สดช.-ดีอีเอสปัดฝุ่น “ศูนย์ดิจิทัลชุมชน” วงเงิน5พันล.
ดีอีเอสเตรียมเซ็นสัญญาปั้นศูนย์ดิจิทัลชุมชนกลางก.พ.นี้ เงื่อนไขสร้างเสร็จภายใน 90 วัน พร้อมเปิดรายชื่อ 4 บริษัท ผู้ให้บริการศูนย์ฯ 1,722 แห่ง วงเงินกว่า 5,100 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี ชูแนวคิดสร้างความเท่าเทียม ต่อยอดประชาชนพื้นที่ห่างไกลสมาร์ทขึ้น
นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สดช. และ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส เปิดเผยว่า ขณะนี้ โครงการศูนย์ดิจิทัลชุมชน จำนวน 1,722 แห่ง วงเงิน 5,100 ล้านบาทได้ผู้ชนะครบ 4 บริษัทแล้ว โดยขั้นตอนต่อไปจะเตรียมลงนามสัญญากลางเดือน ก.พ.2566 จากนั้นต้องสร้างศูนย์ดิจิทัลชุมชนให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน โดยพื้นที่ตั้งมาจากการคัดเลือกของกระทรวงดีอีเอส เน้นพื้นที่ห่างไกลเหมือนเดิม
สำหรับอุปกรณ์หลักที่ได้รับการสนับสนุนตามโครงการเพื่อการเรียนรู้ด้านดิจิทัลในแต่ละกลุ่ม เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมระบบปฏิบัติการและโปรแกรมจัดการสำนักงาน เครื่องพิมพ์แบบ Multifunction สำหรับพิมพ์ ถ่ายเอกสาร สแกน แฟกซ์เอกสาร กล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) โทรทัศน์ Smart TV กระดานอัจฉริยะ (สมาร์ทบอร์ด) เครื่องมัลติมีเดียโปรเจคเตอร์ เครื่องขยายเสียงพร้อมลำโพงแบบเคลื่อนที่ ชุดสตูดิโอถ่ายภาพ ชุดโต๊ะประชุม บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
ทั้งนี้ ศูนย์ดิจิทัลชุมชน ได้จัดตั้งขึ้นตามนโยบายและแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งได้รับงบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง อุปกรณ์ดิจิทัล บุคลากรสนับสนุน และส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในระดับท้องถิ่น เพื่อลดช่องว่างทางด้านดิจิทัลให้กับชุมชน ให้สามารถใช้ประโยชน์ในด้านการศึกษา และด้านอาชีพ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
ที่สำคัญคือให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต ลดช่องว่างในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมชนบท ในกลุ่มคนทุกกลุ่มที่อยู่ในท้องถิ่น เช่น ผู้ประกอบการชุมชน วิสาหกิจชุมชน เด็กและเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ผู้สูงอายุ คนพิการ เป็นต้น นอกจากนี้ ศูนย์ดิจิทัลชุมชนยังทำหน้าที่ในการเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงข่าวสาร บริการดิจิทัล ให้กลุ่มเป้าหมายในระดับชุมชนได้รับการพัฒนาทักษะทางด้านดิจิทัล พร้อมที่จะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสนับสนุนคุณภาพชีวิต ต่อยอดสู่การสร้างโอกาสและรายได้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับฐานรากในอนาคต
นายภุชพงค์ ระบุว่า ที่เราเลือกให้รูปแบบของศูนย์ดิจิทัลชุมชนเป็นแบบเช่านั้นเพื่อต้องการให้ศูนย์มีผู้ดูแล ไม่ถูกปล่อยร้างเหมือนที่ผ่านมา เพราะไม่มีงบประมาณ ไม่มีผู้ดูแล บริษัทที่ชนะการประมูลจะต้องดูแลศูนย์ทั้งเรื่องการบำรุงรักษา การหาผู้ดูแลศูนย์ประจำมีเงินเดือนและต้องเป็นผู้นำในการเชิญชาวบ้านมาใช้งาน มีหลักสูตรให้ความรู้ และช่วยให้ชาวบ้านใช้ดิจิทัลให้เกิดรายได้
ดังนั้นศูนย์ฯนี้จะมีสตูดิโอสำหรับถ่ายสินค้าและสอนลงเว็บเพื่อขายออนไลน์อีกทางหนึ่งด้วย ส่วนหลังจากครบสัญญา 5 ปีแล้ว ทรัพย์สินที่บริษัทให้เช่า ก็อาจจะทำเป็นโครงการซีเอสอาร์บริจาคให้ชุมชนใช้งานต่อไปได้