Google เผย ‘เศรษฐกิจดิจิทัลไทย’ สัญญาณบวก คาดปี 2573 สะพัด ‘6 ล้านล้าน’ บาท
“กูเกิล” ร่วม “เทมาเส็ก-เบนแอนด์คอมพานี” เปิดรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปี 2565 ระบุไทยโตแตะ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ตัวจักรขับเคลื่อนหลักยังคงเป็น “อีคอมเมิร์ซ”
รายงาน “e-Conomy SEA Report 2022” ล่าสุดเผยว่า เศรษฐกิจดิจิทัลไทยจะมีมูลค่ารวมสูงถึง 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2565 หรือ เติบโต 17% เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มีมูลค่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์ ถึงแม้ว่าต้องรับมือกับความท้าทายต่างๆ ก็ตาม
คาดว่าปี 2568 มูลค่ารวมเศรษฐกิจดิจิทัลไทยจะแตะ 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 15% และคาดว่าจะเติบโตขึ้น 2 เท่า มูลค่าประมาณ 1-1.65 แสนล้านดอลลาร์ หรือ ราว 6.1 ล้านล้านบาทในปี 2573 หรือหากนับจากปี 2565 ทะยานขึ้นมาถึง 3 เท่า
โดยมีอีคอมเมิร์ซ บริการส่งอาหารออนไลน์ และการซื้อของสดออนไลน์ เป็นบริการดิจิทัล 3 อันดับแรกที่มีอัตราการใช้บริการสูงที่สุดในกลุ่มคนไทยที่อยู่ในเขตเมือง
ขณะที่ ภาพรวมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับว่าได้ “ฝ่าคลื่นความเปลี่ยนแปลง สู่ท้องทะเลแห่งโอกาส” และเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคนี้จะมีมูลค่ารวม (Gross Merchandise Volume: GMV) สูงถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2565 ซึ่งเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ในรายงานฉบับแรกในปี 2559 ถึง 3 ปี หรือเติบโตขึ้นถึง 20% จากปีที่ผ่านมา
'อีคอมเมิร์ซ’ แรงขับเคลื่อนหลัก
สำหรับข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจ แจ็คกี้ หวาง ผู้อำนวยการ Google ประจำประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า อีคอมเมิร์ซ เป็นแรงผลักดันที่สำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลไทย คิดเป็น 63% ของมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลโดยรวมในปี 2565
ปัจจุบัน ตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาครองจากอินโดนีเซีย ขณะที่อัตราการใช้บริการอีคอมเมิร์ซของไทยอยู่ที่ 94% ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาครองจากสิงคโปร์
ข้อมูลระบุด้วยว่า ภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้น 8% จากปีก่อน โดยมีมูลค่ารวมสูงถึง 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2565 และคาดว่าจะแตะ 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2568
การขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์ โดยรวมคาดจะว่ามีมูลค่ารวมแตะ 3 พันล้านดอลลาร์ในปี 2565 เพิ่มขึ้น 12% จากปี 2564 และคาดว่าจะเติบโตขึ้นถึง 20% หรือแตะ 5 พันล้านดอลลาร์ในปี 2568
ปัจจุบัน ตลาดบริการส่งอาหารออนไลน์กลับสู่แนวโน้มการเติบโตในทิศทางเดิม หลังจากที่มีการเติบโตถึง 3 เท่าในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยคาดว่าจะเติบโต 11% มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 2.7 พันล้านดอลลาร์ในปี 2565 และคาดว่าจะแตะถึง 3.6 พันล้านดอลลาร์ในปี 2568 ซึ่งจะทำให้ตลาดบริการส่งอาหารออนไลน์ของไทยใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาครองจากอินโดนีเซีย
ส่วนของภาคการขนส่งคาดว่าจะฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง และคาดการณ์ว่าจะเติบโตถึง 36% มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 300 ล้านดอลลาร์ในปี 2565 และพุ่งขึ้นสู่ระดับ 1.6 พันล้านดอลลาร์ในปี 2568
บริการออนไลน์โตสองหลัก
สื่อออนไลน์ ซึ่งรวมถึงบริการวีดิโอออนดีมานด์ เพลงออนดีมานด์ เกม มีการเติบโตที่ชะลอตัวลง ปี 2565 มีการเติบโต 10% และมูลค่ารวมอยู่ที่ 5 พันล้านดอลลาร์ คาดการณ์ว่าภาคธุรกิจสื่อออนไลน์จะเติบโต 12% หรือคิดเป็นมูลค่า 7 พันล้านดอลลาร์ในปี 2568
การท่องเที่ยวออนไลน์ คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งจากการที่ผู้คนออกเดินทางท่องเที่ยวหรือออกไปทำกิจกรรมต่างๆ นอกบ้านกันมากขึ้น โดยมีการเติบโต 139% จากปี 2564 คิดเป็นมูลค่ารวม 5 พันล้านดอลลาร์ในปี 2565 และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ 22% หรือมีมูลค่ารวมที่ 9 พันล้านดอลลาร์ในปี 2568
บริการด้านการเงินดิจิทัล (Digital Financial Services: DFS) ซึ่งได้แก่ การชำระเงิน การโอนเงินต่างประเทศ การกู้ยืม การลงทุน และประกัน เติบโตเป็นตัวเลข 2 หลักในปี 2565 เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น
การเติบโตของบริการด้านการเงินดิจิทัลจากนี้ไปจนถึงปี 2568 จะถูกขับเคลื่อนโดยการกู้ยืมและการลงทุนซึ่งมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (Compounded Annual Growth Rate: CAGR) ประมาณ 40% และ 45% ตามลำดับ
ขณะที่ การลงทุนด้านเทคโนโลยี มูลค่าการซื้อขายตั้งแต่ช่วงครึ่งแรกของปี 2564 จนถึงครึ่งแรกของปี 2565 เพิ่มขึ้น 15% การระดมทุนในภาคเทคโนโลยียังคงแข็งแกร่ง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเป็นแหล่งรวมการลงทุนด้านเทคโนโลยี ถึงแม้ว่านักลงทุนจะระมัดระวังมากขี้นในสภาวะเศรษฐกิจมหภาคในปัจจุบัน
ที่น่าสนใจ การลงทุนในบริการด้านการเงินดิจิทัล (Digital Financial Services: DFS) มีสัดส่วนการลงทุนสูงที่สุดในประเทศไทย โดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 150 ล้านดอลลาร์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565