สวทช.-พันธมิตร คิดวิธีสกัดสารพันธุกรรมโควิด จากตัวอย่างแบบง่ายสำเร็จ!
โดยวิธีสกัดสารพันธุกรรมของเชื้อโควิด จากตัวอย่างแบบง่าย สามารถทำการสกัดได้เร็ว ราคาถูก ที่สำคัญยังปรับวิธีให้ใช้กับเครื่องสกัดอัตโนมัติที่มีอยู่ในท้องตลาดได้ค่อนข้างง่าย ราคาถูกกว่านำเข้า 2 เท่า เตรียมผลิตขายครั้งแรกในไทย พร้อมส่งมอบสู่มือบุคลากรทางการแพทย์
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา กระทรวง อว. เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้กับโรคโควิด-19 ด้วยการระดมสรรพกำลังจากหน่วยงานวิจัย และสถาบันอุดมศึกษาทั้งหมด ที่เป็นแหล่งรวมบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถและความเชี่ยวชาญมาคิดค้น วิจัย และพัฒนานวัตกรรม กระทั่งนำไปสนับสนุนการปฏิบัติงานของทีมแพทย์ด่านหน้าได้เป็นอย่างดี โดยกระทรวงสาธารณสุขเป็นด่านหน้า ขณะที่กระทรวง อว. เป็นกองหนุน ได้ให้การสนับสนุนด้านวิชาการ การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม รวมทั้งสถานที่ฉีดวัคซีนตามมหาวิทยาลัยเกือบครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อรับมือกับวิกฤตครั้งใหญ่ครั้งนี้
การป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 กระทรวง อว. มีการดำเนินการแก้ปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า ตลอดจนการสร้างผลประโยชน์ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวให้แก่ประเทศ โดยในระยะสั้นมีโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศหรือเรียกสั้นๆ ว่า U2T ที่เกิดขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการว่างงานจากวิกฤตโควิด-19 เป็นการจ้างงานของรัฐบาลที่ทำได้อย่างรวดเร็วที่สุด ทำให้คน 60,000 คน ที่เป็นลูกหลานของชาวบ้านมีงานทำกระจายไป 3 พันตำบลทั่วประเทศ และเป็นครั้งแรกที่ให้มหาวิทยาลัยทั่วประเทศกว่า 76 แห่ง ลงสู่ตำบลเพื่อทำงานร่วมกับชุมชน ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในชุมชนหลายร้อยล้านบาท
และกำลังเข้าสู่ โครงการ U2T ในระยะที่ 2 ซึ่งจะเป็นโครงการที่พัฒนาขึ้นและต่อยอดจากระยะที่ 1 ประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบ 1.การฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 2.การดูแลเศรษฐกิจชุมชนแก้ไขปัญหาต่างๆ ตามบริบทของชุมชน และ 3.การจ้างงานบุคลากรที่มีความรู้ มุ่งเน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG เป็นประเด็นสำคัญ จะมีการปฏิบัติงาน 7,435 ตำบลทั่วประเทศ จ้างงาน 150,000 คน
สถานการณ์ในวันนี้เริ่มคลี่คลาย มีการเปิดประเทศเป็นวันที่ 2 แล้ว เพื่อที่จะให้ทุกส่วนขับเคลื่อนต่อไปได้ กระทรวง อว. ยังพัฒนายา วัคซีน และเทคโนโลยีต่างๆ ต่อไป เพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโรค ขณะเดียวกันก็พัฒนาประเทศตามนโยบายโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (BCG Economy Model) ที่เป็นวาระของชาติ ซึ่งครอบคลุมเรื่องการพัฒนายา วัคซีน และเครื่องมือแพทย์ด้วย เพื่อสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการตอบโจทย์เศรษฐกิจบีซีจีทั้งสิ้น และตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้เป็นต้นไปจะเป็นส่วนสำคัญของการประชุม APEC
"สำหรับในวันนี้ ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง สำหรับความสำเร็จล่าสุดของผลงานวิจัยชุดสกัดอาร์เอ็นเอ ของศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ สวทช. ที่ผมเป็นประธาน กวทช. อยู่ ภูมิใจกับ สวทช. ที่พัฒนาชุดสกัดอาร์เอ็นที่ได้มาตรฐาน มีประสิทธิภาพเทียบเท่าชุดสกัดอาร์เอ็นเอที่นำเข้าจากต่างประเทศ แต่ราคาถูกกว่ามาก และมีการส่งมอบให้แก่ 3 หน่วยงาน คือ กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมราชทัณฑ์ ที่จะได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ผมขอขอบคุณทีมวิจัยและผู้อยู่เบื้องหลังทุกท่าน ถ้าไม่มีทีมวิจัย และไม่มีผู้สนับสนุน เราก็มาไม่ถึงวันนี้ เราทำงานด้วยความลำบาก เปลี่ยนแปลง แก้ไข วิจัยไป พัฒนาไป ยกระดับไป จนในที่สุดก็สำเร็จ ซึ่งไม่ใช่แค่วิจัยและพัฒนานวัตกรรมสำเร็จเท่านั้น แต่ยังสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่การผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายได้ด้วย"
ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. มีเป้าหมายที่จะใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสร้างนวัตกรรมที่สามารถนำไปต่อยอดและขยายผลไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริงทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมทางด้านสุขภาพและการแพทย์ ตามเป้าหมายของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบาย BCG Economy Model ในสาขายุทธศาสตร์ สุขภาพและการแพทย์
