‘ยิบอินซอย’ แนะกลยุทธ์รับมือ 'มิติใหม่เทคโนโลยี' หลังยุคโควิด
2-3 ปีที่ผ่านมา ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนเกี่ยวข้องไปกับเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก และต้องยอมรับว่าวิกฤติโควิดทำให้การปรับตัวทางธุรกิจและการเข้าถึงเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ เพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์....
นครินทร์ เทียนประทีป ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ยิบอินซอย จำกัด เปิดมุมมองว่า เกือบสามปีของการรับมือการแพร่ระบาด องค์กรหลายแห่งได้เปลี่ยนผ่านตัวเองสู่ระบบดิจิทัลอย่างรวดเร็วเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด แต่หลังจากนี้จะยิ่งเห็นการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลยิ่งๆ ขึ้นไปอีก
โดย เทคโนโลยีเช่น คลาวด์ เอไอ ไอโอที วีอาร์ เออาร์ บล็อกเชน หรือเน็ตเวิร์กที่แรงและเร็วระดับซูเปอร์ฟาสต์ อย่าง 5จี จะมีบทบาทสำคัญมากต่อการยกเครื่องสู่การเป็น “องค์กรอัจฉริยะ (Intelligent Enterprise)”
โดยมี “ข้อมูล” เป็นทรัพยากรสำคัญในการปรับปรุงประสิทธิภาพองค์กรด้านการบริหารจัดการและกระบวนการทำงานแบบไร้รอยต่อและเป็นอัตโนมัติมากขึ้น
‘ธุรกิจ-ความท้าทาย’ หลังยุคโควิด
นครินทร์เผยว่า การสร้างพื้นที่การทำงานแบบอัตโนมัติบนโลกออนไลน์ (Workplace Automaton) ทำให้คนยุคหลังโควิดต้องทำงานกับอุปกรณ์ที่ชาญฉลาดกระทั่งหุ่นยนต์อัตโนมัติมากขึ้น
สำหรับปัญหาที่องค์กรจะต้องรับมือ คือ ช่องว่างด้านทักษะไอทีระหว่างบุคลากรรุ่นเก่าและใหม่ (Talent Challenge) เช่น ทักษะด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล เอไอ เป็นต้น
ดังนั้น การส่งเสริมวัฒนธรรมที่ยืดหยุ่นต่อการทำงานแบบไฮบริด จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่องค์กรต้องเร่งสร้างและพัฒนาคนให้พร้อมต่อการทำงานร่วมกับเทคโนโลยีที่หลากหลายมากขึ้น ตลอดจนสร้างโอกาสการเรียนรู้และการเติบโตเพื่อดึงคนที่มีศักยภาพเหล่านี้ให้อยู่กับองค์กรไปนานๆ
ต่อไป ประสบการณ์ของลูกค้า จะกลายเป็นหัวข้อสำคัญที่ถูกหยิบขึ้นมาพูดถึงในปี 2566 มากขึ้น และด้วยนัยยะที่กว้างกว่าการจูงใจด้วย “ราคาสินค้า” แต่หมายถึงประสบการณ์ระหว่างทางที่ทำให้ลูกค้า “เพลิดเพลิน” กับสินค้าและบริการของตั้งแต่เริ่มการสืบค้น จับจ่าย ไปจนจบขั้นตอนชำระเงิน
ที่ขาดไม่ได้ การวางหลักการ ESG (Environment Social and Governance) ที่มีหัวใจอยู่ที่ “ความยั่งยืน” ภายใต้ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ซึ่งเติมเต็มเรื่องความถูกต้อง โปร่งใส และตรวจสอบได้ จะเป็นสิ่งที่สังคมเริ่มถามหา
ขณะที่ ความเชื่อมั่นและความปลอดภัยในการทำธุรกรรม การจัดการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลต่างๆ และการยืนยันความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Ownership) จะทำให้ บล็อคเชน และ เว็บ 3.0 ทวีความสำคัญมากขึ้น
ส่วน เทคโนโลยี 5จี จะไม่ได้จำกัดแค่การสร้างประสบการณ์การเชื่อมต่อที่เร็วขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่ต้องรองรับไอโอทีต่างๆ ที่มาเชื่อมต่อได้มากขึ้นด้วย
4 เป้าหมายสู่องค์กรยุคดิจิทัล
ปี 2566 การ์ทเนอร์ได้สรุป 4 เป้าหมาย รวมถึงกลยุทธ์เด่นๆ ด้านเทคโนโลยี เพื่อนำพาองค์กรธุกิจสู่ความสำเร็จยุคดิจิทัลตลอด 3 ปีข้างหน้า ได้แก่
การเพิ่มประสิทธิผลให้กับการดำเนินธุรกิจ (Optimize) : ผ่าน 3 เทคโนโลยีหลัก ได้แก่ Digital Immune System การสร้างภูมิคุ้มกันด้านดิจิทัล ด้วยคุณสมบัติของระบบไอทีที่สามารถย่อขยายได้ (Scalable) มีความปลอดภัยสูง (Secure) และมีเสถียรภาพ (Stable), Applied Observability ซอฟต์แวร์ในการตรวจสอบติดตามปัญหา โดยใช้ข้อมูลร่วมกับเครื่องมือวิเคราะห์เพื่อการตัดสินใจ และ AI TRISM ในการจัดการความปลอดภัย ลดความเสี่ยง เพิ่มความเชื่อมั่นเรื่องการปกป้องข้อมูลและความเป็นส่วนตัว รวมถึงประเด็นด้านจริยธรรมต่าง ๆ
การสร้างความยืดหยุ่น ย่อ-ขยายระบบงานได้ทันความต้องการ (Scale) : ด้วย Industry Cloud Platforms แพลตฟอร์มคลาวด์เพื่ออุตสาหกรรม, Platform Engineering การพัฒนาแพลตฟอร์มด้านวิศวกรรม และ Wireless-Value Realization การตระหนักเรื่องเทคโนโลยีไร้สาย
การบุกเบิกแนวทางการทำธุรกิจ เพิ่มการเข้าถึงลูกค้าและสร้างตลาดการค้าใหม่ๆ (Pioneer) : ผ่าน Superapps Adaptive AI และ เมตาเวิร์ส เพื่อการผสมผสานเทคโนโลยีที่หลากหลายในการสร้างโลกความจริงเสมือนเพื่อส่งต่อผลิตภัณฑ์และบริการที่ตื่นตาและโดนใจลูกค้าได้ยิ่งกว่าเดิม
ส่วนเป้าหมายสุดท้าย คือ นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจและโลก : ผ่าน Sustainability Technology เพื่อให้เกิดการใช้งานเทคโนโลยีหรือบริการไอทีที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การปรับปรุงวัฒนธรรมการทำงาน ตอบโจทย์ทั้งมิติเชิงสังคมและบรรษัทภิบาลไปพร้อมกัน