บอร์ดกสทช. สั่งอนุฯร่างแผนคุมดีลควบทรู-ดีแทค 11 เม.ย.นี้

บอร์ดกสทช. สั่งอนุฯร่างแผนคุมดีลควบทรู-ดีแทค 11 เม.ย.นี้

บอร์ดกสทช.รับหนังสือค้านดีลควบรวมทรู-ดีแทครวม3ฉบับระบุไม่มีการพิจารณาข้อร้องเรียนว่าขัดต่อข้อกฎหมายใดหรือไม่ส่งไม้ต่อจี้อนุฯจัดทำร่างมาตรการกำกับดูแลผลกระทบที่จะเกิดจากการควบรวมในวันที่11 เม.ย.นี้

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) วันนี้ (7เม.ย.) ว่า หลังจากที่บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ในเครือบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ได้ยื่นหนังสือถึงพล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธานกสทช.) ไปก่อนหน้านี้

เพื่อชี้แจงผลกระทบและผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการ ระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ ทียูซี กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัดหรือ ดีทีเอ็น ผู้รับใบอนุญาตโดยตรงจากสำนักงานกสทช.ว่า

ที่ประชุมกสทช. มีการรับทราบหนังสือทั้ง 3 ฉบับที่ยื่นต่อประธานกสทช. เพื่อชี้แจงผลกระทบและผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการดังกล่าวประกอบด้วยฉบับที่ 1 จาก นาย ณภัทร วินิจฉัยกุล คณะกรรมการติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กตป.) หรือซูเปอร์บอร์ดกสทช. ฉบับที่ 2 จากนายศรีสุวรรณ จรรยาเลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และฉบับที่ 3 จากเอดับบลิวเอ็น

อย่างไรก็ดี ที่ประชุมบอร์ดกสทช.แต่ยังไม่มีการพิจารณาข้อร้องเรียนดังกล่าวว่า ขัดต่อข้อกฎหมายใดหรือไม่ อย่างไรก็ตามจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมอนุกรรมการติดตามการควบรวมกิจการ และจัดทำร่างมาตรการกำกับดูแลผลกระทบที่จะเกิดจากการควบรวมในวันที่11 เม.ย.นี้ เพราะบอร์ดกสทช.ได้มอบอำนาจให้อนุฯเป็นผู้ดูแลโดยตรงในดีลการควบรวมดังกล่าว

“เนื้อหาในหนังสือทั้ง 3 ฉบับมีเนื้อหาคัดค้านการควบรวมกิจการของทรูกับดีแทค และยังกล่าวถึงหน้าที่ของกสทช. ที่มีอำนาจยับยั้งการควบรวม และหากไม่ยับยั้งจะขัดต่อกฎหมายจึงได้มอบหมายให้สำนักงานกสทช. ไปสรุปสาระสำคัญตามข้อกฎหมายที่ระบุไว้ในหนังสือรวมถึงประเมินกรอบเวลาพิจารณาแล้วเสร็จ และส่งกลับมายังคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาในการประชุมครั้งถัดไป อย่างไรก็ตามขอให้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดซึ่งคาดว่าหลังสงกรานต์จะมีความคืบหน้าที่ชัดเจน” แหล่งข่าวกล่าว
 

สำหรับประเด็นที่น่าจับตาในการร่าวมาตรการกำกับดูแลผลกระทบที่อนุฯกสทช.ต้องขึ้นนั้น คาดว่าจะต้องมีการกำหนดให้มีการแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเพิ่มเติม โดยจะใช้ประกาศกสทช.เรื่องผุ้มีอำนาจเหนือตลาดเข้ามาควบคุม เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดในอุตสาหกรรมหลังจากที่การควบรวมเกิดขึ้นในอนาคต

โดยใจความสำคัญในหนังสือการคัดค้านการการควบรวมจะทำให้ตลาดมีการกระจุกตัวสูง ส่งผลเสียต่อการแข่งขันเมื่อพิจารณาค่าดัชนีการแข่งขัน (HHI) ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ 3 รายเมื่อสิ้นไตรมาส 3 ปี 2564 ที่แม้ยังไม่ควบรวม ตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประเทศก็กระจุกตัวในอัตราที่สูงมากอยู่แล้ว หากกสทช.อนุญาตให้ควบธุรกิจก็จะยิ่งทำให้บริษัทใหม่ที่จะเกิดขึ้นมีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 53.4% ส่งผลต่อค่าดัชนี HHI หลังการควบรวมมากขึ้นไปอีก ทำให้บริษัทใหม่เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างสมบูรณ์ ส่งผลต่อการแข่งขัน และเข้าข่ายเป็นการครอบงำตลาด

นอกจากนี้ การควบรวมจะเป็นการกีดกันการเข้าสู่ตลาดของผู้แข่งขันรายใหม่ และการเติบโตของผู้แข่งขันรายเล็ก ที่สำคัญการอนุญาตให้ทรู-ดีแทคควบรวมกิจการจะก่อให้เกิดการกระจุกตัวของคลื่นความถี่ ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายในการจัดสรรคลื่นความถี่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่านอกจากหนังสือคัดค้านรวม 3 ฉบับที่ส่งมายังกสทช. แล้วที่ผ่านมา กรรมาธิการวิสามัญสภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญผู้บริหารของสองบริษัทเข้ามาชี้แจงรายละเอียดขั้นตอนกระบวนการควบรวมกิจการรวมถึงความจำเป็นที่ต้องมีการควบรวม

คณะกรรมาธิการฯได้ซักถามในหลายประเด็นแม้จะทราบเหตุผลหลักของการควบรวมกิจการแล้วทั้งแนวทางการควบรวมกิจการข้อกฎหมายและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาแต่ยังมีบางประเด็นต้องการให้ทั้งสองบริษัทกลับไปทำข้อชี้แจงเพิ่มเติมมาให้คณะกรรมาธิการอีกครั้งเพื่อนำข้อมูลไปศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ขณะเดียวกันยังมีเรื่องของการลดต้นทุนของผู้ประกอบการว่าจะกระทบต่อการให้บริการหรือไม่และยังสามารถแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมต่อไปได้อย่างไรบ้างหากมีการลดต้นทุนลงแล้วซึ่งก็ยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องนี้แต่อย่างใดเช่นเดียวกัน