"11.11" ดับเบิลเดย์ เขย่าโลก "นักช้อป" พลิกโมเดล อีคอมเมิร์ซยุคใหม่

"11.11" ดับเบิลเดย์ เขย่าโลก "นักช้อป" พลิกโมเดล อีคอมเมิร์ซยุคใหม่

เทศกาล "11.11" วันคนโสด ปี 2021 เป็นเทศกาลการขายสินค้าออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุด และมีมูลค่ามากที่สุด เทศกาลนี้ เปิดตัวโดย อาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เมื่อปี 2552 เลียนแบบมาจากการเฉลิมฉลองให้คนโสดวันที่ 11 พ.ย. ด้วยความเชื่อที่ว่าวันที่ 11 พ.ย. เป็นวันที่มีคนโสดมากที่สุด

เทศกาล 11.11 ขยายจากหนึ่งวันกลายเป็น 3 สัปดาห์ และจากแพลตฟอร์ม เถาเป่า (Taobao) ของ อาลีบาบา ไปยังธุรกิจค้าปลีกทั้งหมด จนวันนี้กลายมาเป็น “แคมเปญใหญ่” หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น “วันชอปปิงแห่งชาติ” เป็นวาระที่รอคอยของบรรดาแบรนด์สินค้าต่างๆ ทั่วโลก ไม่ใช่แค่เฉพาะแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเท่านั้น บรรดาโซเชียลตัวดังๆ ก็หันมาเล่นกับเทศกาลนี้ด้วยเช่นกันต่อให้มีแคมเปญลดราคาอะไรออกมาก็ไม่ฮิต ไม่ปัง เท่า แคมเปญ 11.11 หรือช่วงดับเบิลเดย์วันอื่น เช่น 10.10 12.12 9.9 8.8

ในอดีตเทศกาล 11.11 จะเริ่มต้นการขายสินค้าตั้งแต่เที่ยงคืนของวันที่ 11 พ.ย. เป็นช่วงเวลาที่ผู้บริโภคต่างเฝ้ารอตลอดทั้งคืน เพื่อสั่งซื้อสินค้าที่ต้องการ แต่สำหรับปีนี้ทั้งทีมอลล์ (Tmall) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเรือธงของอาลีบาบา และ JD.com เริ่มขายสินค้าล่วงหน้าสำหรับเทศกาล 11.11 ตั้งแต่เวลา 20.00 น.

\"11.11\" ดับเบิลเดย์ เขย่าโลก \"นักช้อป\" พลิกโมเดล อีคอมเมิร์ซยุคใหม่

  • ‘อาลีบาบา’ ปลุก 11.11 ฮิตทุกปี 

สำหรับ อาลีบาบา ยังคงขายสินค้าบนแพลตฟอร์มเหมือนเช่นปี 2563 โดยทั้ง 2 แพลตฟอร์มคือ เถ่าเปา และทีมอลล์ จะมีช่วงระยะเวลาขายสินค้าทั้งหมดสองช่วงด้วยกัน ช่วงแรกระหว่างวันที่ 1-3 พ.ย. และในวันเทศกาล (11 พ.ย.) ขณะที่คู่แข่งอย่าง JD.com เริ่มขายสินค้าลดราคาสำหรับวันเทศกาลตั้งแต่ 31 ต.ค. เวลา 20.00 น. และสินค้าจะได้รับการลดราคามากที่สุด ตั้งแต่เวลา 20.00 น.ของวันที่ 10 พ.ย.

ปีนี้ ‘อาลีบาบา’ ยังคงโหมกลยุทธ์มหกรรมวันคนโสด 11.11 ให้ยิ่งใหญ่กว่าทุกปี ดึงความแข็งแกร่งเทคโนโลยี เพิ่มสีสันชอปปิงออนไลน์ ดึงแบรนด์เข้าร่วมมากสุดเป็นประวัติการณ์ 290,000 แบรนด์ ธีมปีนี้มุ่งสร้างความยั่งยืนทั้งการใช้ชีวิตของผู้บริโภค แบรนด์ และอีโคซิสเต็ม

“คริส ต่ง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการตลาด อาลีบาบา กรุ๊ป กล่าวว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจ แต่เป็นการผลักดันการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ทำให้หลายธุรกิจ รวมถึงผู้บริโภคเข้ามาสู่ตลาดออนไลน์มากขึ้น และเป็นตัวจักรสำคัญดันการเติบโตการค้าข้ามแดน

อาลีบาบา บอกว่า มีแบรนด์เข้าร่วมปีนี้ถึง 290,000 แบรนด์ มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ทีมอลล์นำเสนอดีลพิเศษมากกว่า 14 ล้านดีล ไปยังผู้บริโภคในจีนมากกว่า 900 ล้านคน ครอบคลุมทั้งคนรุ่นใหม่กระทั่งผู้สูงวัย ที่พิเศษในปีนี้ คือ ทีมอลล์ ได้ยกระดับการรณรงค์เรื่องไลฟ์สไตล์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพิ่มหน้าเฉพาะสำหรับสินค้าที่ลดการใช้พลังงานและลดผลกระทบต่อโลก แจกคูปองชอปปิง “สีเขียว” มูลค่ากว่า 500 ล้านบาท จูงใจให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

\"11.11\" ดับเบิลเดย์ เขย่าโลก \"นักช้อป\" พลิกโมเดล อีคอมเมิร์ซยุคใหม่

  • 11.11 ในไทยร้อนแรงไม่เป็นรองใคร

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ ไทย “ลาซาด้า” Lazada (อีกแบรนด์เรือธงของอาลีบาบา) ถือเป็นหัวหอกสำคัญ และเป็นผู้นำของแคมเปญ 11.11 ลาซาด้ามีเครือข่ายในหลายประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม ลาซาด้า เป็นผู้ริเริ่ม 11.11 ในไทยครั้งแรกเมื่อปี 2555 และได้รับผลตอบรับอย่างดีจากเหล่านักช้อป ยอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นกว่า 6,500 เท่า และจำนวนผู้ซื้อเพิ่มขึ้น 4,200 เท่าในปีแรก 

