ม.มหิดล พัฒนา "เซนเซอร์วัดกลิ่น" เพื่อโรงงานสีเขียวของไทยครั้งแรก!
ปัจจุบันเทคโนโลยีการสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับ "กลิ่น" ได้มีความก้าวหน้าไปจนถึงระดับที่สามารถวัดค่าและส่งต่อได้ในระบบดิจิทัล ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้หลากหลายแพลตฟอร์ม อาทิ อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมอาหาร รวมถึงการตรวจสอบที่ต้องใช้กลิ่นเป็นโจทย์สำคัญ
เช่น โรงงานที่ตั้งอยู่ใกล้เขตชุมชน ที่ผ่านมาพบปัญหามลพิษทางอากาศ จากกระบวนการผลิตซึ่งส่งกลิ่นที่เป็นอันตราย หรือรบกวนคนในชุมชน จนต้องมีการคิดค้นและพัฒนาเซนเซอร์ตรวจวัดกลิ่นขึ้นเพื่อการตรวจสอบที่แม่นยำและชัดเจนยิ่งขึ้น
โดยที่ปลายทางของการพัฒนานวัตกรรมคือ การนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์และได้ผลจริง ที่สำคัญจะต้องสามารถนำไปแก้ไขปัญหาโดยทำให้คนในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ ภาควิชาฟิสิกส์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้คว้ารางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2565 : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น รางวัลประกาศเกียรติคุณ สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย จากผลงานประดิษฐ์คิดค้น เรื่อง "แพลตฟอร์มเซนเซอร์ตรวจวัดกลิ่นแบบ ioT สำหรับโรงงานสีเขียว และสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ" ได้กล่าวถึงมาตรฐานของโรงงานสีเขียวว่า จะต้องมีการบริหารจัดการการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะต้องไม่ส่งกลิ่นที่เป็นอันตราย หรือรบกวนคนในชุมชน ที่ผ่านมาได้มีวิธีตรวจวัดกลิ่นด้วยการสูดดมโดยผู้เชี่ยวชาญ
ทำให้ได้ผลการตรวจสอบที่อาจกลายเป็นข้อโต้แย้งได้ เนื่องจากผลที่ได้ขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญส่วนบุคคลซึ่งไม่สามารถประเมินออกมาเป็นตัวเลขเทียบวัดได้อย่างแม่นยำและชัดเจน
ผู้วิจัยจึงได้คิดค้นและพัฒนาเซนเซอร์ตรวจวัดกลิ่นแบบ ioT ซึ่งสามารถวัดออกมาเป็นตัวเลข และสามารถส่งผลไปยังอุปกรณ์ดิจิทัลที่เชื่อมต่อได้ทันที อย่างเช่นกรณีปัญหาจากฟาร์มหมู ฟาร์มไก่ ที่ชาวบ้านในชุมชนร้องเรียนว่าส่งกลิ่นเหม็น แต่เมื่อส่งเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญไปประเมินกลับได้ผลสรุปออกมาว่ายังไม่ส่งกลิ่นถึงระดับที่รบกวนชุมชน ด้วยเซนเซอร์ที่คิดค้นขึ้นนี้ นอกจากจะสามารถวัดออกมาได้เป็นตัวเลขว่าส่งกลิ่นเหม็นในระดับใด มีความเร็วของกลิ่นมากน้อยเพียงใดแล้ว ยังจะสามารถระบุได้เลยทันทีว่าที่มาของกลิ่นอยู่ที่ใด และสภาพอากาศในตอนนั้นเป็นอย่างไร
ที่ผ่านมาได้มีการทดลองแล้วโดยใช้กับโรงงานกระดาษแห่งหนึ่งในจังหวัดชานเมืองพบว่าได้ผลดี แม้การวัดกลิ่นด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันยังไม่ถูกรับรองผลโดยกฎหมายสิ่งแวดล้อมไทย แต่ต่อไปจะได้มีการผลักดันสู่ระดับนโยบายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนต่อไป ซึ่งหากได้รับการพัฒนาจนสามารถใช้ได้จริง จะช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้อย่างมหาศาล อีกทั้งเป็นนวัตกรรมที่ผลิตโดยคนไทยเพื่อโรงงานสีเขียวของไทยครั้งแรก จึงใช้งานได้ง่ายและตอบโจทย์มากกว่า
นอกจาก รางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2565 : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นที่ได้รับแล้ว ผลงานวิจัยและนวัตกรรมของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญยังได้รับการอ้างอิงเป็นร้อยละ 2 ของนักวิทยาศาสตร์โลกจากการจัดอันดับโดยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลกด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปีพ.ศ.2564 (World's Top2% Scientists by Standford University 2021) โดยผู้วิจัยมองตัวเองว่าเป็น "นักเทคโนโลยี" ซึ่งมองไปที่ผลของการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยมากกว่าจะเป็นนักวิชาการที่ทำวิจัยเฉพาะเรื่องที่ตัวเองสนใจ
นอกจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ จะมีเครือข่ายซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมเป็นผู้ใช้จริงแล้ว ผลงานวิจัยและนวัตกรรมของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ ยังได้ต่อยอดให้นักศึกษาทำวิทยานิพนธ์ และยังได้ส่งเสริมสตาร์ทอัพสู่การเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของชาติได้ต่อไป นับเป็นความภาคภูมิใจที่ได้เป็น "ปัญญาของแผ่นดิน" ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล และสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ(SDGs) ข้อที่ 9 ที่ว่าด้วย Industry, Innovation and Infrastructure เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืน และข้อที่ 15 ที่ว่าด้วย Life On Land ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนได้ต่อไปอีกด้วย