'ดีอีเอส' เปิด 8 ยุทธศาสตร์ปลุก ‘ดิจิทัลไอดี’
ดีอีเอส-เอ็ตด้าจับมือรัฐ เอกชน เดินหน้ายุทธศาสตร์ “ดิจิทัล ไอดี ไทย ตั้งเป้าหมายคนไทยต้องเข้าถึงหลายบริการทั้งของภาครัฐและเอกชนได้อย่างไร้รอยต่อ ด้วย ดิจิทัลไอดีบัญชีเดียวแค่ลงทะเบียนพิสูจน์ตัวตนครั้งเดียวก็ใช้งานได้
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ดิจิทัล ไอดี (Digital ID) หรือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป เพราะทุกกิจกรรมการทำธุรกรรมออนไลน์ในชีวิตประจำวัน ต่างมีกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้อง ดิจิทัล ไอดี ถือเป็น ไอดี หรือ Identity ที่จะช่วยบอกได้ว่า “เราเป็นใคร” ไม่ต่างจากการมี “บัตรประจำตัวประชาชน” บนโลกออฟไลน์
ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการเร่งขับเคลื่อนให้ประเทศเกิดการพัฒนาและใช้งาน ดิจิทัลไอดี มาต่อเนื่อง ตลอดจนหลักเกณฑ์การดูแลผู้ให้บริการการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ที่จะบัญญัติไว้ใน (ร่าง) พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่ต้องได้รับใบอนุญาต พ.ศ. ....
โดยล่าสุดนายกรัฐมนตรีนำร่าง พ.ร.ฎ.ขึ้นทูลเกล้าฯ แล้ว รวมถึงการจัดทำมาตรฐานทางด้านเทคนิคหรือแนวทางการพัฒนาและใช้งานระบบดิจิทัลไอดีของประเทศ เพื่อให้การใช้งานมีมาตรฐานระดับสากล
ปัจจุบัน กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ร่วมมือกับกระทรวง กรม รวมถึงหน่วยงานราชการและองค์กรภาคเอกชนหลายหน่วยงาน จัดทำ “กรอบการขับเคลื่อนการให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลประเทศไทย ระยะที่ 1 พ.ศ. 2565 - พ.ศ. 2567” หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “Digital ID Framework” ขึ้น เพื่อเป็นกรอบแนวทางของประเทศในการบูรณาการความร่วมมือขับเคลื่อนงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
โดยมีหน่วยงานที่อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนภายใต้ เฟรมเวิร์คนี้ ได้แก่ กรมการปกครอง, กรมสรรพากร, สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน), สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, สำนักงาน กสทช., บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด และเอ็ตด้า (ETDA)
ทั้งนี้ เป้าหมายของ ดิจิทัล ไอดี เฟรมเวิร์ค คือ ผลักดันให้บริการ ดิจิทัล ไอดี ไปถึงมือประชาชน เข้าถึงบริการออนไลน์ของภาครัฐและเอกชนได้ โดยไม่ต้องลงทะเบียนซ้ำซ้อน มีบริการที่ประชาชนเข้าใช้งานด้วยดิจิทัลไอดี ได้จริง
สำหรับ ดิจิทัล ไอดี เฟรมเวิร์ค ระยะที่ 1 นี้ มีทั้งหมด 8 กลยุทธ์ ได้แก่ 1.มีดิจิทัลไอดีที่ครอบคลุม คนไทย นิติบุคคล และคนต่างชาติ ทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ 2.ประชาชนใช้ดิจิทัลไอดีเข้าถึงบริการออนไลน์ได้ 3.กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลักให้ข้อมูลและบริการ หนุนการพิสูจน์ตัวตนคนไทยและคนต่างชาติที่มีถิ่นที่อยู่ในไทย 4.ใช้ดิจิทัล ไอดีทำธุรกรรมของนิติบุคคล เป็นการใช้ดิจิทัลไอดีบุคคลธรรมดาของผู้มีอำนาจของนิติบุคคลนั้น ร่วมกับการมอบอำนาจ หากจำเป็น 5.กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นหน่วยงานหลักที่ให้ข้อมูลนิติบุคคล หนุนทำธุรกรรมของนิติบุคคลด้วยดิจิทัลไอดี
6.ประชาชน เข้าถึงบริการออนไลน์ของรัฐได้ด้วยดิจิทัล ไอดีที่น่าเชื่อถือ ไม่ต้องพิสูจน์ตัวตนซ้ำซ้อน 7.เอ็ตด้าขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัล ไอดีในภาพรวม พร้อมพัฒนามาตรฐานกลางที่หน่วยงานกำกับแต่ละเซ็กเตอร์นำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม และ 8. ดีจีเอ (DGA) พัฒนามาตรฐานบริการดิจิทัลไอดีของรัฐให้มีมาตรฐานเชื่อมระหว่างรัฐและเอกชนได้
ขณะที่ สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการทำงานร่วมกันของผู้เล่นแต่ละส่วนใน ดิจิทัล ไอดี อีโคซิสเต็ม มี 3 แนวทาง ประกอบด้วย 1.ความปลอดภัย 2. ราคาเหมาะสมทุกคนใช้งานได้ และ 3.ใช้ได้อย่างกว้างขวาง