นอกจากยังมี Shopee  แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำ ยังมี JD Central กวาดยอดช้อปออนไลน์ในมหกรรมนี้อย่างจริงจัง และอัดแคมเปญโหดแบบไม่เป็นรองใคร ไม่นับรวมแบรนด์สินค้าอื่นๆ โซเชียลมีเดียตัวดัง แอพฟู้ดดิลิเวอรี่ ฯลฯ และสินค้าในกลุ่มเซ็กเมนท์ใหญ่ๆ ทั่วฟ้าเมืองไทยที่เล่นกับเทศกาลนี้อย่างจริงจังมากขึ้นเช่นกัน

“ธนิดา ซุยวัฒนา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายธุรกิจ บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) ย้ำว่า ยอดขายแคมเปญ 11.11 ปีนี้จะเติบโตเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 60% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และเติบโต 130% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ พร้อมหวังด้วยว่าจะสามารถทำลายสถิติของปีที่ผ่านมาได้อีกครั้ง ภายใต้คอนเซปต์ “Lazada 11.11 Our Biggest One-Day Sale ถูกที่สุดในรอบปี วันนี้วันเดียว

  • ‘ไอที-อิเล็กทรอนิกส์’ สินค้ายอดฮิต

สินค้าที่จะได้รับความนิยมสูงสุด คาดว่า จะเป็นสินค้าชิ้นใหญ่ราคาแพงซึ่งนำมาลดราคาพิเศษ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ สมาร์ทโฟน แทบเล็ต และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ รวมถึงสินค้าแฟชั่นรับการเปิดเมือง

อย่างไรก็ดี ความสำเร็จแคมเปญ 11.11 เมื่อปี 2563 ลาซาด้า เผยว่า เพียง 3 นาทีแรกทำยอดขายได้ 111 ล้านบาท ภายสองชั่วโมงทำยอดขายได้ 1 พันล้านบาท และหนึ่งวันแรกมียอดคำสั่งซื้อกว่า 6 ล้านออเดอร์

“สถานการณ์ล็อกดาวน์ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป หันมาใช้บริการบนดิจิทัลมากขึ้น ลาซาด้าพบว่า คำสั่งซื้อบนแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้น 2 เท่า ยอดขายเพิ่มขึ้น 1.6 เท่า ขณะที่ผู้ซื้อเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า โดยภาพรวมปีนี้ตั้งเป้าว่าจะสามารถเติบโตได้เกิน 100% ซึ่งจากช่วงที่ผ่านมาสามารถทำได้ตามเป้าหมายเรียบร้อยแล้ว”

ไตรมาสที่ 4 ลาซาด้ามีแผนจัด 2 เมกะแคมเปญ คือ 11.11 และ 12.12 พร้อมขยายความร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ ต่อเนื่อง ขณะที่ พบว่าแม้คลายล็อกดาวน์ เปิดเมืองกันไปแล้ว แต่ผู้บริโภค 83% บอกว่า จะยังคงซื้อออนไลน์ต่อไป ซึ่งแน่นอนว่า ปีหน้าตลาดจะยิ่งเติบโต การแข่งขันจะยิ่งรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง

ผลสำรวจโดยธนาคารเกียรตินาคินภัทร คาดการณ์ไว้ว่า ปีนี้ตลาดอีคอมเมิร์ซประเทศไทย จะมีมูลค่าราว 3 แสนล้านบาท คิดเป็น 8% ของภาพรวมค้าปลีก และตลอด 5 ปีจากนี้จะเติบโตได้ 20% โดยภายในปี 2568 มูลค่าจะพุ่งขึ้นไปสูงถึง 7.5 แสนล้านบาท

  • ปลุกอีคอมเมิร์ซโค้งสุดท้าย “คึก” 

นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมอีคอมเมิร์ซไทย กล่าวว่า ช่วงก่อนโควิดอุตสาหกรรมค้าปลีกแบบออฟไลน์เติบโต 5% ค้าปลีกออนไลน์เติบโต 54% ทว่าพอเกิดวิกฤติโควิดค้าปลีกออฟไลน์กลับติดลบ 5% ขณะที่ค้าปลีกออนไลน์เติบโตมากถึง 81%

สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้คนเปลี่ยนมาจับจ่ายบนช่องออนไลน์ประกอบด้วย 1.ข้อบังคับช่วงโควิด 2.ดีลและโปรโมชั่น 3.ช้อปได้ 24 ชั่วโมง 7 วัน 4.ประหยัดเวลา และ 5.เปรียบเทียบราคาง่าย 

 ปี 2563 ภาพรวมตลาดอีคอมเมิร์ซไทย(บีทูซีและซีทูซี) มีมูลค่า 294,000 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้ามากถึง 81% ส่วนปี 2564 มีการคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่า 356,000 ล้านบาท เติบโตจากปี 2563 ราว 21%

“พฤติกรรมนักช้อปคนไทยทุกวันนี้ ไม่ว่าจะซื้อจากช่องทางไหน ออนไลน์มีอิทธิภาพต่อกระบวนการตัดสินใจ และอีคอมเมิร์ซเป็นทางรอดของหลายๆ ธุรกิจในทุกวันนี้ และเชื่อว่าอีคอมเมิร์ซจะยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องแม้ว่าโควิดจะหมดไปแล้วก็ตาม”

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์