหัน จ.พระนครศรีอยุธยา และผู้ใหญ่อารุณี วงศ์หาญ ผู้แทนบ้านเกาะกลาง หมู่ที่ 3 ต.ลุมพลี อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา.