เทรนด์ ไมโคร เปิด 3 กลุ่มธุรกิจถูก ภัยไซเบอร์ โจมตีมากสุด
เทรนด์ไมโคร เผยทิศทางรับปี 2022-2023 เน้นเข้าถึงลูกค้าฉับไว ส่งแพลตฟอร์มไซเบอร์ซิเคียวริตี้ รับมือภัยคุกคามดุเดือดได้ฉับพลัน ชี้การมองเห็นความเป็นไป ช่วยป้องกันเชิงรุก เปิด 3 กลุ่มที่ถูกโจมตี "ภาคธนาคาร องค์กรในระดับเอนเตอร์ไพรซ์ ธุรกิจคอมเมอร์เชียล"
เทรนด์ไมโคร ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบความปลอดภัยไซเบอร์ระดับโลก สรุปสถานการณ์ ไซเบอร์ ซิเคียวริตี้ พร้อมความสำเร็จหลักในปี 2021 พร้อมมุ่งสู่ปี 2022 ตอบโจทย์กระแสการมุ่งสู่คลาวด์ และ As-a-Service ขององค์กรธุรกิจ เพื่อการทำงานแบบ WHF และ Hybrid Model ที่ปลอดภัย ชู Vision One Service One และ Global Threats Intelligence เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีมากยิ่งขึ้นให้กับองค์กร
ปิยธิดา ตันตระกูล ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เทรนด์ไมโคร (ประเทศไทย) จำกัด ภาพรวมหลักของภัยคุกคามในประเทศไทย ในปี 2021 ยังคงเป็นเรื่องของ แรนซัมแวร์ แต่แนวโน้มมีความสามารถในการรับมือได้ดีขึ้น และมีความเสียหายน้อยลงเนื่องจากการตรวจพบและการตอบสนองต่อการการโจมตี (detect & response) ทำได้ไวขึ้น โดยกลุ่มที่เป็น Top 3 ของการโจมตียังคงเป็นภาคธนาคาร องค์กรในระดับเอนเตอร์ไพรซ์ และธุรกิจคอมเมอร์เชียล ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ล่วงหน้า (prediction) ที่เทรนด์ไมโครทำนายไว้
จากการคาดการณ์ของการ์ทเนอร์ ทิศทางของตลาดไซเบอร์ซิเคียวริตี้มีการเติบโตมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของคลาวด์ ซิเคียวริตี้ เนื่องจากการมาถึงของโควิด-19 ทำให้การทำงานจากบ้าน หรือ WFH เพิ่มสูงขึ้น ทำให้องค์กรมีการปรับไปสู่การใช้งานคลาวด์มากยิ่งขึ้น องค์กรธุรกิจในภาคส่วนต่างๆ มีความสนใจในการที่จะใช้บริการในลักษณะของ As-a-Service เพิ่มขึ้น ทำให้ตลาดไซเบอร์ซิเคียวริตี้ของไทย โดยเฉพาะคลาวด์ ซิเคียวริตี้ มีการเติบโตขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้
ในส่วนของรูปแบบของการโจมตีและภัยคุกคามในปี 2021 "หลักๆ มีอยู่ 3 เรื่องสำคัญคือเมื่อตลาดเริ่มไปสู่คลาวด์เพิ่มมากขึ้น ภัยคุกคามต่างๆ ก็ตามมาในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นคลาวด์ซิเคียวริตี้จึงมีความต้องการมากขึ้น นอกจากนี้ การเปลี่ยนไปสู่ SaaS model ทำให้เกิดการโจมตี หรือแรนซัมแวร์ในลักษณะ Ransomware-as-Service เพิ่มสูงขึ้น และท้ายสุดคือการโจมตีที่ไม่เคยพบมาก่อน เช่น log4j จะเป็นสิ่งที่เห็นมากยิ่งขึ้นในปีหน้า
"เราต้องสามารถเห็นภาพรวมด้านการรักษาความปลอดภัยทั้งหมดของลูกค้า ในปี 2022 ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิม ทั้งในมุมของการป้องกัน การมองเห็นภาพรวมมากขึ้นคือสิ่งจำเป็น ส่วนภัยคุกคามอย่างแรนซัมแวร์จะมีการทำเรื่องของการปกป้องแบบหลายระดับเพิ่มมากขึ้น รวมถึงมีระบบสำรองข้อมูลที่ดีและใหม่อยู่เสมอทั้งในแง่ของเครื่องมือและอัพเดตให้พร้อมรับมือเสมอ" ปิยธิดากล่าว
ปิยธิดา ยังเสริมว่า "สิ่งที่เป็นความสำเร็จที่สำคัญของเทรนด์ไมโครในปีนี้ คือการที่เราเปลี่ยนรูปแบบไปสู่การเข้าถึงถึงลูกค้ามากขึ้น สร้างความตระหนักรู้กับองค์กรและหน่วยงานสำคัญด้านการรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์เพิ่มขึ้น เราปรับวิกฤตเป็นโอกาส ทำให้เห็นได้ชัดว่าตลาดมีความต้องการทางด้านซิเคียวริตี้เพิ่มขึ้นในปีนี้ องค์กรขนาดใหญ่และภาคการเงินยังลงทุนด้านการรักษาความปลอดภัย ที่สำคัญภาคอุตสาหกรรมการผลิตและค้าปลีกเองมีการปรับเข้าสู่คลาวด์เร็วขึ้น ทำให้เราก็ต้องขยับตัวให้เร็วตามเพื่อให้ตอบสนองลูกค้าให้เร็วกว่าเดิม"
สำหรับแนวการดำเนินงานในช่วงปี 2022-2023 Digital Transformation ยังคงเป็นแรงส่งสำคัญที่องค์กรต่างๆ ยังคงเร่งดำเนินการเพื่อให้สามารถทำงานได้ทั้งในรูปแบบของ WFH ตลอดจนการทำงานแบบ Hybrid Model ได้อย่างปลอดภัย
ในปี 2022 เทรนด์ไมโครตั้งเป้าหมายในการเป็น Cybersecurity Platform ในการช่วยลูกค้าในแง่ของการตอบสนองต่อสถานการณ์ไม่พึงประสงค์และไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น เพื่อให้องค์กรสามารถควบคุมสถานการณ์และมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นให้รวดเร็วทันการณ์และลดความเสียหายให้มากที่สุด และยังสามารถเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning) โดยมีเครื่องมือต่างๆ เข้ามาช่วยป้องกันเชิงรุกเพิ่มมากขึ้น ในทิศทางที่จะช่วยให้องค์กรสามารถตั้งรับกับการปฏิรูปแบบฉับพลัน (immediate transform) ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
โดยการนำของ Trend Micro Vision One Platform แพลตฟอร์มระบบความปลอดภัยไซเบอร์ ที่มีโซลูชัน Service One สำหรับจัดการขยายการตรวจจับและการตอบสนองต่อภัยคุกคาม Extended Detection and Response (XDR) และ Incident Response ที่เป็นทั้งเครื่องมือจัดการและสอดส่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีมากยิ่งขึ้นให้กับองค์กร รวมไปถึง Global Threats Intelligence กุญแจหลักในการสร้างความพร้อมในการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ให้ลูกค้าอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