เศรษฐกิจดิจิทัล ในภูมิภาคโตขึ้นเกือบ 200 พันล้านดอลลาร์ปีนี้
มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของ 6 ประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประกอบด้วย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย มีมูลค่ารวมกัน 194 พันล้านดอลลาร์ และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 330 พันล้านดอลลาร์ในปี 2025
หนึ่งในรายงานด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคนี้ ที่ผมติดตามเป็นประจำทุกปีคือ e-Conomy SEA จัดทำโดยบริษัท Google, Temaek และ Bain & Company ซึ่งรายงานในปี 2022 เพิ่งออกมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน และระบุว่า มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของ 6 ประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประกอบด้วย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย มีมูลค่ารวมกัน 194 พันล้านดอลลาร์ และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 330 พันล้านดอลลาร์ในปี 2025 โดยจะเพิ่มขึ้นเป็น 600-1,000 พันล้านดอลลาร์ในปี 2030 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม
รายงานปีนี้ มีข้อมูลที่น่าสนใจอยู่หลายด้าน เช่น จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในภูมิภาคมีจำนวน 460 ล้านคนเพิ่มขึ้น 100 ล้านคนเมื่อเทียบกับปี 2019 ในช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด และในจำนวนนี้ถ้าแบ่งกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะพบว่า เป็นกลุ่มคนที่มีรายได้สูงในเมืองจำนวน 18% รายได้ปานกลางในเมืองที่เป็นคนอายุ 18-29 ปี จำนวน 11% และรายได้ปานกลางในเมืองที่เป็นคนอายุมากกว่า 30 ปี จำนวน 18% ขณะที่รายได้น้อยในเมืองมีจำนวน 12% และเป็นคนในชนบทหรือเมืองขนาดเล็ก 41%
ในแง่สถิติการใช้บริการดิจิทัลในภูมิภาค จะพบว่าในปีนี้ด้านอีคอมเมิร์ซ มีอัตราการใช้ถึง 94% จากจำนวนผู้ใช้ดิจิทัลทั้งหมดในเมือง โดยเพิ่มจากปีที่แล้วถึง 19% อันดับรองลงมาคือบริการส่งอาหารที่มีอัตราการใช้ 81% บริการการขนส่ง 71% บริการซื้อสินค้าของสดออนไลน์ 67% บริการการท่องเที่ยว 62%บริการวิดีโอออนดีมานด์ 61% และบริการเพลงออนดีมานด์ 52%
ซึ่งหากทำการวิเคราะห์ จะพบว่า กลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีรายได้สูงและคนรุ่นใหม่ที่มีรายได้ปานกลางในเมืองจะมีอัตราการใช้บริการดิจิทัลที่สูงในทุกด้าน แต่ถ้าเป็นกลุ่มผู้ใช้ในชนบทและเมืองขนาดเล็กจะเน้นบริการอีคอมเมิร์ซ 74% รองลงมาคือบริการส่งอาหาร 34% ตามด้วยบริการการขนส่ง 23% ส่วนบริการอื่นๆ ยังมีอัตราการใช้น้อยมาก
สำหรับในประเทศไทยมีอัตราการใช้บริการด้านอีคอมเมิร์ซอยู่ในอันดับสูงสุดคือ 95% รองลงมาคือบริการส่งอาหาร 78% ตามมาด้วยบริการซื้อสินค้าของสดออนไลน์ 63% บริการวิดีโอออนดีมานด์ 62% ส่วนบริการการท่องเที่ยว บริการเพลงออนดีมานด์ บริการการขนส่ง บริการเกมส์ออนไลน์ อยู่ในช่วงระหว่าง 53%-56%
ในด้านมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย พบว่า มีมูลค่า 35 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ สูงขึ้นมาจากปีที่แล้ว17% จากเดิมที่มีมูลค่า 30 พันล้านดอลลาร์ และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มเป็น 53 พันล้านดอลลาร์ในปี 2025 และจะอยู่ระหว่าง100-165 พันล้านดอลลาร์ในปี 2030
ทั้งนี้ หากแบ่งตามประเภทของบริการจะพบว่า มูลค่าส่วนใหญ่เป็นบริการอีคอมเมิร์ซที่มีมูลค่าสูงถึง 22 พันล้านดอลลาร์ บริการด้านอาหารและการขนส่ง 3 พันล้านดอลลาร์ บริการด้านการท่องเที่ยว 5 พันล้านดอลลาร์ และบริการด้านออนไลน์มีเดีย 5.1 พันล้านดอลลาร์ โดยคาดว่าในปี 2025 บริการอีคอมเมิร์ซจะมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 32 พันล้านดอลลาร์ ส่วนบริการด้านอื่นๆ จะเพิ่มขึ้นเป็นอยู่ระหว่าง 5 ถึง 9 พันล้านดอลลาร์
ในรายงานยังระบุถึง มูลค่าบริการธุรกรรมการเงิน ซึ่งพบว่า ในภูมิภาคมีบริการการชำระเงินออนไลน์ในปีนี้ปริมาณสูงถึง 806 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 14% และมีปริมาณการโอนเงิน 20 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 19% ซึ่งในประเทศไทยมีปริมาณการชำระเงินออนไลน์ 113 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 11% และมีปริมาณการโอนเงิน 2.1 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 32%
รายงานนี้ทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2016 ซึ่งตอนนั้นมีมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลอยู่ที่เพียง 50 พันล้านดอลลาร์ และคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าสูงขึ้นเป็น200พันล้านดอลลาร์ในปี 2025 แต่กลับปรากฏว่าอัตราการใช้บริการดิจิทัลโตเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดไว้มาก จึงทำให้เป้าหมายของมูลค่าดังกล่าวมาเร็วขึ้นถึง 3 ปี และแนวโน้มต่างๆ ก็ยิ่งชี้ให้เห็นว่าภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ที่รวมถึงประเทศไทย กำลังเข้าสู่สังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ บริการหลายๆ อย่างกำลังกลายเป็นออนไลน์ ที่ผู้คนเห็นเป็นเรื่องปกติและพร้อมที่จะเข้าไปใช้งานบริการต่างๆ เหล่านั้นอยู่อย่างสม่ำเสมอ
ดังนั้นวันนี้ใครยังคิดบริการแบบเดิมๆ ไม่มองว่าบริการดิจิทัลต้องมาก่อน ก็ยากที่จะเข้าสู่ตลาดที่มีผู้บริโภคจำนวนมากได้โดยปริยาย