รวมเหตุผลลึก!! เสียงข้างน้อย ‘พิรงรอง-ศุภัช’ ทำไม ‘ไม่ให้ทรูควบดีแทค’

รวมเหตุผลลึก!! เสียงข้างน้อย ‘พิรงรอง-ศุภัช’  ทำไม ‘ไม่ให้ทรูควบดีแทค’

เปิดเหตุผลเบื้องลึก 2 เสียงข้างน้อย “พิรงรอง-ศุภัช” บอร์ดกสทช. ทำไม ‘ไม่อนุญาต’ ให้ควบรวมทรูดีแทค เผย เงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะต่าๆ ที่บังคับผู้ขอรวมธุรกิจ "ไม่น่าจะช่วยเพิ่มระดับการแข่งขันในตลาดได้"

“ศุภัช” ร่าย 6 ความเห็นเสียงข้างน้อย

จากการศึกษาและประสบการณ์ในอดีตของประเทศต่างๆ ที่เกิดการรวมธุรกิจและเหลือผู้ประกอบการ 2 รายในตลาด พบว่า เงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะไม่สามารถป้องกันหรือลดทอนผลกระทบอันเกิดจากระดับการผูกขาดที่เพิ่มขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพได้ และเพื่อไม่ให้ประเทศต้องเผชิญกับความเสี่ยงดังกล่าว ผมจึงไม่เห็นด้วยในการพิจารณาอนุญาตควบรวมทรู-ดีแทคได้

รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช. ด้านเศรษฐศาสตร์ 1 ใน 2 เสียง ที่ลงมติไม่เห็นด้วยกับการควบรวม ระบุในรายงานการประชุมข้อสรุป (Conclusion) ต่อกรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ว่า กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นการกำกับดูแลธุรกิจและบริการที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของ เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ซึ่งนับวันจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นมากกับเศรษฐกิจของประเทศไทย และเข้าไปมีบทบาทในชีวิตประจำวันของทุกคนในประเทศอย่างหลีกเสี่ยงไม่ได้และเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆการกำกับดูแลให้ภาค (Sector) นี้มีการประกอบการอย่างมีประสิทธิภาพและมีการแข่งขันที่สมบูรณ์ (Healthy Competition) จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

เพราะมีความเกี่ยวพันกับชีวิตของทุกคนในประเทศในเกือบจะทุกมิติไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ประจำวัน สุขภาพ การแพทย์ การพัฒนาประเทศ เป็นต้น หาก Sector นื้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพราบรื่น ก็จะทำให้เศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ และการพัฒนาประเทศสามารถดำเนินไปได้เป็นอย่างดี และประเทศก็จะมีความเจริญก้าวหน้าขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง

การรวมธุรกิจครั้งนี้อาจก่อให้เกิดผลกระทบหลายด้าน ทั้งด้านผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของสินค้าบริการ ด้านการพัฒนาประเทศ การพัฒนาทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจการแข่งขันความเหลื่อมล้ำ และมิติต่างๆอีกมาก หากเกิดปัญหาขึ้นแล้วเป็นไปได้ยากที่จะทำให้สถานการณ์กลับฟื้นขึ้นมาอีกภายหลัง หรือที่เรียกว่าเกือบจะไม่สามารถกลับมาเป็นเหมือนเดิม (Irreversible) ซึ่งหลายประเทศเคยประสบเหตุการณ์เช่นนี้มาแล้ว

 

ข้อวิเคราะห์ทางกฎหมายและทางเศรษฐศาสตร์ สรุปได้ว่า

1. ในทางกฎหมาย กสทช. มีอำนาจในการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตในการรวมธุรกิจตามมาตรา 24 ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ข้อ 9 ของประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 ประกอบกับข้อ 8 ของประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549

2. การรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ส่งผลให้ตลาดที่เกี่ยวข้องมีค่ดัชนี Herfindahl-Hirschman Index (HHI)มากกว่า 2,500 และเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 100 ไม่ว่าจะคำนวณมาจากส่วนแบ่งตลาดซึ่งคิดจากจำนวนผู้ใช้บริการของผู้ให้บริการในตลาดแต่ละราย หรือส่วนแบ่งตลาดจากรายได้ของผู้ให้บริการก็ตาม

โดยผลการศึกษาซึ่งคำนวณค่า HHI จากจำนวนผู้ใช้บริการ พบว่า ตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ หลังการรวมธุรกิจ HHI เพิ่มขึ้นจาก 3,612 เป็น 4,725 หรือเพิ่มขึ้น 1,113 และตลาดบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เคลื่อนที่ เพิ่มขึ้นจาก 3,511 เป็น 4,745 หรือเพิ่มขึ้น 1,234

นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบต่อตลาดต้นน้ำในระดับ Infrastructure โดยตลาดบริการการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกันสำหรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ หลังการรวมธุรกิจ HHI เพิ่มขึ้นจาก 3,773 เป็น 5,000 หรือเพิ่มขึ้น 1,227 ตลาดบริการขายส่งโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพิ่มขึ้นจาก 2,979 เป็น 3,393 เพิ่มขึ้น 414 และตลาดบริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพิ่มขึ้นจาก 3,356 เป็น 5,024 หรือเพิ่มขึ้น 1,668

3. มีความเป็นไปได้สูงที่การรวมธุรกิจจะก่อให้เกิดการร่วมมือกันทางธุรกิจที่ก่อให้เกิดอำนาจตลาดสูง (Collusion) ซึ่งจะส่งผลต่อการแข่งขัน เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดได้ยาก หรือไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่ผู้ประกอบการรายใหม่จะเข้าสู่ตลาด

4. ผลกระทบจากการรวมธุรกิจที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมมีสูงมากซึ่งประกอบด้วย

4.1 อัตราค่าบริการ (Price) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทางเลือกในการรับบริการน้อยลง

4.2 ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) มีแนวโน้มลดลงและจะไม่ส่งผ่านไปสู่ผู้บริโภค

4.3 ผู้รวมธุรกิจไม่มีแรงจูงใจในการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยี หรือถ้ามีก็ล่าช้า

4.4 คุณภาพการให้บริการ (Quality of Services) ของผู้ประกอบการในตลาดอาจลดลง

4.5 อุปสรรคการเข้าสู่ตลาด (Barriers to Entry) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ไม่สามารถเข้ามาแข่งขันได้

4.6 ผู้รวมธุรกิจอาจลงทุนต่ำกว่าที่ควรจะเป็นเพื่อให้เกิดบริการทั่วถึง เนื่องจากเมื่อผู้ให้บริการขาดแรงจูงใจในการแข่งขันแล้ว จึงทำให้ไม่เข้าไปลงทุนในพื้นที่ที่ให้ผลตอบแทนการลงทุนต่ำหรือลงทุนในพื้นที่เหล่านั้นน้อยลง ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้ย่อมทำให้“ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการโทรคมนาคม” เพิ่มสูงขึ้น จนนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Digital Divide)

4.7 ผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และต่อ GDP ที่ทำให้ GDP มีแนวโน้มลดลง และอัตราเงินเฟ้อ (Inflation) เพิ่มสูงขึ้น เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีการรวมธุรกิจ

5. ดังนั้น การรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นการดำเนินการที่มีความเสี่ยงสูงที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สาธารณชน และสังคมโดยรวม

ทั้งนี้ ประโยชน์จากการรวมธุรกิจยังขาดความชัดเจนว่า ประชาชนจะได้รับประโยชน์มากน้อยเพียงใดจากการรวมธุรกิจในครั้งนี้ ซึ่งในกระบวนการของการพิจารณาก็ได้พยายามประเมินผลดีของการรวมธุรกิจผ่านวิธีการต่างๆ แต่ผลยังไม่ปรากฎเป็นที่แน่ชัดที่มาบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดต่อสาธารณชน เศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาประเทศได้

6. จากการศึกษาและประสบการณ์ในอดีตของประเทศต่างๆ ที่เกิดการรวมธุรกิจและเหลือผู้ประกอบการ 2 รายในตลาด พบว่า เงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ (Remedies) ไม่สามารถป้องกันหรือลดทอนผลกระทบอันเกิดจากระดับการผูกขาดที่เพิ่มขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพได้ ดังนั้น จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น และเพื่อไมให้ประเทศต้องเผชิญกับความเสี่ยงดังกล่าว จึงไม่เห็นด้วยในการพิจารณาอนุญาตการรวมธุรกิจดังกล่าวได้

 

พิรงรอง เปิดเหตุผลลึก

ศ.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. โพสต์ข้อความ อธิบายถึงเหตุผลที่สงวนความเห็น และเป็นเสียงส่วนน้อยในการพิจารณาการรวมธุรกิจระหว่าง ทรูและดีแทค ในการประชุม กสทช. นัดพิเศษ

โดยระบุว่า ในทางกฎหมาย การตัดสินใจสงวนความเห็นที่จะรับทราบการรวมธุรกิจ และยืนยันที่จะไม่อนุญาต เพราะเห็นว่ากรณีดังกล่าว เป็นการถือครองธุรกิจประเภทเดียวกัน ซึ่งสามารถส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางในตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในแง่การลดหรือจำกัดการแข่งขัน การคุ้มครองผู้บริโภค และการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทั้งนี้ โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องค่ะ

 

เหตุผลสนับสนุนมี 7 ข้อหลักดังต่อไปนี้

1) เมื่อรวมธุรกิจ TRUE และ dtac แล้ว จะทำให้เกิดบริษัทใหม่ (NewCo) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) ดังนั้น ทั้ง TUC และ DTN จะกลายเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีความความสัมพันธ์กันทางนโยบาย  หรืออำนาจสั่งการเสมือนเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกัน (Single Economic Entity) ที่ไม่มีการแข่งขันระหว่างกัน ตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ทั้งนี้ ก่อนการรวมธุรกิจ TUC มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 31.99 และ DTN มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 17.41 ภายหลังการรวมธุรกิจ NewCo จะมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 49.40 และทำให้ในตลาดเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่เพียง 2 ราย หรือเกิดสภาวะ Duopoly

2) SCF Associates Ltd. ที่ปรึกษาอิสระจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการแข่งขันและนโยบายการสื่อสารระดับโลก สรุปว่า จากการศึกษาแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบเชิงลบต่อผู้บริโภคมากกว่าข้อดีที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งมาตรการเฉพาะเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ก็ไม่สามารถเป็นจริงได้ทั้งหมดในบริบทของตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทย เช่น การสนับสนุนให้เกิดผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (MNO) รายใหม่, การส่งเสริมการแข่งขันในตลาดค้าส่ง, การร่วมใช้คลื่น (Roaming) และการโอนคลื่นความถี่ (Spectrum Transfer) เป็นต้น

ในบริบทของเศรษฐกิจที่จำเป็นต้องลดช่องว่างทางดิจิทัลอย่างประเทศไทย โทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นอุปกรณ์ที่คนใช้มากที่สุดเพื่อเชื่อมต่อออนไลน์ การรวมธุรกิจซึ่งจะนำไปสู่การกระจุกตัวของตลาด และโอกาสที่ค่าบริการจะสูงขึ้น จึงไม่สมควรอนุญาต ด้วยเหตุผลเพื่อการพัฒนาประเทศที่ต้องพึ่งพิงตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีการแข่งขันสูงและเป็นตัวกระตุ้นทางเศรษฐกิจ

3) การบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการรวมธุรกิจภายใต้เงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะต่างๆ ที่บังคับผู้ขอรวมธุรกิจนั้น  ไม่น่าจะช่วยเพิ่มระดับการแข่งขันในตลาดได้ และอาจเป็นไปได้ยากในภายหลังจากการควบรวม โดยในส่วนของ กสทช. ก็จะต้องใช้อำนาจทางกฎหมายและทรัพยากรในการกำกับดูแลอย่างมาก โดยไม่อาจคาดหมายได้ว่าเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันในตลาดได้เช่นเดียวกับที่เคยมีอยู่ก่อนการควบรวมหรือไม่

4) ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่แสดงถึงประโยชน์ต่อสาธารณะ จากเอกสารประกอบการขอรวมธุรกิจ ยังไม่ชัดเจนและเพียงพอ

5) การรวมธุรกิจมีโอกาสนำไปสู่การผูกขาดและกีดกันการแข่งขัน ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 40, 60, 61 และ 75 และขัดต่อแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 ที่ต้องเพิ่มระดับการแข่งขันของการประกอบกิจการโทรคมนาคม

6) การให้รวมธุรกิจ จะส่งผลกระทบกว้างขวางและต่อเนื่องในระยะยาว อีกทั้งยังหวนคืนไม่ได้ เพราะตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยอยู่ในภาวะอิ่มตัว ทำให้ผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาดและเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดได้ยาก เช่นกรณีการรวมธุรกิจของเม็กซิโกและฟิลิปปินส์ ตามรายงานของที่ปรึกษาอิสระจากต่างประเทศ แสดงให้เห็นกรณีของต่างประเทศว่า เป็นเรื่องยากที่จะหวนคืนจากภาวะผูกขาดโดยผู้ประกอบการหนึ่งหรือสองรายไปสู่สภาพการแข่งขันก่อนการรวมธุรกิจ

7) หนึ่งในผู้ขอรวมธุรกิจมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจใกล้ชิดกับกลุ่มธุรกิจครบวงจร (Conglomerate)  รายใหญ่ ซึ่งครอบครองตลาดสินค้าและบริการในระดับค้าปลีกและค้าส่งของทั้งประเทศ จึงมีโอกาสที่จะขยายตลาดโดยใช้กลยุทธ์ขายบริการแบบเหมารวม ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมกันกับผู้ประกอบการรายอื่น