จะรีบไปไหน! 5 "แพลตฟอร์มออนไลน์" มาแรงที่แผ่วปลายแห่งปี
รู้จัก 5 แพลตฟอร์มที่เคยโดดเด่นเป็นดั่งยูนิคอร์นของแวดวง "แพลตฟอร์มออนไลน์" ที่สะดุดจนต้องหยุดเดิน บางรายแค่แผ่วปลาย บางรายถึงขั้นตายไปเลย
จากปีทองของหลายแพลตฟอร์มที่สั่นสะเทือนวงการ จนทำให้ช่วงสองถึงสามปีมานี้มีทั้งผู้ใช้จำนวนมหาศาลไปจนถึงคนพูดถึงในฐานะแพลตฟอร์มร้อนแรงที่น่าจะไปได้ไกลมากๆ แต่ด้วยเหตุผลบางอย่างทำให้แพลตฟอร์มเหล่านี้มีทั้งแผ่วปลาย และ Say Goodbye ไปจากประเทศไทยเลยทีเดียว
นี่คือ 5 แพลตฟอร์มออนไลน์ ที่ (เคย) มาแรง แต่ดันแผ่วปลายมาทั้งในปีนี้และปีก่อนหน้า ที่พอนึกถึงทีไรก็เห็นแต่ความเจริญรุ่งเรืองก่อนที่จะมาร่วงโรย ณ ปัจจุบันนี้
Clubhouse
ช่วงปี 2564 เหมือนเป็นปีทองของ Clubhouse แพลตฟอร์มแนวคอมมูนิตี้ที่สื่อสารผ่านเสียงและการสนทนา ที่มาดังเปรี้ยงปร้างจนแทบจะไม่มีใครไม่รู้จักแพลตฟอร์มนี้
ความนิยมของ Clubhouse ที่ขึ้นสูงสุดอาจเพราะเป็นเสมือนห้องประชุมที่ทุกคนจะได้มานั่งฟังคนพูด เล่า แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในประเด็นที่ตัวเองสนใจ รวมไปถึงได้ฟัง Speaker ในดวงใจของตัวเอง แล้วยังมีสิทธิ์ยกมือเพื่อถามหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ด้วย
แต่กราฟความนิยมของแพลตฟอร์มนี้กลับพุ่งสูงเพียงช่วงหนึ่ง แล้วก็ดิ่งลงอย่างรวดเร็ว จากมีแต่คนพูดถึงกลายเป็นมีน้อยคนที่นึกถึง อาจป็นเพราะสองเหตุผลที่เกี่ยวพันกับพฤติกรรมของผู้ใช้บริการ คือ โดยปกติ Clubhouse เล่นกับจิตวิทยาของมนุษย์ ใช้ความรู้สึกกลัวที่จะพลาดฟังสิ่งที่ตัวเองกำลังสนใจจากบุคคลที่เป็นเหมือนไอคอนของเรื่องนั้นๆ แต่การต้องคอยตามอย่างกังวลใจนั้น เพราะแต่ละห้องก็มีจำกัดจำนวนผู้ฟัง เป็นไปได้ว่าจะทำให้เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย เหนื่อยล้า จนในที่สุดก็หมดแรงที่จะตามฟัง หรือแม้แต่แค่คลิกเข้าไปฟังในช่วงที่กระแสเริ่มตกลง
อีกเหตุผลอาจเพราะการที่มีคนตั้งห้องสนทนาเล็กๆ ย่อยๆ เฉพาะกลุ่ม เป็นห้องส่วนตัวมากขึ้น จึงไม่แมสอย่างที่เคยเป็นมา
LINE TV
แอปพลิเคชัน LINE เป็นแพลตฟอร์มการแชทที่ยอดฮิตในประเทศไทย แต่แขนขาด้านสตรีมมิงอย่าง LINE TV กลับไปไม่รอดในบ้านเรา โดยแพลตฟอร์มสตรีมมิงนี้ประกาศปิดให้บริการไปเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2564
แม้จะไม่ได้ระบุเหตุผลของการยุติธุรกิจนี้ท่ามกลางคอนเทนต์หลากหลายที่ก็ดูเผินๆ น่าจะไปได้ดีอย่างซีรีส์ไทยชื่อดังอย่าง แปลรักฉันด้วยใจเธอ หรือการ์ตูนอะนิเมะต่างๆ รวมถึงมีการดาวน์โหลดไปใช้งานมากกว่า 10 ล้านครั้ง แต่ถ้าหากดูกันลึกๆ อาจเป็นเพราะการที่ LINE TV เปิดให้ดูฟรี โดยมีเพียงการโฆษณาแทรกในคอนเทนต์ซึ่งเป็นโฆษณาที่ค่อนข้างนานจึงอาจเป็นเหตุผลที่คนเลิกดู LINE TV ไปในที่สุด
GET
