TikTok บูมยุคโควิด เปิดสาเหตุคนเสพติด “คลิปสั้น” ที่อาจไม่ใช่ความสุขแท้จริง
ทำไมคนถึงเสพติดการดู “คลิปสั้น” อย่าง TikTok ต้องรู้เท่าทันกลไกการทำงานของมัน "ผลเสีย" มีมากกว่าข้อดีแค่ไหน แล้วจะปรับพฤติกรรมอย่างให้เรากลับมามีความสุขที่สมดุล? หาคำตอบไปพร้อมๆ กับเราได้ที่นี่!
ตั้งแต่ที่ทั่วโลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคการแพร่ระบาดของโควิด-19 การรับชม “คลิปสั้น” (Short Clip) ดังเช่น TikTok (ติ๊กต็อก) นับเป็นหนึ่งสิ่งที่ไม่ว่าใครก็ต้องดูเพื่อหาความสุขเล็กๆ บรรเทามวลความเครียดรอบตัวจากสถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้
แต่ทราบหรือไม่ว่า การรับชมวิดีโอสั้น กลับไม่ใช่ความสุขอย่างที่เป็นมิตรและยั่งยืนกับตัวเราสักเท่าไร เพราะฟีเจอร์นี้กำลังทำให้เรามีความสุขได้ยากขึ้นไปกว่าเดิม และไม่ได้ช่วยเติมเต็มใจได้ขนาดนั้น
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนทำความเข้าใจ ทำไมคนถึงเสพติดการดู “คลิปสั้น” สาเหตุมาจากอะไร แล้วจะปรับพฤติกรรมอย่างไรให้มีความสุขที่สมดุล?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- Meta ลุยขยาย Reels ฟีเจอร์วิดีโอสั้นบน Facebook ประเทศไทย
- ‘TikTok for Business’ ดึงเสน่ห์ 'วิดีโอสั้น' พลิกโฉมดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง
1. แพลตฟอร์ม “คลิปสั้น” มีแอปพลิเคชันไหนบ้าง?
ถ้าพูดถึงแอปพลิเคชันเจ้าแรกๆ ที่สร้างฟีเจอร์ “คลิปสั้น” คงหลีกหนีไม่พ้น “ติ๊กต็อก” (Tiktok) ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทไบท์แดนซ์ (ByteDance) และเปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2559 แต่เพิ่งมาได้รับความนิยมในช่วงการระบาดของโควิด-19 และนิยมมากขึ้นในปี 2563-2564
ภายหลังจากที่ติ๊กต็อกได้รับกระแสตอบรับที่ดี นักพัฒนาแอปพลิเคชันเจ้าอื่นๆ จึงได้ศึกษาและพัฒนาให้มีฟีเจอร์นี้เพื่อแข่งขันในตลาดบ้าง แล้วแอปพลิเคชันไหนอีกบ้างที่มีฟีเจอร์เช่นนี้? เรารวบรวมมาให้แล้ว
- ติ๊กต็อก (Tiktok)
- โต่วอิน (Douyin 抖音) ติ๊กต็อกของประเทศจีน
- อินสตาแกรม (Instagram) ฟีเจอร์รีลส์ (Reels) และสตอรี่ (Story)
- เฟสบุ๊ค ฟีเจอร์สตอรี่ (Create Story)
- สแนปแชต (Snapchat)
- ทวิทช์ (Twitch)
- ยูทูป (Youtube) ฟีเตอร์ยูทูบชอร์ตส (Youtube Shorts)
- วิมีโอ (Vimeo)
- ไลก์ (Likee)
2. สาเหตุที่คนเสพติดการชมคลิปสั้นแบบไม่รู้ตัว?
