‘อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์’ สะพัด ‘เอเชีย’ มูลค่าแตะ 4.3 แสนล้านดอลล์ปี 68

‘อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์’ สะพัด ‘เอเชีย’  มูลค่าแตะ 4.3 แสนล้านดอลล์ปี 68

ไอดีซี ออกประมาณการ การใช้จ่ายบนเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ หรือไอโอที ในภูมิภาคเอเชีย จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง คาดภายในปี 2568 มูลค่าการใช้จ่ายไอโอทีในเอเชีย แปซิฟิกจะสูงถึง 4.37 แสนล้านดอลลาร์

การใช้จ่าย ไอโอที (IoT) กำลังไต่ระดับสูงขึ้น ขยายตัว 9.6% ในปี 2564 เพิ่มขึ้นจาก 1.5% ในปี 2563 การประเมินของ ไอดีซี ประจำปี พบตัวเลขที่เกิดขึ้นบ่งชี้ว่าตลาดไอโอที จะเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปในภูมิภาคนี้ (ระหว่างปี 2564-2568) และคาดว่ามูลค่าจะแตะถึง 4.37 แสนล้านดอลลาร์ (437 พันล้านดอลลาร์) ภายในปี 2568 เติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 12.1% 

รีโมทเวิร์คกิ้ง-ขนส่ง-วัคซีน-5จี หนุน

การเติบโตนี้ได้รับแรงหนุนจากการใช้ ความนิยมใช้ระบบติดตามตำแหน่ง ระบบจดจำใบหน้า การทำงานระยะไกล การขนส่งความเย็นและการติดตามวัคซีน แอพพลิเคชั่นที่เน้นวิดีโอเป็นศูนย์กลาง รวมถึงการใช้งาน 5จี ในภูมิภาคนี้ 

"ไอโอที ในเอเชีย ยกเว้นญี่ปุ่น ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในหลายอุตสาหกรรม รวมถึงการขนส่ง การค้าปลีก การผลิต ทรัพยากร และสาธารณูปโภค ซึ่งได้รับแรงหนุนสำคัญจากความจุที่เพิ่มขึ้น และความน่าเชื่อถือของโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายไฟเบอร์ และเซลลูลาร์" บิล โรจาส์ Adjunct Research ผู้อำนวยการของไอดีซี เอเชีย แปซิฟิก กล่าว 

ที่ผ่านมา จะเห็นหลายองค์กรธุรกิจ นำเทคโนโลยีไอโอที เข้าไปเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของระบบงานต่างๆ การรับสตรีมข้อมูลที่มาจากแหล่งเดียว ข้อมูลดังกล่าวเช่น ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ ข้อมูลการบำรุงรักษาเครื่องจักร สภาพอากาศ ความเคลื่อนไหวการทำธุรกรรม ข้อมูลการจราจรทางไกลของยานพาหนะ เป็นต้น 

อุตฯผลิตใช้จ่ายไอโอทีสูง-การแพทย์นิยม 

อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ เป็นกลุ่มที่ใช้จ่ายในเรื่องของเทคโนโลยีไอโอทีมากที่สุดในภูมิภาคนี้ รองลงมาเป็นกลุ่มผู้บริโภคและภาครัฐตามลำดับ ธุรกิจยังคงเปิดดำเนินการและกิจกรรมทางเศรษฐกิจกำลังกลับมาสู่ภาวะปกติ ทำให้องค์กรมีความมั่นใจเพิ่มขึ้นในการลงทุนด้านเทคโนโลยีในอัตราที่เร่งขึ้น โดยเฉพาะภาคการผลิต ค้าปลีก ขนส่ง ก่อสร้าง รวมถึงผู้บริโภคที่กำลังให้ความสนใจในเทคโนโลยีนี้  

ไอดีซี ประเมินว่า อุตสาหกรรมที่จะเติบโตเร็วที่สุดปี 2564 ได้แก่ การก่อสร้างและการค้าปลีก มีการเติบโต 13.1% และ 13% ตามลำดับ กรณีการใช้งานที่ขับเคลื่อนการเติบโตของการใช้จ่ายไอไอที เมื่อปี 2564 อยู่ในกลุ่มภาคการผลิต กระบวนการจัดการการผลิต การใช้ออมนิแชนนัล สมาร์ทกริด (ไฟฟ้า) บ้านอัจฉริยะ และการตรวจสอบการขนส่งสินค้า 

รวมไปถึงกรณีการใช้งานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ เช่น เครื่องตรวจวัดคลื่นหัวใจ การตรวจสอบสุขภาพระยะไกล ยังคงเป็นหนึ่งในกรณีการใช้งานไอไอที ที่เติบโตเร็วที่สุดในปี 2564 คู่ไปกับการดำเนินงานช่องทางออมนิแชนนัล ระบบมอนิเตอร์ด้านสิ่งแวดล้อม และยานพาหนะที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ขณะที่ รัฐบาลและองค์กรต่างๆ กำลังมุ่งไปที่ความปลอดภัยของไอโอทีในการใช้งานสาธารณะ การนำไอไอทีเข้าไปเป็นกลไกลดปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ และหนุนลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

องค์กรพร้อมจ่ายดึงขับเคลื่อน

อย่างไรก็ตาม ไอดีซี ระบุว่า องค์กรต่างๆ มองไอโอที เป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาความต้องการและความท้าทายขององค์กรในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หลายองค์กรยินดีลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ไอโอที และปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ เพื่อใช้ประโยชน์จากบทบาทใหม่ที่ผลักดันให้ธุรกิจก้าวสู่ความเป็นดิจิทัลรองรับโลกใหม่

ตลาดบริการสำหรับไอโอที ยังเป็นหนึ่งในกลุ่มเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในปี 2564 จนถึงสิ้นสุดการคาดการณ์ การใช้จ่ายบริการไอโอทีจะมีเม็ดเงินสะพัดที่สูงในกลุ่มภาคอุตสาหกรรม และบริการต่อเนื่องอื่นๆ เมื่อรวมกันแล้ว ทั้งสองกลุ่มนี้ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของการใช้จ่ายไอโอทีทั้งหมด 

ส่วนการใช้จ่ายไอโอทีบนฮาร์ดแวร์ จะเน้นไปที่เซ็นเซอร์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีมูลค่าสูงเกือบเท่ากับบริการซอฟต์แวร์ไอโอที แน่นอนว่า จะเป็นกลุ่มซอฟต์แวร์ที่เติบโตเร็วที่สุด ด้วยการเติบโตเฉลี่ย 5 ปีที่ 15.1% โดยเฉพาะซอฟต์แวร์แอพพลิเคชั่น และการวิเคราะห์ 

จากมุมมองทางภูมิศาสตร์ จีน เกาหลี และอินเดีย คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 3 ใน 4 ของการใช้จ่ายไอโอทีโดยรวมในเอเชีย แปซิฟิก รองลงมาคือ ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย การมุ่งเน้นที่เพิ่มขึ้นในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ เช่น ความครอบคลุมในการเชื่อมต่อที่กว้างขึ้น การปรับใช้ 5จี โซนไวไฟสาธารณะ สมาร์ทกริด และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ อุตสาหกรรม 4.0 และเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักสำหรับการเติบโตของของเทคโนโลยีไอโอทีในประเทศต่างๆ ของภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก

อย่างไรก็ตาม ไอดีซี คาดการณ์ว่า ประเทศที่จะเห็นการใช้จ่ายไอโอทีเร็วที่สุด ได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ และมาเลเซีย

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์