สงครามและความไม่แน่นอน

สงครามและความไม่แน่นอน

เงินเฟ้อทั่วโลกลามมาถึงเอเชียซึ่งหนีไม่พ้นประเทศไทยที่ต้องเจอกับภาวะราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ถึงปี 2023 จะเป็นปีที่เต็มไปด้วยความหวัง ด้วยความรู้สึกผ่อนคลายในหลาย ๆ เรื่องจนดูเหมือนว่าจะเป็นปีที่สดใสกว่า 3 ปีที่ผ่านมาที่เราต้องห่อตัวให้เล็กที่สุดเพื่อให้ผ่านวิกฤติการณ์จากการระบาดของโรคโควิด-19 ให้ได้ แต่เอาเข้าจริง ๆ ปีนี้อาจจะเป็นปีที่เราต้องเผชิญกับความผันผวนทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 15 ปีเลยก็ว่าได้

 

เพราะนับตั้งแต่วิกฤติซับไพรม์เมื่อปี 2008 ที่เปรียบเสมือนสึนามิถล่มเศรษฐกิจการเงินของหลาย ๆ ประเทศ ก็แทบจะไม่มีวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ใด ๆ เกิดขึ้นในโลกอีกเลย ถึงจะมีความขัดแย้งระหว่างประเทศเกิดขึ้น จนก่อให้เกิดการรบพุ่งกันบ้าง แต่ก็จำกัดความเสียหายอยู่ไม่กี่ประเทศ การกีดกันทางการค้าก็ยังไม่รุนแรงและไม่มีการตอบโต้กันอย่างดุเดือดเหมือนในปัจจุบัน

ปัญหาใหญ่ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกติดหล่มประการแรกคือสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งความพินาศไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะประเทศคู่สงครามแต่บานปลายไปยังสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศยุโรป ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ผันผวนจนกดดันให้ธนาคารกลางของสหรัฐฯ ปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งประวัติศาสตร์ 

ผลที่เกิดขึ้นคือเงินเฟ้อทั่วโลกและลามมาถึงเอเชียซึ่งหนีไม่พ้นประเทศไทยบ้านเราที่ตอนนี้ต้องเจอกับภาวะราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เศรษฐกิจกลับไม่เติบโตเท่าที่ควรเพราะเงินลงทุนไหลกลับไปสู่สหรัฐฯ​ ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงผิดธรรมชาติ 

จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครตอบได้ว่าทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ​โดยจะปรับตัวสูงขึ้นไปถึงเท่าไร และจะต่อเนื่องไปอีกนานแค่ไหน เพราะนี่คือต้นเหตุสำคัญของภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก แต่ถึงจะหยุดการขึ้นดอกเบี้ยได้แล้วก็ยังไม่ใช่ทางออกแต่อย่างใดเพราะอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันนี้ก็ถือว่าสูงเกินความเป็นจริงไปมาก

ที่สำคัญในแง่อุตสาหกรรมนั้นทั้งรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบในการผลิตให้กับหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสารอาหารสำหรับพืช อาหาร พลังงาน ฯลฯ จนกลายเป็นแหล่งซัพพลายสินค้ารายใหญ่ การคว่ำบาตรประเทศคู่สงครามในครั้งนี้จึงไม่ได้ส่งผลโดยตรงกับทั้งสองประเทศนี้มากนัก 

แต่ผู้ได้รับผลประทบมากที่สุดก็คือประชาชนชาวยุโรป ที่นอกจากต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและเงินเฟ้อแล้ว หลายประเทศก็ถูกบีบให้ต้องเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหม เพื่อรับมือกับปัญหาความมั่นคงอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน

ข่าวล่าสุดก็จะเห็นการจัดซื้อเครื่องบินรบล่องหน F35 ของประเทศเยอรมันนี เช่นเดียวกับอีกหลาย ๆ ประเทศที่หันมาเพิ่มงบประมาณด้านอาวุธสงครามกันยกใหญ่ โดยเฉพาะประเทศที่ดำเนินนโยบายด้านการทหารตามสหรัฐฯ เช่นญี่ปุ่น ไต้หวัน ซึ่งล้วนต้องรับมือกับการแผ่ขยายอิทธิพลของจีน

โดยเฉพาะญี่ปุ่นนั้นเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมในปีนี้ถึงเกือบ 30 ล้านล้านบาท ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งงบประมาณในด้านนี้ของญี่ปุ่นจำกัดอยู่ที่อัตราส่วนประมาณ 1% ของจีดีพีมาหลายสิบปี แต่งบประมาณล่าสุดของนายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ จะปรับเพิ่มสูงขึ้นเป็น 2% ภายในปี 2570

การเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่หากทำในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น แต่สำหรับภาวะปัจจุบันการเพิ่มงบประมาณเพื่อการทหารในยามที่เศรษฐกิจซบเซาย่อมถูกต่อต้านจากประชาชนซึ่งมองไม่เห็นความจำเป็นต้องสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์ในช่วงนี้ การสอบถามชาวญี่ปุ่นก็ได้คำตอบว่า 87% ไม่พอใจ การชี้แจงว่าทำไมรัฐบาลต้องขึ้นภาษีเพื่อรองรับงบประมาณด้านกลาโหมในครั้งนี้

เมื่อแต่ละประเทศแข่งขันกันสะสมอาวุธเช่นนี้ ก็สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งที่พร้อมจะปะทุขึ้นมาในวันใดวันหนึ่ง จึงเป็นความไม่แน่นอนที่เราอาจต้องพบเจอได้ในอนาคต