อันที่จริงแล้วผู้พัฒนาแอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียเกือบทุกเจ้ามุ่งเน้นให้ ผู้ใช้งาน “รู้สึกอยากใช้งานมากขึ้น” เรื่อยๆ จนผู้ใช้งานเกิดอาการเสพติด
แต่หากยกตัวอย่างจากกรณี “คนเสพติดการดูคลิปสั้นในติ๊กต็อก” สามารถถอดลักษณะการทำงานของตัวแอปพลิเคชัน ได้ดังนี้
- แอปพลิเคชัน มีการออกแบบอัลกอริทึมให้ ผู้ใช้รู้สึกต้องการใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ และใช้เวลาให้นานที่สุด
- ตัวแอปพลิเคชัน มีการแทร็คกิงรสนิยมการดูประเภทคอนเทนต์ของผู้ชม แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อ “แนะนำคอนเทนต์ที่คิดว่าอาจจะชอบ” มาให้ชม (ซึ่งทำให้เกิดลูปการชมวิดีโอเป็นเวลานาน ไม่จบสิ้น)
- มีฟีเจอร์การชมวิดีโอที่มองความต้องการผู้ชมได้ขาดกว่าแอปพลิเคชัน คู่แข่งเจ้าอื่นๆ ปกติบนแอปพลิเคชัน อื่นๆ จะมีแต่ “คอนเทนต์ที่เราติดตาม” แต่ติ๊กต็อกมีแถบ “คอนเทนต์สำหรับคุณ” โดยเฉพาะ
- คอนเทนต์วิดีโอที่ครีเอเตอร์สามารถลงได้ คลิปถูกจำกัดความยาว ทำให้ผู้ชมดูได้ง่ายๆ เพราะรู้สึกว่าใช้เวลาไม่นาน และนั่นเป็นวิธีที่แนบเนียน ทำให้ผู้บริโภคใช้เวลาชมวิดีโอสั้นอย่างยาวนานโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นกลไกที่เชื่อมโยงกับการเล่นกับ “ความพึงพอใจของมนุษย์" ที่ทำให้เสพติดการชมวิดีโอสั้น
3. ไทยนิยม “ติ๊กต็อก” มากแค่ไหนจากระดับโลก?
มีข้อมูลที่น่าสนใจจากสถิติเรื่องประเทศที่มีผู้ใช้งานติ๊กต็อกสูงสุด เฉพาะเดือนมกราคม ปี 2565 มีดังนี้ (ข้อมูลจาก RouteNote)
- อันดับที่ 1 สหรัฐฯ มีผู้ใช้งานติ๊กต็อกอยู่ที่ 120.8 ล้านคน
- อันดับที่ 2 อินโดนีเซีย มีผู้ใช้งานติ๊กต็อกอยู่ที่ 87.5 ล้านคน
- อันดับที่ 3 บราซิล มีผู้ใช้งานติ๊กต็อกอยู่ที่ 72.3 ล้านคน
- อันดับที่ 4 สหพันธรัฐรัสเซีย มีผู้ใช้งานติ๊กต็อกอยู่ที่ 48.8 ล้านคน
- อันดับที่ 5 เม็กซิโก มีผู้ใช้งานติ๊กต็อกอยู่ที่ 41.6 ล้านคน
- ทั้งนี้ประเทศไทย มีผู้ใช้งานติ๊กต็อกสูงถึงอันดับที่ 7 เป็นจำนวน 35.6 ล้านคน
4. ปรับพฤติกรรมอย่างไรให้เกิดสมดุล?
การรับชมคลิปสั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสียในเวลาเดียวกัน เพราะแอปพลิเคชันส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นมิตรกับผู้ใช้งานเท่าไรนัก แต่หากผู้ใช้งานรู้ทันลักษณะการทำงานของตัวมัน ก็อาจไม่ต้องตกเป็นเหยื่อในการ “เสพติด” จนเสียสุขภาพ
ทั้งนี้บางคนอาจสงสัยว่า ประเด็นเรื่องการเสพติดการรับชมวิดีโอสั้น อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพมากน้อยแค่ไหน? แต่ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยหรือการทดลองที่ยืนยันว่า ในระยะยาวการเสพติดสิ่งนี้อาจทำให้สมองมีปัญหา หรือทำให้คนมีสมาธิสั้นลง
แต่การใช้รับชมวิดีโอสั้นหรือใช้โซเชียลมีเดียเป็นเวลานานก็ไม่อาจเป็นผลดีกับตัวเราอย่างแน่นอน มาดูกันว่า
- ลดอาการเสพติดการดูคลิปสั้น ทำได้อย่างไรบ้าง?
- จัดสรรเวลาในการจับโทรศัพท์ หากิจกรรมอย่างอื่นทำเพื่อลดอาการเสพติด
- ปิดการแจ้งเตือน เพราะเมื่อไม่เห็นการแจ้งเตือน ทั้งกดไลค์ คอมเม้น หรือแจ้งเตือนอื่นๆ ก็อาจทำให้ผู้ใช้รู้สึกว่าไม่ต้องเข้าไปใช้งานบ่อยเท่าปกติที่เห็นแจ้งเตือนเหล่านั้น
- ตัดปัญหาด้วยการลบแอปพลิเคชันออกจากโทรศัพท์
- วางโทรศัพท์ให้ไกลตัวหรือห่างจากมือ เมื่อต้องอยู่ในพื้นที่ที่ต้องวางโทรศัพท์ เพื่อลดความอยากในการจับโทรศัพท์
-----------------------------------
อ้างอิง: FORBES, BBC THAI, BBC, INVESTOPEDIA, Medium(Megan McClintock), MEDICAL NEWS TODAY, Routenote, INDIANA BEATS, BANDWAGON, BEARTAI, BANGKOK BANK SME, DATA REPORTAL