ถึงแพลตฟอร์มสั่งอาหารจะได้รับความนิยมในไทยและในยุคที่อยากกินอะไรก็แค่กดสั่ง ประเดี๋ยวเดียวก็จะมีไรเดอร์มาส่งให้ แต่ใช่ว่าทุกแบรนด์จะอยู่ได้ในสังเวียนเดลิเวอรีนี้ อย่างเช่น GET (เก็ท) แพลตฟอร์มสั่งอาหารรวมถึงรับส่งด้วยจักรยานยนต์ ที่เข้ามาในไทยไม่นานก็มีอันต้องปิดฉากลงเมื่อไตรมาส 3 ของปี 2563 ที่ผ่านมา
ในการปิดตัว GET เนื่องด้วยการควบรวมแบรนด์ GET เข้ากับ Gojek (โกเจ็ก) จากประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะผู้ร่วมทุนตั้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งการควบรวมก็เพื่อให้บริการในแบรนด์ใหม่ที่มีตลาดใหญ่คืออาเซียน แต่กลับไปได้ดีในประเทศอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และเวียดนามเท่านั้น
Gojek
เป็นอีกแพลตฟอร์มที่แม้จะสู้สุดใจในประเทศไทยแล้ว แต่ก็ต้องโบกมือลาไป หลังจากที่ Gojek ควบรวมกับ GET แล้ว ไปจนถึงวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 ที่ Gojek ถูกซื้อกิจการในไทยโดย AirAsia Group กลุ่มธุรกิจสายการบินราคาประหยัดสัญชาติมาเลเซีย
หลังจากนั้นได้มีประกาศอย่างเป็นทางการว่า Gojek จะยุติการให้บริการในวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 แล้วส่งไม้ต่อไปยัง AirAsia Super App นั่นคืออวสานของ Gojek ในประเทศไทยโดยสมบูรณ์
Telegram
นี่คือหนึ่งในแอปพลิเคชันการแชทสัญชาติรัสเซียที่เปิดให้ใช้ฟรี100 เปอร์เซ็นต์ ที่มีจำนวนผู้ใช้พุ่งสูงมากในช่วงปี 2563 ด้วยความน่าสนใจของแพลตฟอร์มนี้คือมีฟีเจอร์สำหรับการแชทครบถ้วนทั้งส่งข้อความแบบเดี่ยว แบบกลุ่ม ส่งรูปภาพ ส่งวิดีโอ ส่งไฟล์ อัดเสียง ส่งสติกเกอร์ โทร หรือวิดีโอคอลได้
ไปจนถึงฟีเจอร์ขั้นแอดวานซ์ อาทิ Secret Chats สนทนาในแบบเข้ารหัสปลายทาง ตั้งเวลาลบข้อความได้, ใช้งานได้หลายอุปกรณ์พร้อมกัน (ยกเว้น Secret Chats จะได้เพียงเครื่องต่อเครื่อง), ส่งข้อความแบบตั้งเวลา ส่งข้อความเมื่ออีกฝ่ายออนไลน์ ส่งข้อความแบบไม่ต้องแจ้งเตือน, สติ๊กเกอร์ฟรีทั้งหมดทั้งแบบนิ่งและเคลื่อนไหว และสร้างสติ๊กเกอร์เองได้, สร้างกลุ่มที่มีแอดมินได้ สมาชิกสูงสุดได้ 200,000 คน และซ่อนแอดมินเป็นแบบไม่ระบุตัวตนได้, สร้างชาแนลสำหรับส่งข้อความหาผู้รับพร้อมกันได้ไม่จำกัดสมาชิก, ส่งพิกัดแบบเรียลไทม์ได้, ส่งวิดีโอคลิปสั้นๆ ได้เหมือนอัดเสียง เป็นต้น
นอกจากนี้ยังเป็นแอพที่ฮอตฮิตในหมู่ผู้ชุมนุมประท้วงด้วยในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยด้วย เพราะฟีเจอร์อย่างการซ่อนแอดมินกลุ่มเป็นแบบไม่ระบุตัวตน
แต่จุดแข็งก็อาจเป็นดาบสองคม ที่ทำให้ผู้ใช้งานทั่วไปค่อยๆ ละทิ้ง Telegram ไปทีละนิดๆ จนกระทั่งกลายเป็นช่วงขาลงของ Telegram ในประเทศไทย รวมไปถึงกระแสของการเมืองในประเทศไทยที่ไม่ร้อนแรงตลอดปีที่ผ่านมานี้ หลายคนเลือกที่จะรับสารผ่านทวิตเตอร์หรือแพลตฟอร์มอื่นๆ ก็เพียงพอแล้ว