ซึ่งที่ผ่านมา สวทช. ได้เร่งพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรม สำหรับรองรับการระบาดของโรคโควิด-19 มีการส่งมอบผลงานมากกว่า 20 ผลงาน ครอบคลุมทั้งด้านการป้องกัน การลดการแพร่กระจายและฆ่าเชื้อโรค รวมทั้งการตรวจคัดกรองและการตรวจวินิจฉัยโรคเบื้องต้นให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยมีหลายผลงานที่พร้อมทางด้านเทคโนโลยีการผลิตจนสามารถนำไปต่อยอดและเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการภายในประเทศ
"สวทช. รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ส่งมอบชุดสกัด RNA (Viral RNA Extraction Kit) ของศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัด สวทช. ที่ได้รับเงินกู้ฉุกเฉินภายใต้ "พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563" เพื่อดำเนินการพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัยชุดสกัด RNA ให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วเหมาะสมกับการใช้งานจริง รวมถึงการขยายผลในการผลิตเพื่อส่งมอบให้หน่วยงานที่ใช้ประโยชน์โดยตรง อาทิ กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมราชทัณฑ์ รวมจำนวน 82,000 ชุด (มูลค่าแปดล้านบาทเศษ) ได้นำไปใช้สกัดอาร์เอ็นเอ ก่อนส่งตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยโรคโควิด-19"
โดยใช้ตัวอย่างจากสารคัดหลั่ง หรือ swab ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเทคนิค Real-time RT-PCR ในราคาที่ถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศอย่างน้อย 2 เท่า (ราคานำเข้าอยู่ที่ 120-200 บาท) ซึ่งการวิจัยและพัฒนานี้ถือเป็นจุดแข็งของประเทศที่จะช่วยสนับสนุนความมั่นคงด้านสุขภาพ ช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าชุดสกัด ช่วยให้ประเทศมีความพร้อมในการรับมือต่อการระบาดของโรคอุบัติใหม่ และยังเป็นส่วนสำคัญของการวิจัยพัฒนาเพื่อ ตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลใช้เป็นนโยบายสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
สิทธิโชค ตั้งภัสสรเรือง ผู้อำนวยการศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ สวทช. กล่าวเสริมว่า ตลอดการระบาดของ โควิด-19 ตั้งแต่ระลอกแรกเมื่อปีที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คิดค้นและพัฒนา "วิธีสกัดอาร์เอ็นเอ (RNA) ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) จากตัวอย่างแบบง่าย" ขึ้น โดยใช้อนุภาคแม่เหล็ก (Magnetic bead) จับกับสารพันธุกรรมอาร์เอ็นเอของไวรัส ซึ่งอาร์เอ็นเอของเชื้อไวรัสที่สกัดได้มีความบริสุทธิ์สูง สามารถนำไปตรวจวิเคราะห์ด้วยวิธี RT-PCR
ทั้งนี้วิธีในการสกัดสารพันธุกรรม ที่คิดค้นมี 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1.การทำให้เซลล์แตกตัวแล้วปล่อยสารพันธุกรรมออกมา 2.การเข้าจับสารพันธุกรรมและทำความสะอาดสารพันธุกรรม และ 3.การละลายสารพันธุกรรมบริสุทธิ์นั้นออกมาจากตัวจับ และทำความสะอาดสารพันธุกรรมที่อยู่ในตัวอย่าง ซึ่งสามารถทำการสกัดได้เร็ว ราคาถูก ที่สำคัญยังปรับวิธีให้ใช้ได้กับเครื่องสกัดอัตโนมัติที่มีอยู่ในท้องตลาดได้ค่อนข้างง่าย ทั้งนี้วิธีสกัดอาร์เอ็นเอดังกล่าว ยังสามารถนำไปใช้ในการสกัดสารพันธุกรรม ในสิ่งมีชีวิตอื่นๆได้ ไม่จำกัดเพียงไวรัสก่อโรคโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังรวมถึงไวรัสก่อโรคในพืช สัตว์และมนุษย์
"วิธีการสกัดที่พัฒนาขึ้น ถือเป็นวิธีที่ง่ายสามารถใช้งานกับสารเคมีและอุปกรณ์ที่มีอยู่ในห้องปฏิบัติการด้านพันธุกรรม ซึ่งทีมนักวิจัยฯ ได้มีการนำไปทดสอบใช้งานจริงกับตัวอย่างตรวจของคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว พบว่าให้ผลไม่แตกต่างจากการใช้ชุดสกัดที่นำเข้าจากต่างประเทศ"
ปัจจุบันทีมวิจัยได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัท After Lab และ Bioentist เป็นผู้รับอนุญาตให้สิทธิใช้ประโยชน์เพื่อเตรียมผลิตและจำหน่ายทางการค้าครั้งแรกในไทย ทั้งนี้ภายใต้โครงการดังกล่าว ทีมวิจัย สวทช. ได้ร่วมกับบริษัท After Lab ในการปรับวิธีให้สามารถใช้ได้กับเครื่องสกัดแบบอัตโนมัติ และมีทีมของ รศ. ดร.พรสวรรค์ เหลืองวุฒิวงษ์ จากคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล และทีมของ ดร.พิไลลักษณ์ อัคคไพบูลย์ โอกาดะ จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมในโครงการเพื่อทำการทดสอบการใช้งานในตัวอย่างจริง ซึ่งได้รับการสนับสนุนการใช้เครื่องสกัดสารพันธุกรรมแบบอัตโนมัติ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายจากบริษัท After Lab