“นิลมังกร เดอะเรียลลิตี้” ติวเข้มธุรกิจนวัตกรรม 4 ภูมิภาค
เอ็นไอเอ จับมือ ม.เกษตร เปิดตัวรายการ “นิลมังกร เดอะเรียลลิตี้” ดึง 20 โลคอลเอสเอ็มอี-สตาร์ทอัพ-กิจการเพื่อสังคม ติวเข้มคัมภีร์ทำธุรกิจนวัตกรรมให้แข็งแกร่งท้าทายยุคโควิดกับสุดยอดเมนเทอร์ ตั้งเป้าเพิ่มยอดขาย 3 เท่า คิดเป็นมูลค่ายอดขายรวมทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 630 ล้านบาท
พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า NIA มีเป้าหมายที่จะผลักดันประเทศไทยให้ก้าวสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม โดยแนวทางหนึ่งที่สำคัญคือ การกระจายโอกาสทางนวัตกรรมไปสู่ระดับภูมิภาค โดยเฉพาะในกลุ่มเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ และกิจการเพื่อสังคมที่มีอยู่ทั่วประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างแต้มต่อให้กับการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างและยั่งยืน
โดยอาศัยอัตลักษณ์ความโดดเด่นในพื้นที่หรือบริบททางภูมิศาสตร์ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อสร้างให้เกิด “ย่านนวัตกรรม” ที่เอื้อต่อการทำงานร่วมกันในรูปแบบเครือข่ายที่เข้มแข็ง ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา NIA ได้ริเริ่มโครงการสุดยอดธุรกิจนวัตกรรมประเทศไทยประจำปี 2564 ระดับภูมิภาค ภายใต้ “นิลมังกรแคมเปญ” เพื่อเป็นแพลตฟอร์มเชื่อมโยงผู้ประกอบการทั้งเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ และกิจการเพื่อสังคม ให้สามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางด้านนวัตกรรมระดับภูมิภาค และสร้าง “นิลมังกร” ตัวแรกของประเทศไทย
ซึ่งเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการกลุ่ม 3S ได้แก่ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สตาร์ทอัพ (Startup) กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) จากทุกภูมิภาคเข้าร่วมโครงการโดยเท่าเทียมกัน โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องนำอัตลักษณ์ความเป็นท้องถิ่นของตนเองมาสร้างนวัตกรรมให้กับสินค้าและบริการ และสร้างธุรกิจของตนเองจนกลายเป็นฮีโร่และเป็นที่รู้จักระดับประเทศ”
“สำหรับรายการ “นิลมังกร The Reality” เป็นการต่อยอดจาก “นิลมังกรแคมเปญ” ที่มีการค้นหาสุดยอดธุรกิจที่โดดเด่นด้าน นวัตกรรมกว่า 1,000 ทีม จาก 4 ภาคทั่วประเทศ และคัดเหลือ 20 ทีมสุดท้ายที่จะเข้ามาแข่งขันในรูปแบบรายการโทรทัศน์ “Reality Show” เพื่อให้เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยทุกทีมจะแข่งขันกันสร้างธุรกิจให้เติบโตในยุคโควิดนี้ ผู้ชมจะได้รับประสบการณ์ในการนำธุรกิจฝ่าวิกฤต เพื่อนำไปปรับใช้กับธุรกิจของตัวเอง ซึ่งรายการนี้มีครบทั้งสาระและความบันเทิงที่ผู้ชมทุกท่านไม่ควรพลาด โดยการแข่งขันในรายการ จะเริ่มต้นด้วยการนำเสนอธุรกิจกับคณะกรรมการในเวลาจำกัด ตอบคำถามจากคณะกรรมการ และตั้งเป้าหมายธุรกิจผ่านการนำเสนอแผนธุรกิจนวัตกรรม เพื่อคัดจาก 20 ทีม เหลือเพียง 12 ทีม เข้าสู่รอบ Reality ต่อไป ซึ่งในรอบนี้จะใช้ความรู้จาก Coaching ของผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อพัฒนาธุรกิจและใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายผ่านการนำเสนอในรูปแบบ Reality ภายในช่วงเวลา 45 วัน จากนั้นจึงมานำเสนอกับคณะกรรมการเพื่อชิงตำแหน่งแชมป์ “นิลมังกร” ทีมแรกของประเทศไทย และคว้าเงินรางวัลสูงถึง 2,000,000 บาท” พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติม
กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวเสริมว่า กว่าจะมาเป็น “นิลมังกร 20 ทีม” สุดท้าย NIA ได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรเพื่อพัฒนาระบบนวัตกรรมภูมิภาคอย่างใกล้ชิดมาตลอด 3-4 ปีที่ผ่าน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐในระดับประเทศและท้องถิ่น หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย รวมถึงอุทยานวิทยาศาสตร์และมหาวิทยาลัย 15 แห่งทั่วประเทศ โดยมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางหลักในภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในภาคใต้ และศูนย์แบรนด์เคยู คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในภาคกลาง เพื่อช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการในแต่ละภูมิภาค
โดยเปิดรับสมัครและคัดเลือกผู้ประกอบการที่ผ่านเข้ารอบภาคละ 30 ทีม รวม 120 บริษัทเข้าสู่แคมป์การฝึกอบรมให้ความรู้ทางด้านการบริหารโมเดลธุรกิจ การตลาด และการสร้างแบรนด์ จากนั้นจึงเข้าสู่รอบพิชชิ่งเพื่อคัดเลือกให้เหลือภาคละ 5 ทีม รวม 20 บริษัท เข้าสู่การบ่มเพาะทักษะการทำธุรกิจและการตลาดในโลกการค้ายุคใหม่ผ่านรายการ “นิลมังกร เดอะเรียลลิตี้” ซึ่งจะสื่อสารในรูปแบบสาระบันเทิง (Edutainment) เพื่อให้ประชาชน หรือผู้ประกอบการเข้าถึงและสนุกกับนวัตกรรมได้ง่ายยิ่งขึ้น
โดยมีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญจาก NIA แล้ว ยังได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย ได้แก่ รศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ผศ.ดร. ศิริรัตน์ โกศการิกา ผู้อำนวยการศูนย์ BrandKU มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คุณยุทธนา บุญอ้อม สุดยอดครีเอทีฟผู้สร้างสรรค์อีเว้นท์ระดับประเทศ และคุณทรงพล ชัยมาตรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ทีวีไดเร็ค โดย NIA มุ่งหวังว่า 20 ทีมที่เข้าร่วมแข่งขันจะสามารถเพิ่มยอดขายได้อย่างน้อย 3 เท่า หรือคิดเป็นมูลค่ายอดขายรวมทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 630 ล้านบาท พร้อมทั้งสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักได้เพิ่มขึ้นประมาณ 30%
ด้าน จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีการส่งเสริมความคิดทางด้านนวัตกรรมผ่านหลักสูตรต่าง ๆ ในทุกคณะวิชาอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยมีการสร้างนวัตกรรุ่นใหม่ผ่านการเรียนการสอนในลักษณะ Project and Innovation Based Learning ที่จะช่วยเอื้อให้นิสิตผลิตชิ้นงานนวัตกรรมออกมาอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งการวางพื้นฐานทางด้านนวัตกรรม ต้องได้รับการบ่มเพาะตั้งแต่ในระดับเมล็ดพันธุ์ มหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็นแหล่งผลิตองค์ความรู้ใหม่ จึงมีการปรับตัวทางด้านการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้ทุกศาสตร์ต้องมีนวัตกรรม อันเป็นตัวส่งเสริมเพิ่มมูลค่าของธุรกิจอย่างยั่งยืน
“สำหรับความร่วมมือกับ NIA นี้ นับเป็นความท้าทายที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะพลิกตำราในการบริหารธุรกิจนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจของผู้เข้าร่วมโครงการนี้ เติบโตฝ่าวิกฤตโควิดไปให้ได้ ด้วยการส่งทีมคณาจารย์กว่า 20 ท่านเพื่อช่วยโค้ชชิ่ง กลยุทธ์การฝ่าวิกฤต พร้อมสร้างยอดขายให้เติบโตในสถานการณ์นี้ และเรามั่นใจว่าองค์ความรู้แบบมีนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะช่วยผู้ประกอบการให้แข็งแกร่งท้าทายยุคโควิดได้อย่างแน่นอน”