Facebook เข้มมาตรการ ‘เลือกตั้ง’ เน้นโปร่งใส สกัดการแทรกแซง
ช่วงของการเลือกตั้ง โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ มีความสำคัญอย่างมากต่อการส่งต่อข้อมูลข่าวสารสู่ประชาชน...
Meta เปิดความคืบหน้าการดำเนินงานเพื่อรักษาความปลอดภัยให้แก่ชุมชนในประเทศไทย พร้อมแนวทางการปกป้องการแทรกแซงและส่งเสริมความโปร่งใสในการนำเสนอข้อมูลและข่าวสาร เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พ.ค. 2566 นี้
แคลร์ อมาดอร์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำประเทศไทยและฟิลิปปินส์ Meta กล่าวว่า เพื่อจัดการกับภัยคุกคามที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการเลือกตั้งและเนื้อหาที่เป็นอันตราย เช่น ข้อมูลเท็จที่เป็นอันตราย ซึ่งรวมถึงการสกัดกั้นผู้ใช้สิทธิ์ Meta ได้ใช้เทคโนโลยีเอไอที่เข้าใจภาษาท้องถิ่นเพื่อตรวจจับและกำจัดการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง (hate speech) ในเชิงรุก
รวมถึงการกลั่นแกล้ง (bullying) การล่วงละเมิด (harassment) และเนื้อหาที่ละเมิดนโยบายความรุนแรงและการยั่วยุในมาตรฐานชุมชนของ Meta ซึ่งถูกบังคับใช้ในชุมชนระดับโลกของ Meta ทั้งหมด พร้อมกับการดำเนินงานของผู้ตรวจสอบดูแลเนื้อหาที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหาต่างๆ บนแพลตฟอร์มเป็นภาษาไทย
นอกจากนี้ นโยบายเพื่อป้องกันการแทรกแซงผู้ใช้สิทธิ์ของ Meta ยังไม่อนุญาตให้เผยแพร่เนื้อหาที่เป็นอันตรายหลายประเภทที่ส่งเสริมให้เกิดการแทรกแซงหรือสกัดกั้นการลงคะแนนเสียง เช่น การบิดเบือนความจริงเกี่ยวกับวันที่ สถานที่ เวลา และวิธีการในการลงคะแนนเสียงหรือการลงทะเบียนเลือกตั้ง หรือข้อเสนอในการซื้อขายเสียงด้วยเงินสดหรือของกำนัลต่าง
ตั้ง ‘ทีมเฉพาะกิจ’ ช่วยคัดกรอง
Meta ได้จัดเตรียมทีมงานเพื่อดำเนินการด้านการเลือกตั้งโดยเฉพาะ ประกอบด้วยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญที่มีเข้าใจและคุ้นเคยกับบริบทในระดับท้องถิ่นของประเทศไทยอย่างลึกซึ้ง โดยจะทำหน้าที่ตรวจสอบและจัดการกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้แบบเรียลไทม์ อีกทั้งยังประกอบด้วยพนักงานชาวไทยที่พูดภาษาไทยอีกด้วย
นอกจากนี้ จัดตั้งทีมงานเฉพาะเพื่อตรวจสอบและยับยั้งความพยายามในการเข้าถึงผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มโดยมีวัตถุประสงค์ที่ไม่โปร่งใส ทั้งยังได้ใช้เทคโนโลยีตรวจจับเพื่อตรวจหาและหยุดความพยายามในการสร้างบัญชีปลอมนับล้านบัญชี
“เราจะเน้นการดำเนินงานเชิงรุก ซึ่งรวมถึง การจัดตั้งทีมงานเชิงปฏิบัติการด้านการเลือกตั้ง การพัฒนานโยบายที่แข็งแกร่งมากขึ้นเพื่อจัดการกับเนื้อหาและเครือข่ายที่อันตราย การต่อสู้กับข้อมูลเท็จ การเพิ่มความโปร่งใสในการเผยแพร่โฆษณาที่เกี่ยวกับการเมือง และการดำเนินโครงการที่มุ่งเสริมสร้างทักษะความเข้าใจและการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลและโครงการเพื่อส่งเสริมบทบาทพลเมือง”
บ่อยครั้งบริษัทสามารถตรวจเจอและลบบัญชีปลอมภายในเวลาไม่กี่นาที หลังจากที่บัญชีเหล่านั้นถูกสร้างขึ้นมาทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี พ2565 มีบัญชีปลอมจำนวนกว่า 1.3 พันล้านบัญชีที่ถูกลบออกไปจากแพลตฟอร์ม
ให้โฆษณาได้ แต่ต้องมีที่มา
แคลร์บอกว่า การเลือกตั้งทั่วโลกได้เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต และในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Meta ก็ได้พัฒนาแพลตฟอร์มและเครื่องมือต่างๆ ที่จะเพิ่มความโปร่งใสที่มากขึ้นในการโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง การเมือง และประเด็นสังคม
ปัจจุบัน ผู้โฆษณาจะต้องผ่านขั้นตอนการขออนุญาตที่ต้องยืนยันตนเองด้วยบัตรประชาชนพร้อมรูปภาพที่ออกบัตรโดยรัฐบาล และระบุข้อความ “ได้รับสปอนเซอร์จาก” บนโฆษณาของพวกเขา เพื่อให้ผู้คนในประเทศไทยรับรู้ว่าใครเป็นผู้สนับสนุนโฆษณาดังกล่าว
นอกจากนี้ คนไทยยังสามารถค้นหาโฆษณาที่ถูกดำเนินการอยู่บนเฟซบุ๊ค ได้จาก “คลังโฆษณา (Ad Library)” ที่ให้บริการแก่บุคคลทั่วไป เพื่อตรวจสอบว่าโฆษณาถูกโพสต์ลงเมื่อใด ในแพลตฟอร์มใด และใครเป็นคนสปอนเซอร์โฆษณานั้นๆ
รวมถึงฟีเจอร์เกี่ยวกับบัญชีนี้ (About This Account) บนอินสตาแกรมที่จะช่วยให้บริบทข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถประเมินความน่าเชื่อถือของบัญชีผู้ใช้ได้ดีขึ้น
บริษัททำงานกับเครือข่ายระดับโลกที่ประกอบด้วยองค์กรผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอิสระจำนวนกว่า 90 ราย เพื่อตรวจสอบเนื้อหากว่า 60 ภาษารวมถึงภาษาไทย